วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 23 (การผลิตเบียร์)

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 23 (การผลิตเบียร์)



การผลิตเบียร์
          เบียร์ถือว่าเป็นเครื่องดื่มน้ำเมาชนิดหนึ่งที่ต่างจากเหล้าหรือสุรา เพราะว่าเบียร์เกิดจากการหมักส่า วิธีการหมักจะคล้ายกับกะแช่ของไทยที่ทำจากน้ำตาลสด หรืออุที่ใช้การหมักข้าวเหนียวกล้อง ส่วนเบียร์ใช้การหมักข้าวบาร์เลย์ (Barley) โดยเริ่มต้นจากการเพาะเมล็ดข้าวบาร์เลย์จนเริ่มงอก เกิดเอนไซม์ เปลี่ยนแปลงเป็นน้ำตาลเรียกว่าเป็นข้าวมอลต์ (Malt) แล้วจึงนำไปต้มด้วยความร้อนต่ำกับน้ำที่ปรับสภาพจนได้ที่แป้งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอีกขั้นหนึ่ง จากนั้นส่วนผสมที่ต้มแล้วจะถูกส่งผ่านเข้าเครื่องกรองเพื่อแยกกากข้าวมอลต์ออก เหลือส่วนที่เป็นของเหลวที่มีน้ำตาลข้าวมอลต์ละลายอยู่ เรียกว่า เวิร์ท (Wort) ซึ่งจะถูกส่งเข้าหม้อต้มแล้วจึงเติมฮ็อพ (Hop) ซึ่งเป็นดอกของพืชล้มลุก ที่ทำให้เบียร์มีรสขมกลมกล่อมปลูกกันแพร่หลายมากในทวีปยุโรป 


นิยามของเบียร์ 
          เบียร์ จัดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ เรียกว่า สุราแช่ หมายถึง มีแอลกอฮอล์เป็น ส่วนผสมโดยที่แอลกอฮอล์นั้นได้มาจากการหมัก บ่ม มิใช่โดยการกลั่น เบียร์ต่างจากไวน์ตรงที่การหมัก เบียร์เกิดจากการหมักน้ำตาลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงแป้งของเมล็ดธัญพืช หรือ ธัญชาติประเภทข้าวมอลต์ ส่วนไวน์จะเป็นการหมักน้ำตาลที่ได้จากผลองุ่น ที่เรียกว่า ไวน์องุ่นหรือการหมักน้ำตาลที่ได้จากน้ำผลไม้ ที่เรียกว่า ไวน์ผลไม้ ส่วนสุราประเภทเหล้า วิสกี้ บรั่นดีนั้นจะต้องนำแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักน้ำตาลจากเมล็ดธัญชาติ หรือผลองุ่น หรือผลไม้อื่นมาทำการกลั่นแยกเอาแอลกอฮอล์ออกมาอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียกสุราประเภทนี้ว่า สุรากลั่น ดังนั้นเบียร์จึงเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับไวน์ และเหล้าวิสกี้ หรือบรั่นดี 

องค์ประกอบของเบียร์ 
    เบียร์จะประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีปริมาณมากกว่า ๙๐เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะเป็นแอลกอฮอล์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำตาล ที่เหลือจากการหมักซึ่งเป็นพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และเกลือแร่ต่างๆ 

การจำแนกชนิดของเบียร์ 
เบียร์ดำ (Drak beer)
           เบียร์จำแนกออกได้หลายชนิดตามลักษณะการหมัก คือ จำแนกตามชนิดของเชื้อยีสต์ที่ใช้ในการหมัก ซึ่งแบ่งออกเป็น การหมักโดยใช้ยีสต์ที่ลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำเบียร์เมื่อเสร็จสิ้นการหมัก เรียกยีสต์ชนิดนี้ว่า ท็อปยีสต์ (Top yeast) เบียร์ที่ได้จากการหมักโดยใช้ยีสต์ประเภทนี้เป็นพวกวีทเบียร์ (Wheat beer) ไวท์เบียร์ (White beer) อัลท์เบียร์ (Alt beer)เคิลช์ (Koelsch) เอล (Ale) พอร์ทเทอร์ (Porter) และสเตาท์ (Stout)
           การหมักเบียร์โดยใช้ยีสต์ที่จมลงสู่ก้นถังหมักเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการหมัก เรียกยีสต์ ชนิดนี้ว่า บ็อททอมยีสต์ (Bottom yeast) เบียร์ที่ได้จากการหมักโดยใช้ยีสต์ประเภทนี้ เป็นพวกลาเกอร์เบียร์ (Lager beer) พิลเซ่นเบียร์ (Pilsen beer) เบียร์ดำ (dark beer) บ๊อคเบียร์ (Bock beer) ไอซ์เบียร์ (Ice beer) เบียร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ (Alcohol free beer) ไดเอ็ทเบียร์ (Diet beer)
           นอกจากนี้ ยังจำแนกตามสีและรสชาติของเบียร์ เช่น เบียร์ดำ ซึ่งทำมาจาก มอลต์ดำ หรือ คาราเมลมอลต์ ซึ่งทำให้เบียร์มีสีดำที่เรียกกันว่า เบียร์ดำ (Dark beer) เช่น เบียร์สเตาท์ และมีรสชาติ ตลอดจนกลิ่นหอมของน้ำตาลไหม้ บางชนิดมีรสชาติเฉพาะตัว เช่น วีทเบียร์ ซึ่งจะมีกลิ่นหอมของข้าวสาลี และมีคาร์บอนไดออกไซด์สูง บางครั้งแยกตามความหวานของน้ำตาลเมื่อเริ่มต้นการหมัก เช่น ลาเกอร์เบียร์ โดยทั่วไปจะมีน้ำตาลเริ่มต้นประมาณ ๑๑ เปอร์เซ็นต์ พิลเซ่นเบียร์ มีน้ำตาลเริ่มต้นประมาณ ๑๒ เปอร์เซ็นต์ พวกเบียร์ที่มีปริมาณ แอลกอฮอล์สูงๆ เช่น บ๊อคเบียร์ หรือสตรองเบียร์ (Strong beer) จะมีน้ำตาลเริ่มต้นประมาณ ๑๓-๑๖ เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

ประวัติการผลิตเบียร์
 
          ในเรื่องประวัติความเป็นมาของเบียร์นั้นพบว่า มีการผลิตเบียร์เป็นเครื่องดื่มมาเป็นเวลานานเกือบ ๕,๐๐๐ ปีแล้ว โดยมีการค้นพบบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแคว้นเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ราว ๒,๘๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชที่พูดถึงการแบ่งปันเบียร์และขนมปังให้กับผู้ใช้แรงงานในสมัยนั้น การทำเบียร์และบริโภคในสมัยนั้นพบว่า ใกล้เคียงกับข้อบัญญัติที่บังคับใช้ในสมัยของกษัตริย์ฮัมมูราบี (Hammurabi, ๑๗๒๘ ถึง ๑๖๘๖ ก่อนคริสต์ศักราช) แห่งแคว้นบาบิโลเนีย (Babylonia)
           สมัยอียิปต์โบราณก็พบว่า มีการผลิตเบียร์และนิยมดื่มเบียร์กันอย่างกว้างขวาง โดยการพบหลักฐานที่เป็นภาพเขียนและภาพสลักเกี่ยวกับเรื่องราวของการผลิตเบียร์บนแผ่นหิน เบียร์ของอียิปต์ผลิตขึ้นโดยเอาขนมปังที่ทำจากแป้งข้าวบาร์เลย์ที่เอาเมล็ดข้าวบาร์เลย์มาเพาะให้รากงอก แล้วเอามาป่นหยาบๆ ผสมกับน้ำปั้นเป็นก้อนต่อจากนั้นจึงเอาไปปิ้งไม่ต้องให้สุกดีแล้วเอาไปแช่น้ำหมักทิ้งค้างคืนไว้ ขนมปังจะเริ่มบูดโดยเชื้อยีสต์ในอากาศและเกิดแอลกอฮอล์ขึ้น เมื่อเอาไปกรองจะได้น้ำเบียร์สีขาวมีฟองรสเปรี้ยวใช้เป็นเครื่องดื่ม บางครั้งอาจมีการเติมสมุนไพรลงไปเพื่อทำให้มีกลิ่นหอม
           ในดินแดนของชาวอินเดียนแดง ทวีปอเมริกาใต้ ก่อนที่ชาวฝรั่งผิวขาวจะยึดครอง พบว่า ชาวอินเดียนแดงรู้จักผลิตสุราโดยใช้แป้งข้าวโพดมาทำเป็นส่าหมัก
           ในทวีปยุโรป เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันในชนชาติเยอรมัน ซึ่งในสมัยก่อนจะผลิตกันภายในครอบครัวเหมือนการเตรียมอาหารประจำวันโดยสตรีจะมีหน้าที่ผลิตด้วยวิธีการง่ายๆ ต่อมาการผลิตเบียร์ได้กระจายเข้าไปมีบทบาทในศาสนาคริสต์ โดยมีการผลิตในปริมาณมากขึ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้มาร่วมงานทางศาสนา
           ชาวเยอรมันในสมัยโบราณรู้จักผลิตเบียร์ขึ้นก่อนประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป และตั้งชื่อของสุราประเภทที่ผลิตด้วยแป้งจากข้าวบารเลย์ที่เพาะให้รากงอกแล้วนำมาคั่ว บด ต้ม และนำไปหมักว่า บิเออร์ (Bior) เครื่องดื่มบิเออร์นี้มีรสเปรี้ยวอมหวานและใช้บริโภคเป็นอาหารประจำวันหลักฐานทางโบราณคดียังพบว่า เมื่อนำกากแห้งที่ติดอยู่ในภาชนะดินเผาซึ่งขุดพบในซากเมืองโบราณมาวิเคราะห์จะพบว่า มีเบียร์ดีกรีสูงที่ผลิตจากข้าวสาลีผสมน้ำผึ้ง เบียร์ชนิดนี้ เรียกว่า อโล (Alo) ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาเป็น เอล (Ale) ในยุคต่อมา
           ในสมัยก่อนมีการนำพืชชนิดต่างๆ ที่มีกลิ่นหอม เช่น เครื่องเทศ และดอกไม้แห้งมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วใส่ลงไปเพื่อให้เบียร์มีกลิ่นหอม ต่อมาในศตวรรษที่ ๑๔ มีการนำดอกฮ็อพมาใช้เป็นส่วนผสมสำคัญของการทำเบียร์เพื่อให้มีกลิ่นหอมดังกล่าว รสและกลิ่นหอมของดอกฮ็อพเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค จึงนิยมกันอย่าง
           แพร่หลายมาก จนดอกฮ็อพกลายเป็นของมีค่ามีราคาสูง และนิยมปลูกกันมาก
           ในศตวรรษที่ ๑๕ พบว่า วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตเบียร์มีปริมาณน้อยลง เนื่องจากผลกระทบจากสภาพธรรมชาติทำให้เก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์และฮ็อพได้น้อย จึงมีการนำพืชชนิดอื่น มาใช้แทนฮ็อพ ขณะเดียวกันก็มีการนำธัญชาติอื่นที่ใช้สำหรับทำขนมปังมาใช้แทนข้าวบาร์เลย์ ดังนั้น ในปี ค.ศ. ๑๕๑๖ จึงมีการตั้งกฎแห่งความบริสุทธิ์ (Purity law) ในประเทศเยอรมนี เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์ต้องใช้เฉพาะข้าวมอลต์ ฮ็อพ และน้ำ เท่านั้นสำหรับการผลิตเบียร์เหตุผลก็คือ ต้องการให้ผู้บริโภคได้รับความยุติธรรมในเรื่องของราคาและคุณภาพเมื่อใช้วัตถุดิบที่เหมือนกัน และยังใช้กฎนี้มาจนทุกวันนี้กฎดังกล่าวมิได้กำหนดบังคับใช้ในประเทศอื่น ดังนั้นจึงมีการนำเอาข้าวเจ้า ข้าวโพด มัน หรือน้ำตาลมาใช้เป็นส่วนผสมปนกับข้าวมอลต์ในการผลิตเบียร์ 


ประวัติการผลิตเบียร์ในประเทศไทย 
           ส่วนประวัติของอุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศไทยนั้นได้เริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระปรีชาญาณในด้านเศรษฐกิจ พาณิชยกรรมและธุรกิจเป็นอย่างสูง ทรงปรารถนาที่จะให้คนไทยดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน จึงทรงดำเนินนโยบายมุ่งส่งเสริมคนไทยให้ได้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่สำคัญต่างๆ
           ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งมีพระยาโกมารกุลมนตรี เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอยู่ในขณะนั้น พร้อมทั้งทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยเห็นว่า เบียร์เป็นสินค้าที่ชาวต่างประเทศได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศสยามนานแล้ว ทำให้มีเงินออกนอกประเทศมาก ถ้าสามารถผลิตขึ้นได้เองก็จะป้องกันเงินออกนอกประเทศ และประหยัด รวมทั้งได้ประโยชน์ที่จะสามารถขายได้ราคาถูกกว่า สามารถใช้ปลายข้าวแทนข้าวมอลต์ ทำให้กรรมกรไทยมีงานทำ
           ความคิดที่จะผลิตเบียร์ขึ้นเองของพระยาภิรมย์ภักดีนั้น เนื่องมาจากพระยาภิรมย์ภักดี  มีกิจการเดินเรือเมล์ระหว่างตลาดพลูกับท่าเรือราชวงศ์โดยใช้ชื่อว่า บริษัทบางหลวง จำกัด ต่อมารัฐบาลได้เริ่มสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและตัดถนนเชื่อมตลาดพลูและประตูน้ำภาษีเจริญซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่พระยาภิรมย์ภักดีมีกิจการเดินเรืออยู่ ทำให้ไม่สามารถเดินเรือได้จึงต้องหาหนทางขยับขยายกิจการเดินเรือไปทำกิจการค้าอย่างอื่นเพื่อรองรับ เมื่อศึกษาเห็นว่าเบียร์สามารถผลิตในประเทศเขตร้อนได้ จึงได้เริ่มโครงการที่จะตั้งโรงงานผลิตเบียร์ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อยื่นเรื่องขออนุญาตต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแล้ว ทำให้มีการพิจารณากันอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้มาก่อน โดยเฉพาะในเรื่องการพิจารณาภาษีเบียร์ ซึ่งครั้งแรกกำหนดให้เสียภาษีลิตรละ ๖๓ สตางค์ ระหว่างที่รอการอนุญาตจากทางรัฐบาล พระยาภิรมย์ภักดีได้เดินทางไปเมืองไซ่ง่อน ประเทศอินโดจีน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อศึกษาแบบแปลนเครื่องจักรตลอดจนวิธีผลิตเบียร์ หลังจากรัฐบาลพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์และการเก็บภาษีเบียร์ผ่านไปประมาณ ๑ ปี จึงได้อนุญาตให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ได้ แต่ห้ามการผูกขาด และให้คิดภาษีเบียร์ในปีแรกลิตรละ ๑ สตางค์ ปีที่สองลิตรละ ๓ สตางค์ปีที่สามลิตรละ ๕ สตางค์ ส่วนปีต่อๆ ไปจะพิจารณาตามที่เห็นสมควร
           ต่อมาประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ กระทรวงมุรธาธร โดยพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลละอองธุลีพระบาท ความว่า ได้รับรายงานจากกรมสรรพสามิตว่า นายลักกับนายเปกคัง ยี่ห้อทีเคียวได้ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ขึ้นจำหน่ายในพระราชอาณาเขต โดยรับรองว่า จะผลิตเบียร์ชนิดที่ทำด้วยฮ็อพและมอลต์ชนิดเดียวกับเบียร์ต่างประเทศ โดยจะผลิตประมาณ ๑๐,๐๐๐ เฮกโตลิตรต่อปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชกระแสว่า"เป็นเรื่องแย่งกับพระยาภิรมย์ และถ้าให้ทำก็คงทำสำเร็จก่อนพระยาภิรมย์ภักดี เพราะฉะนั้นคนที่เริ่มคิดก่อนและเป็นพ่อค้าไทยกลับจะต้องฉิบหายและทำไม่สำเร็จ"ทรงเห็นว่าไม่ควรอนุญาต "พระยา-ภิรมย์ขอทำก่อน ได้อนุญาตไปแล้ว เวลานี้ยังไม่ควรอนุญาตให้ใครทำอีกเพราะจะมีผล ๒ อย่างคือ ๑. คนไทยกินเบียร์กันท้องแตกตายหมดเพราะจะแย่งกันขายลดราคาแข่งกัน ๒. คงมีใครฉิบหายคนหนึ่ง ถ้าหากไม่ฉิบหายกันหลายคน" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตร-สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้กราบบังคมทูลสนับสนุนว่า"ไม่ควรอนุญาตให้ผลิตในเวลานี้ ควรรอดูว่า พระยาภิรมย์จะทำสำเร็จหรือไม่ และคอยสังเกตเรื่องการบริโภคก่อน นอกจากนั้นผู้ขออนุญาตรายนี้เป็นคนต่างด้าวจึงสามารถที่จะอ้างได้ว่า ต้องอุดหนุนคนไทยและอุตสาหกรรมที่มีทุนไทยก่อน" ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังตอบว่า"ยังไม่ให้อนุญาต รัฐบาลได้อนุญาตไปรายหนึ่งแล้วต้องรอดูก่อนว่าจะได้ผลอย่างไร เพราะเรื่องนี้สำคัญสำหรับความสุขของราษฎร และฝ่ายพระยาภิรมย์จะใช้ข้าว และผลพลอยได้ (Byproduct) ของข้าวด้วยฝ่ายรายที่ขออนุญาตใหม่ไม่ใช้ข้าวเลย"
 
          มีข้อที่น่าสังเกตที่พระยาวิษณุบันทึกไว้ว่า
           ๑. ที่จะอนุญาตให้พระยาภิรมย์นั้น ดูมีพระราชประสงค์จะอุดหนุนการตั้งโรงงานของไทย
           ๒. อัตราภาษี รายพระยาภิรมย์นั้นเป็นทำนองรัฐบาลให้เป็นพิเศษแก่พระยาภิรมย์ผู้เริ่มคิด ให้ได้ตั้งต้นได้โดยใช้อัตราทั่วไป
           ๓. รายใหม่นี้ในเงื่อนไขไม่ได้กำหนดภาษีลงไป แต่คลังรายงานเป็นทำนองว่า จะเก็บภาษีอัตราเดียวกับที่จะเก็บจากพระยาภิรมย์
      ๔. แม้ตกลงไม่ให้โมโนโปลี (Monopoly) แก่พระาภิรมย์ภักดีก็เคยมีพระราชดำริอยู่ว่า ชั้นนี้ควรอนุญาตให้พระยาภิรมย์ทำคนเดียวก่อน ถ้าให้หลายคนก็เป็น อิคอนอมิก ซูอิไซด์ (Economic suicide)
 
          จึงนับได้ว่า กรณีการส่งเสริมการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ เป็นพระบรมราชโองการส่งเสริมการลงทุนฉบับแรกของเมืองไทย ก่อนที่จะมีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรม ใน พ.ศ. ๒๕๐๑
           เมื่อได้รับอนุญาตจากทางรัฐบาลให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์แล้ว  พระยาภิรมย์ภักดีจึงเดินทางไปยุโรปเพื่อซื้อเครื่องจักรในการผลิตเบียร์แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทางรัฐบาลไทยไม่ยอมให้เสียภาษีตามพิกัดเดิมที่ตกลงกันไว้กับรัฐบาลเก่า แต่ได้ตกลงกันให้เสียภาษีในอัตราลิตรละ ๑๐ สตางค์ เมื่อประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากนั้นจึงได้สร้างโรงงานขึ้นบริเวณที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางกระบือ โดยขอเช่าจากเจ้าพระยารามราฆพ ต่อมาจึงได้ขอซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ ขณะทำการก่อสร้างนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเสด็จฯ
           มาชมการก่อสร้างโรงงานถึงสองครั้ง พระยาภิรมย์ภักดีตั้งใจว่า จะตั้งชื่อบริษัทขณะที่จัดรูปแบบของบริษัทอยู่นั้นว่าบริษัทเบียร์สยาม แต่ถูกทักท้วงว่า ในบ้านเมืองนี้อะไรก็ชื่อสยามทั้งนั้นจึงตัดสินใจเอาชื่อของตนเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัทโดยให้ชื่อว่าบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เบียร์ไทยที่ผลิตออกมาครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๗นั้นได้นำไปทดลองดื่มกันในงานสโมสรคณะราษฎร์เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา-นริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงเปิดป้ายบริษัทเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เบียร์รุ่นแรกที่ผลิตออกมาและวางจำหน่ายในราคาขวดละ ๓๒ สตางค์นั้นมีเครื่องหมายการค้าอยู่หลายตรา คือ ตราหมี ตราสิงห์แดง ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ทองตราว่าวปักเป้า ตรากุญแจตรารถไฟ และตราสิงห์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นตราอะไรก็ตาม ชาวบ้านสมัยนั้นมักจะเรียกรวมกันไปว่า "เบียร์เจ้าคุณ"
ส่วนผสม 
          ส่วนผสม ในการทำเบียร์นั้นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้คือ
          - ข้าวมอลต์ (Malt)
          - น้ำ  
          - ดอกฮ็อพ (Hop)
          - ยีสต์ (Yeast) 

ข้าวมอลต์ 
          ข้าวมอลต์ ได้มาจากข้าวบาร์เลย์ ซึ่งเป็นธัญพืชที่นิยมปลูกในประเทศที่มีภูมิอากาศเย็นจะมีการปลูกกันมากในประเทศทางทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย อังกฤษ ไอร์แลนด์ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนิยมปลูกในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประเทศทางทวีปเอเชียก็มีการปลูกกันมากในประเทศจีน ส่วนประเทศไทยมีการนำสายพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ เข้ามาปลูกในแถบภาคเหนือ ซึ่งมีภูมิอากาศเย็น มีการส่งเสริมการปลูกข้าวบาร์เลย์ แต่ยังมีปริมาณไม่มากและไม่แพร่หลายเหมือนในประเทศอื่นๆ ที่กล่าวข้างต้น ข้าวบาร์เลย์ที่เก็บเกี่ยวแล้ว จะนำไปเปลี่ยนสภาพให้เป็นข้าวมอลต์ในโรงงานทำมอลต์ที่เรียกว่า มอลต์เทอรี่ (Maltery) ส่วนผู้ที่มีหน้าที่ในการทำข้าวบาร์เลย์เป็นข้าวมอลต์ เรียกว่า มอลต์สเตอร์ (Maltster) ในขั้นตอนแรกจะนำข้าวบาร์เลย์ไปแช่น้ำที่อุณหภูมิประมาณ ๔๕ องศาเซลเซียส เพื่อให้เมล็ดได้รับความชื้นพร้อมกับได้รับออกซิเจน ซึ่งจะทำให้เซลล์ (Cells)ของเมล็ดได้รับการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการงอกของรากอ่อนและใบอ่อน ต่อจากนั้นจึงถ่ายน้ำออกแล้วนำเมล็ดข้าวบาร์เลย์ไปผึ่งบนตะแกรงซึ่งมีการเป่าลมที่มีความเย็นประมาณ ๑๘ องศาเซลเซียส ไปที่เมล็ดข้าว ในช่วงนี้รากอ่อนและใบอ่อนจะงอกจากเมล็ด ทิ้งไว้ให้มีการงอกของรากอ่อนยาวประมาณ ๒ ใน ๓ ถึง ๓ ใน ๔ ของเมล็ด แล้วจึงนำเมล็ดข้าวไปอบให้แห้งอย่างช้าๆ ที่อุณหภูมิประมาณ ๕ องศาเซลเซียส การอบจึงจะแล้วเสร็จ ข้าวที่อบเสร็จแล้วนี้เรียกว่า ข้าวมอลต์ ซึ่งจะนำไปขัดเอารากอ่อนและใบอ่อนออก การอบให้แห้งนั้น อุณหภูมิของการอบจะเป็นตัวชี้ว่า ข้าวมอลต์ที่อบแล้วจะเป็นข้าวมอลต์ประเภทใด เช่น ถ้าอบที่อุณหภูมิ ๑๒๐ องศาเซลเซียส จะทำให้เปลือกข้าวและเมล็ดเป็นสีดำจึงเรียกข้าวมอลต์ชนิดนี้ว่า มอลต์ดำ (black malt) หรือ คาราเมลมอลต์ (caramel malt) เป็นต้น 

น้ำ 
          น้ำ เป็นวัตถุดิบที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากเบียร์มีส่วนประกอบที่เป็นน้ำมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ คุณภาพของน้ำที่ใช้สำหรับการผลิตเบียร์ขึ้นอยู่กับลักษณะของเบียร์ที่จะผลิต ความอ่อน ความกระด้างของน้ำ จะมีผลต่อรสชาติของเบียร์ หรือมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เป็นต้นว่า สารที่ให้ความขมที่มีอยู่ในดอกฮ็อพ จะให้ความขมแก่เบียร์ได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความกระด้างและค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ 


ดอกฮ็อพ 
          ดอกฮ็อพ เป็นพืชล้มลุกประเภทไม้เลื้อยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Humulus lupulus นิยมปลูกกันมากในประเทศแถบยุโรป เช่น ประเทศเยอรมนี อังกฤษ สาธารณรัฐเชค นอกจากนี้มีในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ ในแถบเอเชียจะมีการปลูกฮ็อพในประเทศจีนและญี่ปุ่น
 
          การใช้ฮ็อพในการผลิตเบียร์นั้น มีจุดประสงค์อยู่ด้วยกัน ๓ อย่าง คือ
           ๑. เพื่อให้ได้รสขม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเครื่องดื่มประเภทเบียร์ที่โคนกลีบดอกของดอกฮ็อพจะมีอับละอองเรณู ลักษณะสีเหลืองใสๆ ติดอยู่ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีจะสามารถให้ความขมออกมาได้
           ๒. เพื่อช่วยให้โปรตีนตกตะกอนเร็วขึ้น ในกลีบดอกของดอกฮ็อพจะมีสารที่เรียกว่าโพลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาจับตัวกับโปรตีน  ซึ่งมีอยู่ในเวิร์ท ทำให้โปรตีนตกตะกอนเร็วขึ้นและทำให้เบียร์ใส
           ๓. เพื่อช่วยให้เบียร์มีกลิ่นหอม บริเวณอับละอองเรณูของดอกฮ็อพจะมีสารเหนียวๆ และให้กลิ่นหอมอยู่ด้วย เป็นพวกน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) ซึ่งจะให้กลิ่นหอมที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวแก่เบียร์
 
          ชนิดของดอกฮ็อพที่นิยมปลูกกันนั้นแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดที่ให้รสขม (Bitter hops) และชนิดที่ให้กลิ่นหอม (Aroma hops) ฮ็อพที่ดีและมีชื่อเสียงมากเป็นฮ็อพที่ให้กลิ่นหอมชื่อ ซาซ (Saaz) มีถิ่นที่มาจากประเทศสาธารณรัฐเชค ในสมัยก่อนจะใส่ฮ็อพทั้งดอกลงไปในการทำเบียร์ปัจจุบันมีการอัดให้เป็นเม็ดเล็กๆ หรือสกัดเอาความขมและน้ำมันหอมระเหยออกมาใช้เพื่อสะดวกในการขนส่ง 

ยีสต์ 
          ยีสต์ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ส่า จัดเป็นจุลินทรีย์ประเภทรา  ที่สามารถใช้น้ำตาลจากมอลต์เป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและเพิ่มประชากร การใช้น้ำตาลเป็นอาหารของยีสต์ทำให้เกิดการเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นแอลกอฮอล์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเรียกว่า การหมัก ขณะเดียวกันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย
           ยีสต์ที่ใช้เป็นส่าสำหรับหมักเบียร์นั้น แบ่งออกได้ ๒ ชนิดคือ ยีสต์ชนิดลอย หรือ ท็อป ยีสต์ และยีสต์ชนิดจม หรือ บ็อททอมยีสต์ 

กรรมวิธีการผลิต 
          กรรมวิธีการผลิต  การผลิตเบียร์เริ่มจากการนำข้าวมอลต์มาบดให้เมล็ดแตก พร้อมทั้งใส่น้ำผสมลงไปในถังผสมถังผสมต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตเบียร์ในสมัยก่อนนั้น นิยมทำด้วยทองแดง เนื่องจากทองแดงเป็นวัสดุที่สามารถนำมาดัดเพื่อให้ได้รูปทรงที่สวยงามต่างๆ ได้ง่าย ตัวทองแดงเองนอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังเป็นตัวนำความร้อนที่ดี ทำให้ความร้อนสามารถผ่านไปที่ของผสมในถังผสมได้เร็วขึ้น ปัจจุบันทองแดงมีราคาแพงขึ้นมาก หาวัสดุได้น้อยลงและจะต้องเสียเวลาบำรุงรักษามากจึงมีการคิดค้นนำวัสดุสแตนเลสมาทำเป็นถังผสมสำหรับผสมข้าวและต้มเบียร์ ซึ่งนอกจากราคาจะถูกกว่าทองแดงแล้ว ยังสามารถทำความสะอาดด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งประหยัด ปลอดภัย และไม่เสียเวลาในการดูแลรักษามากนัก 
          เมื่อผสมข้าวและน้ำลงไปในถังผสมแล้วจึงให้ความร้อนที่เหมาะสม เพื่อให้เอนไซม์ที่มีอยู่ในข้าวมอลต์ เปลี่ยนแป้งไปเป็นน้ำตาลมอลโตส (Maltose) หลังจากนั้นจึงแยกเอาของเหลวออกจากกากข้าว ของเหลวดังกล่าวเรียกว่า เวิร์ท (Wort) ซึ่งจะมีความหวานของน้ำตาลมอลโตสอยู่จากนั้นจึงต้มเวิร์ทให้เดือดพร้อมทั้งใส่ดอกฮ็อพเมื่อต้มเวิร์ทจนได้ที่แล้วจะปล่อยให้ตกตะกอนก่อน หลังจากนั้นจึงทำให้เย็นลงพร้อมทั้งใส่ยีสต์และเติมลมเพื่อการเจริญของยีสต์ แล้วนำไปหมักในถังหมัก อุณหภูมิของการหมักขึ้นอยู่กับชนิดของเบียร์และชนิดของยีสต์ที่ใช้ โดยทั่วไป ถ้าใช้ท็อปยีสต์จะหมักที่ประมาณ ๒๐-๒๒ องศา เซลเซียส ถ้าใช้บ็อททอมยีสต์ จะหมักที่ประมาณ ๘-๑๓ องศาเซลเซียส การหมักจะใช้เวลาประมาณ ๕ วัน สำหรับท็อปยีสต์ ส่วนบ็อททอมยีสต์ใช้เวลา ๗-๑๐ วัน
           หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการหมักแล้วจึงแยกยีสต์ออก เบียร์ที่ได้ในช่วงนี้เรียกว่า กรีนเบียร์ (Green beer) หรือ ยังเบียร์ (Youngbeer) ซึ่งจะต้องนำไปเก็บบ่มต่อไปอีกระยะหนึ่งโดยการควบคุมความเย็นและแรงดันภายในถังบ่มเพื่อให้เบียร์ใสขึ้นและมีรสชาติที่กลมกล่อมหลังจากนั้นนำไปกรองเพื่อแยกเอาตะกอนแขวนลอยและยีสต์ที่ตกค้างออก จึงจะได้เบียร์ที่ใสพร้อมดื่ม เบียร์ที่กรองพร้อมดื่มแล้วนี้เรียกกันว่า ดราฟท์เบียร์ (Draught beer) หรือที่บ้านเรานิยมเรียกว่า เบียร์สด ซึ่งในสมัยก่อนจะมีการบรรจุลงถังไม้ (Barrel) ต่อมามีการนำถังที่เป็นวัสดุอะลูมิเนียมมาแทนถังไม้ เนื่องจากไม้มีน้ำหนักมาก ยากต่อการดูแลรักษาไม่ให้มีการตกกระแทก และผุเปื่อยไปตามเวลา แต่ก็พบว่าผิวของอะลูมิเนียมเมื่อสัมผัสกับเบียร์ซึ่งมีสภาพเป็นกรดเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการกัดกร่อนเป็นรูพรุน จึงมีการคิดค้นเอาวัสดุสแตนเลส มาทำเป็นถังสำหรับใส่เบียร์สดแทน โดยเรียกถังชนิดนี้ว่า เค้ก (Keg) ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งเคลื่อนย้ายและบำรุงรักษา ตลอดจนการล้างทำความสะอาด แสงสว่างซึ่งมีอัลตราไวโอเลต (UV)สามารถทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับเบียร์ได้ มีผลทำให้สีของเบียร์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการบรรจุเบียร์ลงในภาชนะที่เป็นขวด จึงนิยมใช้ขวดที่มีสี เช่น สีน้ำตาล หรือสีเขียว ซึ่งจะช่วยป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตผ่านได้
           เบียร์บางชนิดไม่นิยมกรองให้ใส แต่จะนิยมดื่มโดยยังมียีสต์ปนอยู่ด้วย เช่น วีทเบียร์ นิยมดื่มกันมากในรัฐบาวาเรีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี

คุณค่าของเบียร์ 
          เบียรเป็นเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งมาจากวัตถุดิบทั้งหลายที่มาจากธรรมชาติ จึงทำให้เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ทางด้านโภชนาการ นอกจากจะช่วยดับกระหายแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ปริมาณแอลกอฮอล์และคาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่ในเบียร์จะให้พลังงานต่อร่างกายการดื่มเบียร์ ๑ ลิตร จะได้รับพลังงานประมาณ ๔๔๐ กิโลแคลอรี่ แอลกอฮอล์ยังช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในเบียร์ยังช่วยกระตุ้นน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารทำให้ช่วยย่อยอาหารได้ดี ส่วนประกอบจากดอกฮ็อพและเกลือโพแทสเซียมยังช่วยในการขับถ่ายปัสสาวะและชะล้างไต เบียร์ยังช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียดทางประสาท ทำให้เกิดการตื่นตัว ในเบียร์ยังประกอบด้วยวิตามินที่มีคุณค่าหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินบี ๑ และวิตามินบี ๒ นอกจากนั้นเบียร์ยังมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย รวมทั้งเกลือแร่ต่างๆ เช่น แคลเซียมซึ่งช่วยป้องกันโรคหัวใจ แมกนีเซียมซึ่งจะช่วยควบคุมระดับคอเลสเทอรอล และเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ฟอสเฟต ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก ฟัน และเป็นตัวช่วยสะสมพลังงาน นอกจากเกลือแร่ ดังกล่าวแล้ว ยังมีพวกโซเดียมซัลเฟต โซเดียมคลอไรด์ และโซเดียมไนเทรต เป็นต้น
          นับว่าเบียรเป็นเครื่องดื่มที่มีมานานแล้ว และมีการศึกษาค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์อย่างสม่ำเสมอ จนทำให้การดื่มเบียร์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและรู้จักกันไปทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมเบียร์ขยายใหญ่ขึ้น จากทวีปยุโรปเข้าไปในทวีปอเมริกา และแพร่หลายเข้ามาในทวีปเอเชีย ในประเทศไทยก็เช่นกัน อุตสาหกรรมเบียร์มีการขยายตัวอย่างมากในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา เมื่อศึกษารายได้ประชากรในระยะเวลาดังกล่าว พบว่าประชากรมีรายได้สูงขึ้น ทำให้มีการดื่มเบียร์เพิ่มขึ้น การขยายตัวของอุตสาหกรรมเบียร์จึงใช้บอกถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นยังส่งผลให้เกิดการขยายตัวในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมขวด อุตสาหกรรมกระป๋องและอุตสาหกรรมกล่องกระดาษอีกด้วย

ที่มา : http://guru.sanook.com/encyclopedia/การผลิตเบียร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น