วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30 (ไม้ดอกไม้ประดับ)


สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30 (ไม้ดอกไม้ประดับ)


ไม้ดอกไม้ประดับ

        นับตั้งแต่  พ.ศ.  ๒๕๓๐ เป็นต้นมา ประชาชนชาวไทยได้ตื่นตัวและให้ความสนใจในความสวยงามของไม้ดอกไม้ประดับกันมาก ทั้งนี้เพราะรัฐบาลได้จัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ในระหว่างเดือนธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๓๐ ทุกหน่วยงานของกระทรวง ทบวง กรม  ตลอดจนห้างร้าน บริษัทเอกชนทั่วประเทศ ได้พร้อมใจกันตกแต่งประดับประดาสถานที่ด้วยไม้ดอกไม้ประดับ พร้อมทั้งตั้งโต๊ะหมู่บูชาสักการะด้วยเครื่องหอม ธูปแพเทียนแพ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ ทำให้วงการไม้ดอกไม้ประดับคึกคัก และก่อให้เกิดรายได้แก่เกษตรกรอย่างมาก

          สถานที่ที่ตื่นตาตื่นใจที่สุดน่าจะได้แก่  สวนหลวง ร.๙ สวนสาธารณะแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมูลนิธิสวนหลวง ร.๙  โดยความร่วมมือของกรุงเทพมหานครและประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นราชสักการะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ มีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้เถา รวมทั้งตกแต่งบริเวณสวน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๕๐๐  ไร่ จัดแบ่งเป็น ๖ บริเวณ คือ บริเวณเฉลิมพระเกียรติ  สวนพฤกษศาสตร์ ตระพังแก้วเก็บน้ำ สวนรมณีย์ สวนน้ำ และสนามราษฎร์ ในบริเวณสวนรมณีย์มีการปลูกไม้ดอกล้มลุกนานาชนิดจำนวนหลายหมื่นต้นอย่างประณีตบรรจงยิ่ง และใช้วิธีการที่ทำให้ไม้ดอกทุกชนิดจำนวนดังกล่าวนั้นออกดอกพร้อมเพรียงกันทุกต้น ในวันที่  ๑  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๓๐ ตามที่ได้กำหนดไว้ ที่โดดเด่นและมีความหมายที่สุดคือ สีเหลืองทองของดอกดาวเรือง (เป็นพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ส่งเสริม) และเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนอกจากนั้นทุกมุมเมืองของกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และถนนราชดำเนินซึ่งกองสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร ได้นำต้นดาวเรืองนับแสนกระถางมาวางตกแต่งไว้บนเกาะกลางถนนและรอบๆ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมทั้งประดับประดาด้วยไฟราวสีต่างๆดูระยิบระยับตระการตายิ่ง 

          ประชาชนที่ได้มีโอกาสเข้าชมพรรณไม้งามในทุกๆ บริเวณของสวนหลวง ร.๙ ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่างก็ยังติดตาตรึงใจในภาพอันงดงามวิจิตรตระการตาของไม้ดอกไม้ประดับนานาชนิดเหล่านั้น และปรารถนาจะได้พบเห็นภาพอันสวยงามเช่นนั้นตลอดไป หลายๆ คนได้แวะเวียนไปชมมากกว่า ๑  ครั้ง แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อไม่ได้พบกับความงามดังที่เคยเห็น ทั้งนี้เพราะไม้ดอกดังกล่าว โดยเฉพาะไม้ดอกล้มลุกได้ทยอยกันเหี่ยวแห้ง  ร่วงโรย และตายไปในที่สุด คงเหลือไว้เฉพาะไม้เถา ไม้พุ่ม และไม้ใหญ่ยืนต้นหรือไม้ต้น แต่เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ในเวลาต่อมาคณะกรรมการมูลนิธิสวนหลวง ร.๙  ได้ดำเนินการจัดงาน พรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร. ๙  ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกๆ  ปีอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสชื่นชมความงามของไม้ดอกไม้ประดับได้ยาวนานมากขึ้น



ความหมายของไม้ดอกไม้ประดับ 

          ไม้ดอกไม้ประดับ หมายถึง ไม้ดอกที่นำมาใช้ในการประดับตกแต่งสวน  หรือสถานที่ต่างๆ โดยไม้ดอก (Flowering  plant)  หมายถึง  พรรณไม้ที่ออกดอกมีสีสันสวยงาม  หรือมีกลิ่นหอม  อาจจำแนกไม้ดอกออกได้เป็น ๒ วิธี  คือ วิธีแรกเป็นการจำแนกตามลักษณะของพรรณไม้  และวิธีที่ ๒ เป็นการจำแนกตามประโยชน์ใช้สอย

การจำแนกประเภท

การจำแนกตามลักษณะของพรรณไม้ 
          
แบ่งออกเป็น ไม้ดอกที่เป็นไม้ล้มลุก ไม้ดอกที่เป็นไม้พุ่ม ไม้ดอกที่เป็นไม้เถาหรือไม้เลื้อย ไม้ดอกที่เป็นไม้ต้นหรือไม้ใหญ่ยืนต้น 

          ๑) ไม้ดอกที่เป็นไม้ล้มลุก (Flowering  herb)
           หมายถึง ไม้ดอกประเภทที่มีวงจรชีวิตสั้น ส่วนใหญ่เมื่อเกิดมาแล้วจะเจริญเติบโตให้ดอกจนครบวงจรชีวิต แล้วตายภายในฤดูเดียวหรือปีเดียว จัดเป็นไม้ดอกฤดูเดียว เป็นไม้ดอกที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับมากที่สุด เพราะปลูกและตกแต่งได้ง่าย มีการเจริญเติบโตเร็ว นอกจากไม้ดอกล้มลุกที่มีอายุปีเดียวแล้ว มีไม้ดอกล้มลุกบางชนิดที่มีอายุมากกว่า  ๑  ปี ซึ่งจัดเป็นไม้ดอกล้มลุกสองฤดู หรือไม้ดอกล้มลุกหลายฤดู  

          ไม้ดอกล้มลุกที่เป็นไม้ดอกฤดูเดียวจะมีอายุสั้นมาก นับจากวันที่เริ่มเพาะเมล็ด จนถึงออกดอกใช้เวลาเพียง  ๖๐ - ๑๒๐  วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ดอก จากนั้นจะออกดอกสวยงามอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง คือประมาณ ๓๐ - ๖๐ วัน แล้วก็เริ่มเหี่ยวร่วงโรยไป โดยมีเมล็ดเกิดขึ้นภายในดอกซึ่งเมื่อเมล็ดแก่จัด ก็สามารถนำไปปลูกให้เป็นไม้ดอกรุ่นใหม่ได้

          ส่วนไม้ดอกที่มีอายุอยู่ได้นานหลายปี เช่น เวอร์บีนา แพรเซี่ยงไฮ้ ผกากรอง สร้อยทอง พยับหมอก บานเช้า บานบุรี     กระดุมทอง แพงพวย ไม่จำเป็นต้องปลูกต้นใหม่ทดแทน เพียงแต่ตัดแต่งกิ่งที่แห้งเหี่ยว กิ่งแก่ และกิ่งที่เป็นโรคออก พร้อมทั้งตัดแต่งต้นให้สั้นลง ตลอดจนปรับปรุงดินใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม เพื่อให้ต้นเก่าแตกกิ่งก้าน และออกดอกชุดใหม่ที่สวยงามต่อไป การตัดแต่งกิ่งแต่งต้นนี้จะกระทำต่อเนื่องไปจนกว่าต้นจะทรุดโทรม และแก่ตายไปในที่สุด

          ๒) ไม้ดอกที่เป็นไม้พุ่ม  (Flowering shrub) 
           หมายถึง ไม้ดอกที่มีเนื้อไม้แข็ง ลำต้นตั้งตรงเป็นอิสระได้โดยไม่ต้องอาศัยต้นไม้หรือวัสดุอื่นยึดเหนี่ยวพาดพิง มีอายุอยู่ได้นานหลายปี  มีความสูงไม่มากนัก และมีการแตกกิ่งก้านไม่สูงจากพื้นดิน เช่น เข็ม พุดลำโพง คริสต์มาส ชบา ชวนชม ดอนญ่า พยับหมอก ราชาวดี และยี่เข่ง

          ๓) ไม้ดอกที่เป็นไม้เถา หรือไม้เลื้อย (Flowering  climber) 
           หมายถึง ไม้ดอกที่ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องอาศัยยึดเหนี่ยวพาดพิงต้นไม้หรือวัสดุอื่นในการทรงตัว หากไม่มีสิ่งใดให้พาดพิง ก็จะเลื้อยไปตามพื้นดิน เช่น เล็บมือนาง กระเทียมเถา ชำมะนาด อัญชัน กุมาริกา ถ้ามีอายุอยู่ได้หลายปี เราเรียกไม้ดอกดังกล่าวนี้ว่า ไม้เถายืนต้น แต่ถ้าเป็นไม้เถาที่มีอายุสั้น มีลักษณะล้มลุก เช่น รกฟ้า ผักบุ้งฝรั่ง เรียกว่า  ไม้เถาล้มลุก 

          ๔) ไม้ดอกที่เป็นไม้ต้นหรือไม้ใหญ่ยืนต้น  (Flowering  tree) 
           หมายถึง ไม้ดอกที่มีเนื้อไม้แข็ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นใหญ่กว่าไม้พุ่มและมีความสูงเกิน ๖ เมตร สามารถทรงตัวอยู่ได้ด้วยตนเอง มีอายุอยู่ได้นานปี เช่น เสลา ตะแบก อินทนิล นนทรี  พิกุล ฝ้ายคำ  ทองกวาว จามจุรี  ประดู่ ประดู่แดง ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ แคแสด รัตมา แคฝรั่ง โสกอินเดีย ปีบ เหลืองอินเดีย และหางนกยูงฝรั่ง




การจำแนกตามประโยชน์ใช้สอย 
           เนื่องจากไม้ดอกมีอยู่มากมายหลายพันชนิด แต่ละชนิดมีประโยชน์ใช้สอยต่างกัน เพื่อความสะดวก และความคุ้มค่าในการนำไปตกแต่ง จึงมีการจำแนกประเภทไม้ดอกตามประโยชน์ใช้สอยดังนี้

          ๑)  ไม้ตัดดอก  (Cut  flower  plant) 
           หมายถึง ไม้ดอกที่ปลูก ณ สถานที่ที่มีภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม เช่น สายลม  แสงแดด  อุณหภูมิ  ดิน น้ำ  ความชื้นสัมพัทธ์  การคมนาคม  และระยะทางที่เหมาะสม เพื่อตัดเฉพาะส่วนดอกหรือช่อดอกไปใช้ประโยชน์ หรือจำหน่าย  เช่น  แกลดิโอลัส เบญจมาศ เยอร์บีรา หน้าวัว กุหลาบ ดาวเรือง คาร์เนชัน และบัวหลวง ไม้ดอกดังกล่าวนี้ จะถูกตัดออกจากต้นไปใช้ประโยชน์พร้อมทั้งก้านดอกด้วย ทั้งนี้เพราะก้านดอกเป็นแหล่งสะสมอาหาร เมื่อดอกถูกตัดจากต้นเพื่อนำไปปักแจกัน  หรือจัดกระเช้า อาหารที่เก็บสะสมไว้ที่ก้านดอกจะถูกนำมาใช้ ช่วยให้ดอกไม้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ดังนั้นคุณลักษณะสำคัญของไม้ตัดดอก นอกจากดอกจะต้องสวยสดแล้ว ก้านดอกก็ต้องใหญ่ ยาว และแข็งแรง แต่ไม่เกะกะเก้งก้าง บรรจุหีบห่อได้ง่าย ขนส่งสะดวก มีน้ำหนักไม่มากนัก และเก็บรักษาได้นาน 

          ยังมีไม้ดอกอีกหลายชนิดที่มีก้านดอกสั้น ก้านดอกกลวงและเปราะหักง่าย แต่ดอกสวย หรือมีกลิ่นหอม อายุการใช้งานทนนาน สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีในวิถีชีวิตของคนไทย โดยการนำเฉพาะส่วนดอกไปร้อยมาลัย  ทำอุบะ  จัดพานพุ่ม  หรือนำไปจัดแจกัน  โดยใช้ก้านเทียมแทน เช่น รัก มะลิ พุด จำปี จำปา แวนดาโจคิม บานไม่รู้โรย

          ๒) ไม้ดอกกระถาง  (Flowering  pot  plant) 
          หมายถึง ไม้ดอกที่ปลูกเลี้ยงในกระถางตั้งแต่เริ่มเพาะเมล็ดหรือย้ายต้นกล้า โดยการเปลี่ยนกระถางให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ ให้เหมาะสมกับความสูงและการเจริญเติบโตของต้น  เมื่อออกดอกจะนำไปใช้ประโยชน์ในการประดับทั้งต้นทั้งดอก  พร้อมทั้งกระถาง ทำให้อายุการใช้งานทนนานกว่าไม้ตัดดอก เช่น  บีโกเนีย แพนซี  แอฟริกันไวโอเลต กล็อกซิเนีย อิมเพเชียน  พิทูเนีย
          ไม้ดอกที่นำมาปลูกเป็นไม้กระถางจึงต้องมีทรงพุ่มต้นกะทัดรัด  ไม่เกะกะเก้งก้าง หรือมีต้นสูงใหญ่เกินกว่าที่จะนำมาปลูกเลี้ยงได้ในกระถางขนาดเล็กพอประมาณ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการขนย้าย  ที่สำคัญคือ ควรจะออกดอกบานพร้อมเพรียงกันเกือบทั้งต้น เพื่อความสวยงามในการใช้ประดับ ปัจจุบันวิทยาการเจริญก้าวหน้าอย่างมาก มนุษย์สามารถปลูกเลี้ยงไม้ดอกหลายๆ ชนิดแม้จะมีขนาดต้นสูงใหญ่ในกระถางขนาดเล็ก โดยการใช้สารเคมีที่เรียกว่า สารชะลอการเจริญเติบโต ราดหรือพ่น  เพื่อทำให้ไม้ดอกเหล่านั้นมีขนาดต้นเตี้ยลงตามความต้องการ ตลอดจนใช้เทคนิคบางประการในระหว่างการปลูกเลี้ยง เพื่อบังคับให้ไม้ดอกออกดอกพร้อมเพรียงกันทั้งต้นได้  โดยคงจำนวน ขนาด และสี  ตลอดจนความสวยงามของดอกให้ใกล้เคียงกับของเดิมทุกประการ

          ๓) ไม้ดอกประดับแปลง (Bedding plant) 
          หมายถึง  ไม้ดอกที่ปลูกลงแปลง  ณ  บริเวณที่ต้องการปลูกตกแต่ง  เพื่อประดับบ้านเรือน อาคารสถานที่  ตลอดจนสวนสาธารณะ โดยไม่ตัดดอกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งไปใช้ประโยชน์ แต่ปล่อยให้ออกดอกบานสะพรั่งสวยงามติดอยู่กับต้นภายในแปลงปลูก เพื่อประโยชน์ในการประดับ จนกว่าจะร่วงโรยไป

หลักสำคัญในการปลูกไม้ดอกประดับแปลง

ชนิดและพันธุ์ไม้ดอก 


          การปลูกไม้ดอกประดับแปลงเพื่อให้เกิดความสวยงามนั้น จำเป็นต้องปลูกเป็นกลุ่มในแปลงขนาดไม่เล็กนัก ใช้ต้นจำนวนมาก ไม้ดอกที่จะนำมาปลูกจึงต้องมีคุณสมบัติสำคัญบางประการคือ ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยเฉพาะการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด อีกทั้งปลูกง่าย เลี้ยงง่าย ไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากนัก โตเร็ว ทรงพุ่มกว้าง กะทัดรัด ไม่สูงเก้งก้างจนเกะกะ ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม  ออกดอกดก และดอกบานใกล้เคียงกันทีละหลายๆ ดอก เช่น  ดาวเรือง ดาวกระจาย เดือนฉาย ดอกไม้ไหว แพงพวย พิทูเนีย บีโกเนีย สร้อยทอง อิมเพเชียน หงอนไก่ และบานชื่น ยังมีไม้ดอกอีกหลายๆ ชนิดที่ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำยอด ใบ และกิ่งได้ง่าย แม้จะได้จำนวนต้นน้อยกว่าการเพาะเมล็ด แต่ปลูกง่ายเลี้ยงง่าย มีอายุการใช้งานนาน ได้แก่   ผกากรองเลื้อย เวอร์บีนา แพรเซี่ยงไฮ้ บานเย็น บานเช้า พยับหมอก กุหลาบหิน และกระดุมทอง

          ไม้ดอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการปลูกประดับแปลงมีมากมายหลายชนิด  ดังจะนำมากล่าวเป็นตัวอย่าง  ดังนี

          ๑)  ดาวเรือง  (Marigold)  ดาวเรืองที่นิยมนำมาปลูกประดับมี  ๒  พันธุ์  คือ
              - ดาวเรืองอเมริกัน  หรือ  ดาวเรืองแอฟริกัน  (African marigold) เป็นดาวเรืองดอกใหญ่  ความสูงของต้นตั้งแต่ ๑๕ - ๗๕ เซนติเมตร มี  ๓  สี  คือ  สีเหลือง สีทอง และสีส้ม เหมาะสำหรับปลูกประดับแปลง ทั้งในลักษณะที่ปลูกเลี้ยงในแปลงโดยตรง หรือปลูกเลี้ยงในกระถาง แล้วนำไปตกแต่ง โดยการฝังกระถางลงในแปลง หรือใส่ไว้ในภาชนะที่เตรียมไว้ ณ  สถานที่ที่ต้องการใช้ประดับ ดังที่กรุงเทพมหานครปฏิบัติในงานพระราชพิธีต่างๆ แต่ควรใช้พันธุ์ดอกสีเหลืองหรือสีทอง ไม่ควรใช้สีส้ม เพราะสีส้มเมื่อรวมกลุ่มกันแล้วสีจะไม่สดใส  ส่วนสีเหลืองหรือสีทองจะดูสดใสสวยงามกว่า โดยเฉพาะเมื่อวางเป็นกลุ่มใหญ่ ควรเลือกพันธุ์ที่มีต้นขนาดปานกลาง ไม่สูงมากจนดูเก้งก้างและต้นล้มเอนลงเมื่อถูกแรงลม หากมีความจำเป็นต้องใช้พันธุ์ต้นสูง ควรพ่นด้วยสารชะลอการเจริญเติบโต เพื่อให้ข้อปล้องสั้น และพุ่มต้นกะทัดรัด  ส่วนพันธุ์ที่มีต้นเตี้ยเกินไปก็ไม่เหมาะสม   เพราะไม่ได้สัดส่วนกับความกว้างของถนนและความโอ่โถงของสถานที่ที่จะนำไปประดับ แต่เหมาะที่จะปลูกลงแปลงเพื่อตกแต่งในที่ซึ่งต้องการประดับมากกว่า

            - ดาวเรืองฝรั่งเศส (French marigold) เป็นดาวเรืองดอกเล็ก ต้นเตี้ย ปลูกได้เฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น เพราะเป็นพันธุ์ที่ไวแสง กล่าวคือ ต้องการช่วงแสงในเวลากลางวันสั้นสำหรับการพัฒนาตาดอก แต่จะออกดอกดกมากจนแทบจะมองไม่เห็นใบหากปลูกในฤดูหนาว ส่วนในฤดูอื่นจะออกดอกเพียง  ๔ - ๕  ดอก  และเฝือใบ ดอกมี  ๓  สี  คือ สีเหลือง สีส้ม และสีแดง  มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อนความสูงตั้งแต่ ๑๕ - ๔๐ เซนติเมตร

          ๒) ดาวกระจาย  (Cosmos)  ที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ  มี  ๒  พันธุ์คือ
             - ดาวกระจายสีเหลือง (Cosmos sulphureus) ดาวกระจายประเภทนี้พบเห็นอยู่ทั่วไปในธรรมชาติทุกจังหวัดของประเทศไทย เป็นไม้ดอกล้มลุก ปลูกง่ายเลี้ยงง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก แต่มีเฉพาะดอกสีเหลืองและสีส้มเท่านั้น มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร ออกดอกดก มีทั้งต้นเตี้ยและต้นสูง ที่สังเกตได้ชัดคือ ใบมีลักษณะคล้ายใบของต้นเบญจมาศ 

            - ดาวกระจายสีอื่น (Cosmos bipinnatus)  ดาวกระจายประเภทนี้มีสีขาว สีชมพู  สีม่วง สีบานเย็น และสีแดง ไม่มีสีเหลือง ใบมีลักษณะคล้ายผักชีลาว ดอกมีขนาดใหญ่ชั้นเดียว เส้นผ่าศูนย์กลาง  ๕ - ๗  เซนติเมตร  ความสูงของต้นตั้งแต่  ๕๐  เซนติเมตรขึ้นไป  แต่สามารถทำให้เตี้ยลงด้วยการพ่นสารชะลอการเจริญเติบโตตั้งแต่ต้นยังเล็กๆ ปัจจุบันมีพันธุ์ใหม่ที่น่าสนใจอีกหลายพันธุ์  ซึ่งพันธุ์ดังกล่าวมีสีสันของดอก ตลอดจนดอกและกลีบดอกแปลกใหม่ไปจากพันธุ์เดิม เป็นการพัฒนาพันธุ์ไปในทางที่ดีขึ้นทั้งสิ้น

          ๓) ดอกไม้ไหว (Coreopsis)  ชนิดที่ปลูกประดับในปัจจุบันมี  ๒  สี  คือ  สีเหลืองและสีแดง แต่มักปลูกปะปนกันไป  ดอกดกมาก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดอก ๒ เซนติเมตร ก้านดอกที่ยาวจะโยกไหวตามแรงลมตลอดเวลา ดูมีชีวิตชีวา ติดเมล็ดได้ง่าย และสามารถเก็บเมล็ดไว้ขยายพันธุ์ในรุ่นต่อๆ ไปได้อีก

          ๔) เดือนฉาย  (Gaillardia) เป็นไม้ดอกที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี มีอายุการออกดอกค่อนข้างยาว พันธุ์ที่ออกมาใหม่ๆ มีดอกสีแดงเข้มขอบเหลือง และดอกสีเหลืองทอง พุ่มต้นสูงเพียง ๓๐ เซนติเมตร

          ๕) แพงพวย (Vinca) เป็นไม้ดอกที่ทนแล้งมาก และไม่ชอบที่ชื้นแฉะ หากรดน้ำมากเกินไปจะทำให้ต้นเน่าตาย พันธุ์ดั้งเดิมมีต้นสูงใหญ่ ออกดอกประปราย ดูไม่เด่นสะดุดตา พันธุ์ใหม่ในปัจจุบันต้นเตี้ยลงเหลือเพียง ๑๕ เซนติเมตร และถ้าปลูกไปนานๆ จะค่อยๆ สูงขึ้นอย่างช้าๆ อยู่ได้นานหลายปีที่สำคัญคือ  มีดอกดก และขนาดดอกใหญ่ขึ้น มีหลายสีสวยงามไม่แพ้อิมเพเชียน แต่ปลูกง่ายเลี้ยงง่าย ไม่ต้องดูแลมากนัก จึงเหมาะที่จะปลูกประดับในที่ซึ่งดูแลไม่ทั่วถึง

          ในสถานที่ที่มีปัญหา และไม่ต้องการให้มีหญ้าขึ้นรก อาจนำแพงพวยเลื้อยลงปลูกแทน แพงพวยเลื้อยจะสามารถเลื้อยคลุมดินได้ดี แต่ละต้นสามารถเลื้อยแผ่ไปได้ไกลถึง  ๖๐  เซนติเมตร  พันธุ์ที่มีจำหน่ายมีทั้งสีขาว สีชมพู  และคละสี

          ๖) พิทูเนีย (Petunia) เมล็ดมีขนาดค่อนข้างเล็กมาก แต่ไม่มีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นที่สะดวกและได้จำนวนต้นมากเท่าวิธีเพาะเมล็ด จึงนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ปัจจุบันมีเมล็ดพิทูเนียในรูปแบบใหม่ ทำให้สะดวกในการเพาะ หลังจากได้ต้นกล้าแล้ว การปลูกและดูแลรักษาอื่นๆ ทำได้ง่ายมาก เมื่อออกดอกและดอกบานเต็มแปลงจะสวยงามมาก มีหลายสี  หลายพันธุ์ และหลายประเภท แต่ประเภทที่ควรนำมาปลูกเป็นไม้ประดับแปลงในประเทศไทยควรเป็นพิทูเนียประเภทดอกใหญ่ชั้นเดียว ที่เรียกว่า  Single  grandiflora แม้ว่าเมล็ดจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่ก็คุ้มค่า ดอกมีสีครบทุกสี  ทั้งสีอ่อนและสีแก่ เจริญเติบโตได้ดีมาก เหมาะสำหรับการปลูกประดับ แต่ถ้าไม่ชอบดอกขนาดใหญ่ ควรเลือกประเภท Single multiflora ซึ่งมีดอกดกมาก   และเมล็ดมีราคาย่อมเยากว่า
          ๗) ฟล็อกซ์ (Phlox) ฟล็อกซ์มีดอก ๒ แบบ  คือ แบบกลีบดอกมน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ  ๒.๕  เซนติเมตร และแบบกลีบดอกจักเป็นฟันเลื่อย ซึ่งมีดอกเล็กกว่าแบบกลีบดอกมน  มีดอกดกทั้ง  ๒  แบบ แต่ที่นิยมปลูกประดับแปลงเพราะดูแปลกตาดี  ได้แก่  กลีบดอกจัก ซึ่งจำหน่ายเมล็ดคละสีอยู่ในซองเดียวกัน หากปลูกในฤดูหนาว ดอกจะดกกว่า     และสวยกว่าปลูกในฤดูอื่น 

          ๘) สร้อยไก่ (Celosia plumosa)   พันธุ์ดั้งเดิมมีเฉพาะสีเหลือง  จึงมีชื่อเดิมว่า   สร้อยทอง   แต่ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นอีกหลายสี  คือ   สีชมพู  สีแดง  สีบานเย็น  และสีส้ม   ตลอดจนสีครีม   และสีแดงอมม่วง  มีทั้งช่อดอกป้อมสั้น  และยาวรี   ที่สำคัญคือ  พุ่มต้นไม่สูงมาก   และออกดอกดก

          ๙)  หงอนไก่ (Celosia cristata)  มีพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งต้นสูงและต้นเตี้ย โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีสีสดใสกว่าพันธุ์เดิม  คือสีเหลือง สีชมพู และสีแดงสด หากปลูกรวมกันในแปลงเป็นกลุ่มใหญ่จะสวยงามมาก  

          ๑๐)  แพนซี  (Pansy)  ปกติเป็นไม้ดอกที่ต้องการแสงแดดจัด แต่ในประเทศไทยมีอากาศค่อนข้างร้อน แม้ในฤดูหนาว อากาศก็ไม่เย็นพอ ดังนั้นการปลูกแพนซีให้มีดอกสวยงามควรปลูกใต้เงาไม้  หรือร่มเงาโขดหิน หรือให้ได้รับแสงแดดรำไร หรือแสงแดดในช่วงเช้า แพนซีมีรูปร่างและสีสันของดอก ตลอดจนลวดลายภายในดอกแปลกไปจากไม้ดอกอื่นๆ แต่ละดอกประกอบด้วยหลายสี ถ้าปลูกคละสีในแปลงเดียวกันจะมองเห็นเหมือนหน้าแมวที่ชูหน้าสลอนรับแสงแดดยามเช้า เป็นไม้ดอกที่มีพุ่มต้นเตี้ย แต่ก้านดอกจะส่งดอกโผล่พ้นต้นขึ้นมา และหันหน้ารับแสงอาทิตย์เกือบทุกดอก เมล็ดลูกผสมชั่วแรก (F1 hybrid) มีราคาค่อนข้างแพง แต่ดอกมีขนาดใหญ่ และดอกดก หรืออาจจะเลือกปลูกเมล็ดผสมชั่วที่ ๒  (F2  hybrid) แทนก็ได้   ซึ่งเมล็ดมีราคาย่อมเยากว่า แต่ดอกสวยพอๆ กัน

          ๑๑)  กาเซเนีย  (Gazania) เป็นไม้ดอกอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีพุ่มต้นเตี้ย ออกดอกดก มีหลายสี หากนำมาปลูกคละสีในแปลงเดียวกันจะดูสวยงามมากกว่าแยกสีทำนองเดียวกับแพนซี  พันธุ์ที่ผลิตออกมาใหม่ในปัจจุบันมีพุ่มต้นสูงประมาณ  ๓๐ เซนติเมตร และมีพันธุ์ที่ออกมาใหม่ล่าสุดสูงเพียง  ๒๐  เซนติเมตร แต่ดอกดกมาก 

          ๑๒)  รักแรก (Dahlia)  รักแรกที่นำมาปลูกประดับแปลงควรเป็นประเภทต้นเตี้ยหรือสูงปานกลาง และดอกไม่ใหญ่มากนัก ไม่ควรมีสีเข้มหรือมืดจนเกินไป อาจปลูกคละสีได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีการแยกจำหน่ายเมล็ดแบบแยกสี พันธุ์ที่น่าสนใจคือ พันธุ์ชนิดดอกซ้อน แต่ถ้าเป็นดอกกึ่งซ้อน พุ่มต้นกะทัดรัด  ดอกมีหลายสีตั้งแต่สีขาว สีชมพู  สีม่วง สีส้ม สีแดง และสีอ่อนแก่ต่างๆ กัน นอกจากใช้ปลูกประดับแปลงแล้ว บางพันธุ์ที่มีดอกขนาดปานกลาง กลีบดอกมีการจัดเรียงเป็นไปอย่างมีระเบียบ  และก้านดอกแข็งแรง ก็สามารถปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้  

          ๑๓)  ผีเสื้อ (Dianthus  หรือ  Pink) เป็นไม้ดอกที่ต้องการอากาศค่อนข้างเย็นสักเล็กน้อย แต่ถ้าปลูกในฤดูหนาวก็ไม่มีปัญหาส่วนใหญ่มีกลีบดอกชั้นเดียว  พุ่มต้นสูงเพียง ๑๕ - ๓๐ เซนติเมตร   พันธุ์ที่น่าสนใจที่สุดซึ่งเป็นพันธุ์ที่ออกมาใหม่คือ   พันธุ์ชุดคาร์เพ็ต (Carpet series) ส่วนพันธุ์ชุดชาร์ม (Charm series) นั้นยังได้รับความนิยมเช่นเคย เพราะมีสีที่หลากหลายมากกว่าพันธ์ุชุดคาร์เพ็ต  พันธุ์ที่ออกใหม่ล่าสุดมีต้นเตี้ยที่สุด คือสูงเพียง ๑๐ เซนติเมตร พุ่มต้นกะทัดรัด  มีเพียง  ๒ สี  คือ สีชมพู และสีแดง  ออกดอกเร็วมาก ใช้เวลาเพียง ๕๐ วัน  เรียกว่า พันธุ์อินสแตนต์มิกซ์เจอร์ (Instant mixture)

          ๑๔)  ผักเสี้ยนฝรั่ง  (Cleome) เป็นไม้ดอกที่มีความสูงมาก แต่มีช่อดอกใหญ่หลายสี  หากปลูกประดับแปลงในพื้นที่กว้าง  หรือปลูกเป็นฉากหลังจะสวยงามมาก โดยเฉพาะปลูกคละสี  เพราะสีของผักเสี้ยนฝรั่งดูหวานทุกสี พันธุ์ที่ออกใหม่ได้แก่   พันธุ์ชุดควีน (Queen series) มีสีขาว สีชมพูอ่อน สีชมพูแก่  สีม่วงอ่อน  สีม่วงแก่ และสีม่วงอมฟ้า น่าดูมาก

          ๑๕) ยาสูบดอก (Nicotiana) มีเมล็ดจำหน่ายอยู่เพียง  ๒  ชุด  คือ  ชุดโดมิโน (Domino  series)  และชุดนิกกิ (Nicki  series)  ซึ่งมีครบทุกสี  คือ สีขาว สีชมพู สีแดง และสีเหลือง แต่ชุดโดมิโนมีพุ่มต้นสูงประมาณ  ๓๐  เซนติเมตร ส่วนชุดนิกกิสูงประมาณ  ๔๕  เซนติเมตร

          ๑๖) บานชื่น (Zinnia)   เป็นไม้ดอกที่ต้องเพาะ หรือหยอดเมล็ดลงในกระถาง หรือในแปลงปลูกโดยตรง เพราะถ้ามีการย้ายกล้า รากได้รับความกระทบกระเทือน จะชะงักการเจริญเติบโต มีหลายพันธุ์ทั้งต้นสูงและต้นเตี้ย แต่พันธุ์ที่เหมาะสำหรับการปลูกประดับแปลง  หรือปลูกลงกระถางแล้วนำไปประดับไม่ควรสูงเกิน ๓๐ เซนติเมตร การจัดเรียงของกลีบดอกควรมีระเบียบพอสมควร กลีบดอกที่แผ่ออกดูเรียบร้อยสวยงามกว่ากลีบดอกเป็นหลอด มีหลายสีคือ สีขาว  สีครีม สีชมพู  สีเหลือง   สีส้ม สีแดง  พันธุ์ในชุดพีเทอร์แพน (Peter Pan series) และชุดแดชเชอร์ (Dasher  series)  ซึ่งเป็นลูกผสมชั่วแรก  ราคาเมล็ดค่อนข้างแพง  แต่ดอกสวย  ขนาดดอกใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  ๖ - ๘  เซนติเมตร เหมาะที่จะปลูกมากที่สุด

          ๑๗) ดาห์ลเบิร์กเดซี (Dahlberg daisy)  พันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดคือ พันธุ์โกลเดนฟลีซ (Golden  fleece)  มีพุ่มต้นสูง ๒๐ เซนติเมตร ดอกดกมาก หากปลูกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ จะสวยกว่าปลูกแยกต้น ดอกสีเหลืองทองจะทำให้ดูสวยงามมาก นอกจากปลูกประดับแปลงแล้ว ยังเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้กระถางนำไปจัดสวน  และประดับสถานที่  นอกจากนี้ ยังมีไม้ดอกอีกหลายๆ ชนิดที่เหมาะสมในการปลูกประดับแปลง แต่ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำจากยอด  หรือกิ่ง  หรือใบ ได้ง่ายและสะดวกกว่าการเพาะเมล็ด ได้แก่  เวอร์บีนา  ผกากรองต้น  ผกากรองเลื้อย  บานบุรี  ฟ้าประดิษฐ์  กระดุมทองบานเย็น บานเช้า พยับหมอก  พวงทองต้น สร้อยทอง บีโกเนีย แววมยุรา กุหลาบหิน กุหลาบหนู  แพรเซี่ยงไฮ้  และไม้ดอกอื่นๆ อีกหลายชนิด


การเตรียมต้นพันธุ์ 
          การเตรียมต้นเพื่อนำไปปลูกในแปลงอาจได้จากการเพาะเมล็ด  หรือจากการปักชำก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกและความเหมาะสมของไม้ดอกแต่ละชนิด  ดังที่ได้ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น  แต่สำหรับการปลูกไม้ดอกประดับแปลงแล้ว  การเตรียมต้นจากการเพาะเมล็ดน่าจะเหมาะสมที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีความไม่สะดวกอยู่บ้าง แต่ก็สามารถแก้ไขได้

          ข้อดีและข้อเสียของการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
           ก. ข้อดี มีดังนี้
               ๑. เมล็ดไม้ดอกในปัจจุบันมีคุณภาพดีในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านความบริสุทธิ์และอัตราการงอกของเมล็ด ตลอดจนความรวดเร็วในการงอก และความแข็งแรงของต้นกล้า และที่สำคัญคือ ได้มีพัฒนาการทั้งรูปแบบและรูปทรง รวมทั้งขนาดของเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีการเพาะปลูกในปัจจุบัน ซึ่งพัฒนาไปเร็วมาก ทำให้ผู้ปลูกสามารถเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ในรูปแบบต่างๆได้ตามความต้องการตามเทคโนโลยีที่ใช้ ตลอดจนกำลังทรัพย์
               ๒. อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะ   หาได้ง่าย   ราคาถูก 
               ๓. วัสดุที่ใช้ในการเพาะมีอยู่ทั่วไป
               ๔. วิธีการเพาะไม่ยุ่งยาก 
               ๕. ไม่จำกัดสถานที่เพาะ จะเพาะที่ไหน เมื่อใดก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้สถานที่พิเศษในการเพาะแต่อย่างใด ในสภาพธรรมชาติของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภายใน หรือภายนอกอาคารก็มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงอุณหภูมิที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าวแบบภูมิอากาศในประเทศไทย มีส่วนช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น
               ๖. การขนย้ายเมล็ดและต้นกล้าทำได้สะดวก ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่มีตะกร้าพลาสติก ขนาด ๓๐ x ๔๕ เซนติเมตร ก็สามารถเพาะเมล็ดได้ถึง ๕๐๐ - ๒,๐๐๐  เมล็ด 
               ๗. ต้นกล้าที่ได้จากเมล็ดจะมีรากแก้ว ทำให้ต้นเจริญเติบโตดีกว่า แข็งแรงกว่า อีกทั้งมีความสม่ำเสมอตลอดจนความสมบูรณ์ของต้นดีกว่าต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นๆ 
               ๘. ได้จำนวนต้นเร็วในปริมาณมากๆ ในระยะเวลาเพียง ๕ - ๗  วัน โดยที่การขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นๆไม่สามารถทำได้
               ๙. ราคาต่อต้นถูกกว่าการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่นๆ 
               ๑๐. สามารถเก็บรักษาเมล็ดเพื่อรอเวลาปลูกได้ หากยังไม่ต้องการปลูก หรือยังไม่ถึงฤดูกาลปลูก เพียงเก็บเมล็ดไว้ในที่แห้งและเย็น โดยใส่ไว้ในขวดแก้วฝาเกลียว ปิดฝาให้มิดชิด วางไว้ในตู้เย็นที่ใช้ภายในบ้านจะสามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน โดยที่ไม่สูญเสียอัตราการงอกมากนัก

          ข. ข้อเสีย มีดังนี้
               ๑. หาซื้อเมล็ดยาก เมล็ดที่ดีมีคุณภาพและตรงตามพันธุ์มักไม่มีวางจำหน่าย ทั้งนี้เพราะเมล็ดไม้ดอกส่วนใหญ่จะสูญเสียอัตราการงอกเร็วมาก ถ้าอยู่หรือเก็บไว้ในสภาพที่ไม่เหมาะสม หรือแม้วางไว้ในอุณหภูมิห้องธรรมดา การนำเมล็ดใส่ซองวางจำหน่ายที่หน้าร้านให้ตากแดดตากฝนเพื่อรอคนมาซื้อจะทำให้เมล็ดเสียหาย จนไม่มีอัตราการงอกเหลืออยู่เลย จึงไม่มีใครกล้าเสี่ยงนำเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีมาวางจำหน่าย

               ๒. ราคาแพง  เมล็ดที่ดีมีคุณภาพสูง และตรงตามพันธุ์จะมีราคาแพงหรือค่อนข้างแพง โดยเฉพาะเมล็ดที่เป็นลูกผสมชั่วแรก  หรือเมล็ดชนิดพิเศษดังจะกล่าวต่อไป แม้จะติดต่อซื้อโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ ราคาก็ยังแพงอยู่  ดังนั้นการเพาะเมล็ดจึงต้องทำอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ได้จำนวนต้นมากที่สุด จึงจะคุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีการสั่งเมล็ดเข้ามาวางจำหน่ายตามแผง เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน

               ๓. ความงอกต่ำ แม้จะตรงตามพันธุ์ แต่ถ้าเป็นเมล็ดเก่า และเก็บด้วยวิธีไม่ถูกต้อง อัตราการงอกจะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จนไม่คุ้ม ซึ่งผู้ปลูกจะไม่สามารถทราบล่วงหน้า หรือไว้วางใจได้เลย ถ้าหากซื้อเมล็ดจากผู้จำหน่ายที่เชื่อถือไม่ได้ 

               ๔. ไม่ตรงตามพันธุ์  ด้วยเหตุผลข้างต้นที่ว่า เมล็ดที่มีคุณภาพดี  และตรงตามพันธุ์ ราคาจะค่อนข้างแพง ถ้ามีการวางจำหน่าย ผู้ค้าจำเป็นต้องบวกผลกำไรไว้ด้วย ราคาจะยิ่งแพงมากขึ้น ทำให้จำหน่ายยาก ดังนั้นผู้ค้าจึงนิยมจำหน่ายเมล็ดคุณภาพปานกลาง หรือคุณภาพต่ำ คือเพียงแต่เป็นเมล็ดไม้ดอกชื่อนั้นๆ เท่านั้น แต่จะเป็นพันธุ์ไหนนั้นไม่สำคัญ ส่วนใหญ่บรรจุอยู่ในซองกระดาษ มีรูปดอกสวยๆ ของไม้ดอกชนิดนั้นๆ  ติดอยู่หน้าซอง ดูสวยงามมาก โดยบรรจุซองละ ๑๐ -  ๒๐  เมล็ด ราคาจำหน่าย ๕ - ๑๐  บาท แต่เมื่อนำไปเพาะแล้วอาจจะไม่งอกเลย หรืองอกเพียง ๔ - ๕  ต้น  ที่สำคัญคือ เมื่อออกดอกแล้วอาจจะไม่เหมือนกับที่แสดงรูปไว้หน้าซองก็ได้ 

          กล่าวโดยสรุปได้ว่า การขยายพันธุ์ไม้ดอกด้วยการเพาะเมล็ดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การแก้ปัญหาของข้อเสียอาจกระทำได้ในบางส่วน เช่น  ในเรื่องคุณภาพเมล็ด หากติดต่อโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตหรือผู้ค้า ก็จะสามารถกำหนดชนิดและพันธุ์ได้ตามที่ต้องการ  และตรงตามพันธุ์ในราคายุติธรรม  อีกทั้งจะได้เมล็ดที่ดีมีคุณภาพด้วย ส่วนปัญหาอื่นๆ ในการเตรียมต้นจากการเพาะเมล็ดมีไม่มากนัก จะมีบ้างก็เป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ  อันเนื่องมาจากเทคนิคการเพาะ  เพื่อให้ได้จำนวนต้นมากที่สุด   และต้นสมบูรณ์ที่สุดในระยะเวลาอันสั้น

          ขนาดของเมล็ด
          เมล็ดไม้ดอกจะมีขนาดต่างๆ กันตามชนิดของไม้ดอกคือ  มีตั้งแต่ขนาดเล็กมากเช่น เมล็ดกุหลาบหิน และบีโกเนีย ซึ่งเมล็ดหนัก  ๑  ออนซ์ จะมีจำนวนถึง ๒ - ๒.๕  ล้านเมล็ด  ส่วนเมล็ดขนาดเล็กธรรมดาคือ  เมล็ดกล็อกซิเนีย  และแอฟริกันไวโอเลต จะมีจำนวน ๘๕๐,๐๐๐ - ๑,๐๐๐,๐๐๐  เมล็ด ต่อน้ำหนัก ๑ ออนซ์

          รูปแบบของเมล็ด
          เมล็ดที่มีจำหน่ายโดยบริษัทที่มีชื่อเสียงมี  ๒  ชนิด  คือ  
          ๑. เมล็ด “ธรรมดา” (Standard seed)   
          หมายถึง เมล็ดที่ได้จากกรรมวิธีการผลิตธรรมดา ไม่วิจิตรพิสดาร หรือใช้เทคโนโลยีพิเศษใดๆ ไม้ดอกที่มีเมล็ดขน
าดเล็กโดยธรรมชาติก็ยังคงเล็กอยู่เช่นเดิม เมล็ดที่มีขนหุ้มรอบๆ เมล็ด หรือมีเมือกหุ้มเมล็ด  หรือมีหางติดอยู่กับเมล็ดก็ยังคงมีอยู่  รูปทรงดั้งเดิมของเมล็ดเป็นเช่นใด จะบิดเบี้ยว กลมรี หรือรูปทรงเป็นแท่ง ก็คงเป็นเช่นนั้น จะไม่มีการดัดแปลงเสริมแต่งใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเมล็ดบางชนิดอาจจะเพาะได้ยากมาก  เพราะมีขนาดเล็กเกินไป หรือมีน้ำหนักเบามาก ดังเช่น  บีโกเนีย  และพิทูเนีย จนคนเพาะท้อถอย  เลิกปลูกเลี้ยงไม้ดอกทั้ง  ๒  ชนิดนี้ไปแล้วก็มี หรือบางชนิดมีรูปร่างบิดเบี้ยวไม่ได้มาตรฐานกับเครื่องเพาะเมล็ดไฟฟ้าที่นิยมใช้ในหมู่ผู้ปลูกในปัจจุบัน ดังนั้นถ้าหากไม่มีการดัดแปลงรูปทรงของเมล็ดให้เหมาะสมกับเครื่องเพาะเมล็ด ก็ไม่สามารถจำหน่ายได้ 
          ๒.  เมล็ด  “พิเศษ”  (Special  seed)
          หมายถึง เมล็ดที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตพิเศษกว่าเมล็ดธรรมดา มีการดัดแปลงเสริมแต่งหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่เมล็ดชนิดนั้นๆ ประสบ  และเพื่อความสะดวกสบายของผู้ปลูก  เช่น  เมล็ดไม้ดอกที่มีขนาดเล็กมากๆ  เช่น  บีโกเนีย  และพิทูเนีย  ได้มีการหุ้ม หรือพอกเมล็ดด้วยวัสดุบางอย่างให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อสะดวกในการเพาะ  เรียกว่า  “Pelled  seed”  เมล็ดพืชบางชนิด  เช่น  มะเขือเทศ  และบานไม่รู้โรย  จะมีขนหุ้มเมล็ด  ทำให้ได้จำนวนเมล็ดต่อน้ำหนักน้อยลง จึงมีการเอาขนหุ้มเมล็ดออก เรียกว่า “Deffuzzed  seed” เมล็ดบางชนิดมีหาง ซึ่งเหมาะที่จะขยายพันธุ์ในสภาพธรรมชาติ  คือสามารถปลิวไปตามลมได้ง่าย แต่หางทำให้เกะกะในการเพาะ  โดยเฉพาะการเพาะด้วยเครื่อง  เช่น  เมล็ดดาวเรือง  จึงได้มีการเด็ดหางออก  คงเหลือไว้เฉพาะตัวเมล็ดเท่านั้น เรียกว่า “Detailed  seed” เมล็ดบางชนิดมีน้ำหนักเบามาก เมื่อทำการเพาะด้วยมือหรือด้วยเครื่องก็ตาม เมล็ดจะถูกพัดพา หรือฟุ้งกระจาย หรือปลิวไป ไม่ตกลงตรงที่หมาย จึงได้มีการหุ้มเมล็ดเพื่อเพิ่มน้ำหนักเมล็ดด้วยแกรไฟต์  เรียกเมล็ดในรูปแบบนี้ว่า “Speed  seed” เมล็ดบางชนิดอาจไม่มีปัญหา  ทั้งในเรื่องรูปร่าง  ขนาด  และน้ำหนัก แต่ต้องการให้มีอัตราการงอกสูงขึ้น งอกและโตเร็วขึ้นกว่าเดิม มีความสม่ำเสมอในการงอกและการเจริญเติบโต จึงมีการพัฒนารูปแบบขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคที่ปกปิดเป็นความลับของบริษัท โดยเมล็ดชนิดนี้มีคุณภาพดีมาก แต่ราคาจำหน่ายแพง เรียกว่า  “High  energy  seed” เมล็ดไม้ดอกที่ใช้เทคนิคในลักษณะนี้  มีอยู่หลายชนิด  ได้แก่ อะเจอราตุม   รักแรก อิมเพเชียน บีโกเนีย  พิทูเนีย ซัลเวีย และแพงพวย นอกจากนี้ยังมีเมล็ดอีกรูปแบบ  คือ  “Genesis seed”  ซึ่งมีวางจำหน่ายในราคาต่อเมล็ดแพงที่สุด  แต่มีคุณภาพดีที่สุดในทุกๆ ลักษณะ  คุณสมบัติของเมล็ดคล้ายกับ  High Energy seed  แต่เหนือกว่าในทุกด้าน เมล็ดไม้ดอกที่วางจำหน่ายในรูปแบบนี้ ได้แก่  บีโกเนีย  พิทูเนีย สแนปดรากอน แพนซี แอหนัง (Dusty Miller) และแพงพวย 


การเพาะพันธุ์ 
          ก. วัสดุเพาะ ในต่างประเทศนิยมใช้พีตและเวอร์มิคิวไลต์  ส่วนในประเทศไทยมักจะเพาะในดิน แต่มักเกิดปัญหาต้นกล้าเป็นโรค  เนื่องจากมีเชื้อโรคตกค้างอยู่ในดิน จึงควรเพาะในวัสดุที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรค อีกทั้งไม่เป็นกรดเป็นด่างจัด  มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี ในขณะเดียวกันก็กักเก็บความชื้นได้ดีด้วย ซึ่งจะหาวัสดุที่มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วนได้ยากมาก  จากการทดลองพบว่า ทรายก่อสร้างที่ร่อนเอากรวดหินออกแล้ว ผสมกับขุยมะพร้าวที่ได้จากเส้นใยของกาบมะพร้าวที่ใช้ประโยชน์แล้ว ในอัตราส่วน  ๑ : ๑  และ  ๑ : ๒  จะเหมาะสำหรับเมล็ดไม้ดอกทั่วๆ ไปที่มีขนาดไม่เล็กนัก หรือเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ หากเป็นเมล็ดที่มีขนาดเล็กมาก ดังเช่น เมล็ดบีโกเนีย และพิทูเนีย ควรเพาะในใบก้ามปูหมักที่ร่อนแล้ว   ผสมกับทรายในอัตราส่วน  ๒ : ๑  แทน

           ข. อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะ  ควรเพาะในตะกร้าพลาสติกขนาด  ๓๐ x ๔๕   เซนติเมตรโดยประมาณ จะสะดวกและปลอดภัยกว่าเพาะลงบนพื้นดินโดยตรง ทั้งนี้เพราะสะดวกในการเตรียมวัสดุและเตรียมการเพาะ อีกทั้งทำการเพาะได้ประณีตกว่า ดูแลได้ทั่วถึงการป้องกันมดแมลงตลอดจนศัตรูอื่น เช่น  จิ้งหรีด ทำได้ง่ายกว่า สามารถควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ   ตลอดจนแสงได้ตามความเหมาะสม เพราะสามารถย้ายตะกร้าไปมาได้ เมื่อเมล็ดงอกแล้วสามารถย้ายไปไว้ในที่ที่เหมาะสมได้ง่าย และยังหนีภัยธรรมชาติได้ด้วย แม้จะทำงานขนาดใหญ่เพียงใดก็ตาม เช่น ต้องการเตรียมต้นกล้าเป็นหมื่นเป็นแสนต้น ก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะตะกร้าขนาด ๓๐ x ๔๕ เซนติเมตร  สามารถเพาะเมล็ดได้ถึง ๕๐๐ - ๒,๐๐๐  เมล็ด ถ้าเมล็ดมีอัตราการงอกร้อยละ ๘๐  จะใช้ตะกร้าในการเพาะเมล็ดจำนวน ๑๓๐,๐๐๐ เมล็ด  เพื่อให้ได้จำนวนต้น  ๑๐๐,๐๐๐  ต้น   เพียง  ๕๐ - ๒๕๐  ตะกร้าเท่านั้น หากวางตะกร้าบนกระเบื้องแผ่นเรียบขนาด ๑.๒๐ x ๒.๔๐ ตารางเมตร จะใช้กระเบื้องเพียง ๒ - ๑๒ แผ่น ทั้งนี้เพราะกระเบื้อง ๑ แผ่น รองรับตะกร้าได้ถึง  ๒๔  ใบ


           ค. วิธีการเพาะ ให้กรุตะกร้าพลาสติกด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์  ทั้งที่ก้นและด้านข้างของตะกร้า แล้วบรรจุวัสดุเพาะที่มีความชื้นพอเหมาะไม่ถึงกับแฉะ ลงไปในตะกร้าอย่างหลวมๆ ให้สูงจากก้นตะกร้าประมาณ ๘ เซนติเมตร เกลี่ยผิวหน้าวัสดุให้เรียบเสมอกันโดยตลอด แล้วใช้สันไม้หนาประมาณ ๑-๒  เซนติเมตร กดลงบนวัสดุเพาะเบาๆ เพื่อทำร่องสำหรับหยอดเมล็ด   แต่ละร่องห่างกันประมาณ  ๒ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร ถ้าทำร่องตามทางยาวของตะกร้าจะได้ประมาณ ๑๑-๑๒  แถวต่อ  ๑  ตะกร้า

          การหยอดเมล็ดลงในร่องนั้น หากยังไม่ชำนาญควรฝึกทำก่อน โดยใช้ทรายละเอียดแทนเมล็ดจริง ซึ่งแต่ละคนอาจมีวิธีการทำไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ควรหยอดให้แต่ละเมล็ดกระจายอย่างสม่ำเสมอในแต่ละร่อง กลบร่องด้วยวัสดุเพาะให้เต็ม   แล้วใช้แท่งไม้หน้าเรียบลักษณะคล้ายแปลงลบกระดาน ตบบนผิววัสดุเพาะเบาๆ เพื่อให้วัสดุเพาะกระชับกับเมล็ด และทำให้ผิวหน้าวัสดุเรียบ ตัดกระดาษหนังสือพิมพ์ให้พอดีกับตะกร้า ปิดทับลงบนผิวหน้าวัสดุให้มิดพอดีๆ รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำชนิดฝอย  คะเนให้น้ำซึมลงไปในวัสดุเพาะมากพอ แล้วนำกระบะเพาะไปเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยจากสัตว์เลี้ยงและแมลงศัตรูพืช อาจวางบนร้าน หรือยกพื้นกลางแดด หลังจากนั้นรดน้ำเช้า-บ่าย  วันละ  ๒  เวลา เมล็ดส่วนใหญ่จะงอกภายใน ๓-๕  วัน ดังนั้นก่อนรดน้ำในตอนเช้าของวันที่ ๔  และ ๕  ควรตรวจสอบความงอก  โดยการเปิดกระดาษออกดู  ถ้าเมล็ดงอกในปริมาณที่มากพอใกล้เคียงกับอัตราการงอกที่กำหนดไว้ ต้องเปิดกระดาษออกทันที ถ้าวางกระบะเพาะไว้ภายในอาคาร  ควรจัดให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดในช่วงเช้า และงดน้ำ ๑-๒  วัน เป็นการบังคับให้รากหยั่งลึกลงไปหาน้ำในระดับล่างของวัสดุเพาะ  ทำให้รากของต้นกล้าเจริญเติบโตดี  มีปริมาณรากมาก และแข็งแรงด้วย แต่ถ้าเป็นการเพาะเมล็ดในที่โล่งแจ้งกลางแดดอยู่แล้ว เมื่อเมล็ดงอกและเปิดกระดาษออกแล้ว ต้นกล้าจะได้รับแสงแดดเต็มที่โดยไม่แสดงอาการเหี่ยวเฉา  หากต้นกล้าแสดงอาการเหี่ยว ไม่ควรงดน้ำ

          วิธีการเพาะเมล็ดดังที่กล่าวมานี้ อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดหากได้ลงมือปฏิบัติ และประสบปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งการแก้ปัญหาของแต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีการเพาะที่ดีและเหมาะสมย่อมแตกต่างกันได้ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การเพาะเมล็ดโดยการทำร่องเป็นแถวๆ แทนการหว่านเมล็ดไปทั่วทั้งตะกร้า จะเป็นการแก้ปัญหาการเน่าของต้นกล้าได้

          การเพาะเมล็ดเป็นแถวจะให้ผลดีกว่าการหว่านเมล็ดด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะลดความเสียหายเนื่องจากโรคโคนเน่าของต้นกล้า ทั้งนี้เพราะมีการถ่ายเทอากาศได้ดีกว่า และถ้าเกิดโรคเน่าขึ้น โอกาสที่จะลุกลามติดต่อกันเองเกิดได้ช้าลง ที่สำคัญคือ สะดวกในการย้ายต้นกล้าออกปลูก โดยสามารถย้ายทีละแถว โดยไม่ทำให้รากของต้นกล้าแถวข้างเคียงกระทบกระเทือน อีกทั้งถ้าไม่สามารถย้ายเสร็จทั้งตะกร้าภายในวันเดียวได้ ก็ไม่ทำให้ต้นกล้าที่เหลือเสียหาย 

          สรุปได้ว่า  การเพาะเมล็ดไม้ดอกจะประสบผลสำเร็จเพียงใด  ขึ้นอยู่กับปัจจัย  ๓ ประการคือ 
               ๑. เมล็ดดี  เมล็ดที่นำมาเพาะจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
                    -  ยังมีชีวิตอยู่
                    -  ผ่านพ้นระยะพักตัวแล้ว
                    -  มีความสมบูรณ์   ไม่ลีบ  ไม่มีเมล็ดอื่นปะปน
                    -  มีความงอกสม่ำเสมอ  อัตราการงอกสูง
                    -  ตรงตามพันธุ์
                    -  งอกได้เร็ว  และเจริญเติบโตดี
                    -  ปราศจากโรคและแมลง

               ๒. วัสดุเพาะดี   มีคุณสมบัติดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องของวัสดุเพาะ

               ๓. สภาพแวดล้อมดี คือ มีความชื้น  อุณหภูมิ   แสง   และอากาศเหมาะสม

               ๔. วิธีการดี  ได้กล่าวถึงวิธีการเพาะเมล็ดอย่างละเอียดไว้แล้ว  แต่อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดก็ได้ หากลงมือปฏิบัติเอง  อาจพบเห็นปัญหามากมายแตกต่างได้อีก โดยวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละบุคคลย่อมจะแตกต่างกัน  ดังนั้น วิธีการที่ดีและเหมาะสมจึงแตกต่างกันไปด้วย

              ๑.  เมล็ดงอกน้อย  ทั้งที่เมล็ดมีคุณภาพดี และมีอัตราการงอกสูง สาเหตุอาจเนื่องมาจากวัสดุเพาะมีความชื้นไม่เพียงพอ  และไม่สม่ำเสมอทั่วกัน โดยเฉพาะในช่วงวันแรกๆ ที่เริ่มเพาะ จึงแนะนำให้รดน้ำจนชุ่ม  โดยรด  ๒ - ๓  ครั้งในวันแรกที่เพาะ เพื่อให้วัสดุเพาะมีความชุ่มชื้นเพียงพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีภายในเมล็ด และทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนตัวลง จนต้นอ่อนสามารถงอกออกมาได้  หรืออาจเป็นเพราะเมล็ดเหล่านั้นสูญสิ้นความงอก หรือตายไปแล้วก่อนนำมาเพาะ ซึ่งอาจเกิดจากการเก็บรักษาเมล็ดก่อนการเพาะไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น วางเมล็ดไว้ในรถยนต์ที่ปิดกระจกในระหว่างไปรับประทานอาหารกลางวันเพียง ๑ - ๒  ชั่วโมง ความร้อนภายในรถยนต์อาจสูงพอที่จะฆ่าเมล็ดเหล่านั้นได้ จึงควรตระหนักในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไว้ด้วย

               ๒. ต้นกล้ายืด เนื่องจากต้นกล้าได้รับแสงไม่เพียงพอ เพราะเปิดกระดาษออกช้า หรือสถานที่เพาะเมล็ดได้รับแสงน้อยไป 

               ๓. ต้นกล้าเน่า สามารถป้องกันได้โดยการเปิดกระดาษออกทันทีหลังจากต้นกล้างอก ให้ได้รับแสงเพียงพอ ต้นกล้าจะไม่ยืดจนล้มในขณะได้รับการรดน้ำ และไม่ควรรดน้ำบ่อยครั้งเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ต้นกล้าบอบช้ำ ซึ่งง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค ควรทิ้งช่วงให้วัสดุเพาะแห้งบ้างพอหมาดๆ แต่อย่าปล่อยให้แห้งจัดจนเกิดรอยแตกแยกของวัสดุเพาะ

               ๔. ต้นกล้าไม่แกร่ง ทำให้เกิดปัญหาการตายของต้นกล้าหลังจากย้ายปลูก เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น ต้นกล้าได้รับแสงน้อยเกินไป รดน้ำมากไป หรือมีการเร่งปุ๋ยไนโตรเจนเกินความจำเป็น ก่อนการย้ายกล้า ๒ - ๓ วัน ควรรดด้วยน้ำผสมปุ๋ยโพแทสเซียมอย่างเจือจาง จะช่วยให้ต้นกล้าแกร่งขึ้น หรืองดน้ำล่วงหน้าการย้าย  ๑ วัน หรือฉีดพ่นด้วยสารชะลอการเจริญเติบโตก่อนการย้ายกล้า ๔ - ๕ วัน จะทำให้ต้นกล้าทนการขาดน้ำ และทนแล้งยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ไม่ทำให้ต้นกล้ายืด
          ง. ปัญหาที่มักเกิดขึ้นในการเพาะเมล็ดไม้ดอก    มีดังนี้

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 4 (การเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต)


สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 4 (การเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต)



         เราจะลองพิจารณาเปรียบเทียบสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตามลำดับขั้นวิวัฒนาการ เริ่มจากพวกที่มีวิวัฒนาการน้อยกว่า  จนถึงพวกที่มีวิวัฒนาการขั้นสูงสุด คือ  ตั้งแต่สัตว์พวกเซลล์ เดียวขึ้นมาถึงสัตว์ชั้นสูง


          สิ่งที่มีชีวิตเซลล์เดียวสามารถเปล่งแสงสีได้ สีของแสงที่เปล่งออกมานั้นอาจเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อม เช่น นอคติลูคา (noctiluca) ชนิดต่างๆ  ตามปกติจะเปล่งแสง สีแดงจนทำให้ผิวทะเลที่มีสิ่งที่มีชีวิตนี้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเป็นสีแดงเต็มไปหมด  แต่ในเวลากลางคืน  ถ้ามีคลื่นมารบกวนมาก  นอคติลูคาจะเปล่งแสงเป็นสีน้ำเงินแทนสีแดง สิ่งที่มีชีวิตพวกเซลล์เดียวอีกชนิดหนึ่ง  คือ โกนีออแลกซ์ (gonyaulax) มีความสามารถในการผลิตแสงได้มากที่สุดในเวลากลางคืน และน้อยที่สุดในเวลากลางวันไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของมันเองคือในทะเล หรือภายในสภาพห้องทดลองที่ห่างไกลจากทะเลหลายพันกิโลเมตร  กำหนดเวลาของการเปลี่ยนแสงดังกล่าวนี้จะเที่ยงตรงราวกับมี "นาฬิกา" ตั้งไว้ภายในเซลล์  นอกจากนี้ บัคเตรีซึ่งก็เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวจะผลิตแสงสีน้ำเงินหรือน้ำเงินเขียว  และตราบใดที่สภาพแวดล้อมเหมาะสมกับปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์ของมัน  แสงที่เรืองนั้นจะต่อเนื่องกันโดยไม่หยุด

          ในสัตว์ทะเลพวกหนึ่งซึ่งมีขนาดและลำตัวคล้ายช่อดอกไม้เล็กๆ เช่น แคมพานูลาเรีย  เฟลกซูโอสา (Campanularia  flexuosa) การเรืองแสงเกิดในเซลล์ที่เป็นแกนในของลำตัว  ผ่านผิวชั้นนอกซึ่งใสบาง ส่วนแมงกะพรุนซึ่งเป็นสัตว์กลุ่มใกล้เคียงกันถัดขึ้นมาในลำดับวิวัฒนาการ จะมีการเรืองแสงเกิดขึ้นตามกลุ่มเซลล์ที่กระจายอยู่ตามขอบร่ม เช่น เอควอเรีย เอควอร์  (Aequorea  aequore)

          หนอนทะเลชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสัตว์กลุ่มที่ใกล้เคียงมากกับไส้เดือนดิน และเป็นที่รู้จักกันดีในบริเวณหมู่เกาะอินเดียตะวันตก   คือ  โอดอนโตซิลลิส อีโนปลา (Odontosyllisenopla) จะมีการเรืองแสงเป็นหมู่  ประมาณ ๒-๓ วันหลังจากเดือนเพ็ญ พวกตัวเมียซึ่งมีไข่สุกและมีขนาดถึง ๓ ๑/ซ.ม. จะว่ายวนตามผิวน้ำเปล่งแสงสีเขียว  เริ่มประมาณ ๑  ชั่วโมง  หลังจากตะวันตกดิน  มีตัวผู้ซึ่งเปล่งแสงวาบๆ ว่ายตามมา  และต่อมามีการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ทั้งสองฝ่ายออกผสมพันธุ์ในน้ำ


         ส่วนสัตว์ทะเลอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสัตว์คล้ายกับไรน้ำในน้ำจืด คือ ไรน้ำทะเล  ไซปริดิน่า ฮิลเกนดอร์ฟิอิ  (Cypridinae  hilgendorfii) นี้ เป็นสัตว์ที่รู้จักกันดีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นได้นำมาใช้ประโยชน์ในการอ่านแผนที่ขณะที่มีการพรางไฟ  สัตว์ชนิดนี้เมื่อนำมาตากให้แห้งจะเก็บไว้ได้นานในลักษณะเป็นผง เมื่อต้องการใช้ก็นำมาผสมกับน้ำจะได้แสงสีน้ำเงินที่สว่างพอที่จะอ่านแผนที่ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเครื่องบินค้นพบ ได้มีผู้นำไรน้ำทะเลชนิดนี้มาศึกษาปฏิกิริยาชีวเคมีอย่างละเอียด

          ในสัตว์พวกแมลงที่เรืองแสง หิ่งห้อยหลายชนิด เช่น โฟทูริส ไพราลิส (Photurispyralis) และ พี. เพนซิลวานิคัส  (P. Pennsylvanicus) เป็นแมลงที่พบทั่วไปทั้งในยุโรป เอเชีย  และอเมริกา มีการผลิตแสงสีเขียวเหลืองตรงปลายท้อง และมีการเปล่งแสงเป็นจังหวะ ตัวผู้ในฝูงเดียวกันจะเปล่งแสงเป็นจังหวะพร้อมกัน หิ่งห้อยต่างชนิดจะมีจังหวะแตกต่างกัน ส่วนตัวเมียปกติจะไม่เปล่งแสงก่อน แต่จะเปล่งแสงตอบต่อเมื่อได้รับแสงจากตัวผู้ชนิดเดียวกัน เป็นการบอกทิศทางให้ตัวผู้บินตามมา แมลงปีกแข็งไพโรโฟรัสนอคติลูคัส (Pyrophorus  noctilucus) อีกชนิดหนึ่งซึ่งพบในอเมริกาเหนือและมีลักษณะภายนอกคล้ายกับหิ่งห้อย  แต่มีการเรืองแสงที่ตำแหน่งต่างกันมาก  คือ  ที่จุด ๒  จุด  ตรงทรวงอกด้านบน ในประเทศบราซิลมีหนอนซึ่งเป็นตัวอ่อนของแมลงชนิดหนึ่ง  มีลวดลายการเรืองแสงที่เหมาะสมกับชื่อของมัน คือ  มีจุด เรืองแสงสีแดงที่เรืองแสงต่อเนื่องกันตลอดเวลา  ๒ จุดตรงหัว  ส่วนตามลำตัว  มีจุดเรืองแสง  ๑๑  คู่  เรียงตามยาวลำตัวปล้องละ ๑  คู่  จุดเหล่านี้ปกติไม่เปล่งแสง แต่หากถูกรบกวน หรือเมื่อเคลื่อนไหวจะเปล่งแสงสีเขียว จึงทำให้ได้สมญาว่า "หนอนรถไฟ"
         
          สัตว์ทะเลกลุ่มหอย ได้แก่  หอยสองกาบ  โฟลาส  แดคติลุส  (Pholas dactylus) และปลาหมึก เธามาโตแลมพัส  ไดอะเดมา (Thaumatolampus diadema) ซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้เคียงกับหอยมาก สัตว์สองชนิดนี้เป็นตัวอย่างของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่เรืองแสงขณะเคลื่อนไหว ปรากฏเห็นได้ชัดเจน

          ในสัตว์ทะเลชั้นสูงจำพวกที่มีกระดูกสันหลังนั้น การเรืองแสงปรากฏเฉพาะในพวกปลา โดยเฉพาะปลาน้ำลึก  ซึ่งแต่ละชนิดมีลวดลายบริเวณเรืองแสงบนลำตัวต่างกัน  ในทะเลที่แสงแดดส่องไม่ถึง  มันจะจำศัตรูหรือเพื่อนชนิดเดียวได้กันในที่มืดโดยทราบจากลวดลายการเรืองแสงบนลำตัว  ปลาบางชนิดมีอวัยวะเรืองแสงลักษณะคล้ายคันเบ็ดที่ห้อยจากหัวลงมา เหนือบริเวณปาก ปลายสายเบ็ดนี้มีแสงเรืองล่อปลาขนาดเล็ก  หรือสัตว์ทะเลอื่นๆ ให้เข้ามาใกล้ ปลาที่มีการเรืองแสงตามบริเวณต่างๆ เหล่านี้ส่วนมากมิได้มีเซลล์ของตนเองที่ผลิตแสงได้ดังสัตว์อื่นที่กล่าวข้างต้น การเรืองแสงเกิดจากเซลล์ของบัคเตรีที่มาอาศัยอยู่เป็นประจำในบริเวณเหล่านั้นซึ่งประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่เจริญเป็นพิเศษ เพื่อการรองรับบัคเตรีเหล่านี้ เช่น โฟโตเบลฟารอน (Photoblepharon)

          ในสิ่งมีชีวิตอื่นนอกจากสัตว์และจุลินทรีย์ที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว  พืชจำพวกเห็ดที่เจริญตามพื้นดินในป่า  หรือขอนไม้ผุชื้นก็เรืองแสงได้ แสงของมันจะมีสีเขียว-เหลือง


ปฏิกิริยาการเรืองแสงในสิ่งมีชิวิต


         ในบรรดาสิ่งมีชีวิตที่เรืองแสงชนิดต่างๆ  ดังกล่าวข้างต้น  สิ่งที่มีผู้พยายามศึกษา ปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์เป็นชนิดแรกคือหอยสองกาบ  โฟลาส แดคติลุส  (Pholas   dactylus)ผู้ทดลองนำมาสกัดในน้ำเย็น  สารละลายที่ได้จากการสกัดจะเรืองแสงอยู่ชั่วครู่แล้วก็หยุดแต่สารละลายที่ได้จากการสกัดด้วยน้ำร้อนจะไม่เรืองแสง    แต่เมื่อตั้งทิ้งไว้ให้เย็นและนำไปผสมกับสารละลายแรกที่ดับแล้ว  จะกลับมีการเรืองแสงขึ้นมาใหม่

           ผู้ทำการวิจัยเรื่องนี้  คือ  ดูบัวส์ (Dubois) ได้สรุปผลของเขาว่าในสารละลายที่สกัด ด้วยน้ำร้อนนั้น   ความร้อนได้ทำลายสารชนิดหนึ่งไป  (ก) ส่วนสารอีกชนิดหนึ่ง  (ข)  ไม่ถูกทำลายโดยความร้อน  ดังนั้น  ในสารละลายที่สกัดด้วยน้ำเย็นซึ่งมีการผลิตแสงเป็นผลจากปฏิกิริยาระหว่าง (ก) และ (ข)   ซึ่ง (ข) จะค่อยๆ หมดไป  เมื่อนำสารละลายที่สกัดด้วยน้ำร้อนมาผสมด้วยภายหลัง  (ก)  ซึ่งยังคงอยู่โดยไม่หมดไปขณะทำปฏิกิริยา  ก็จะเข้าทำปฏิกิริยากับ (ข) ที่เติมมาใหม่  เกิดการผลิตแสงได้ใหม่
           ก + ข  ในเซลล์ → เย็น  ก + ข (แสง) → ก (ไม่มีแสง)
           ก + ข  ในเซลล์ → ร้อน  ก + ข (ไม่มีแสง) → ก (แสง)

          ดูบัวส์เรียก  (ข) ว่า ลูซิเฟอริน (luciferin) และ (ก) ว่า ลูซิเฟอรัส  (luciferous)ตามชื่อเทพบุตรแห่งแสง    คือ   ลูซิเฟอร์ (Lucifer) ลูซิเฟอริน  คือ  สารที่ทำหน้าที่เป็นวัตถุดิบ  ส่วนลูซิเฟอรัสเป็นสารเอนไซม์  (enzyme) ซึ่งถูกทำลายง่ายด้วยความร้อน  สารเอ็น-ไซม์นี้ทำปฏิกิริยากับวัตถุดิบ  (ลูซิเฟอริน)  ทำให้เกิดแสง
          ลูซิเฟอริน (ข) + ลูซิเฟอรัส (ก) → แสง

กลไกควบคุมการเรืองแสง


     เมื่อเปรียบเทียบปฏิกิริยาการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต (bioluminescence) ดังกล่าวข้างต้นกับการเรืองแสงในระบบสิ่งไร้ชีวิต (phosphorescence หรือ fluorescence)  แล้ว  ข้อแตกต่างสำคัญก็คือ  การเรืองแสงในระบบสิ่งไร้ชีวิตเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงความร้อนหรือกระแสไฟฟ้าหรือการสั่นสะเทือนของอณู  ส่วนการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิตเป็นผล จากปฏิกิริยาชีวเคมีภายในเซลล์มีการผลิตแสงที่ไม่มีพลังงานความร้อน  และสีที่ปรากฏพบในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว  จะเป็นแสงในช่วงคลื่นตั้งแต่ประมาณ  ๐.๐๐๐๐๔๘-๐.๐๐๐๐๕๐  ซม.(น้ำเงิน  หรือน้ำเงินปนเขียว)  ถึงประมาณ ๐.๐๐๐๐๕๖๕ ซม. (เขียวปนเปลือง) เช่นในหิ่งห้อย  จนกระทั่งถึง  ๐.๐๐๐๐๖๑๔  ซม. (แดง) ในพวกหนอนรถไฟ  เป็นต้น
 
           ถึงแม้การเรืองแสงในสิ่งมีชีวิตต่างๆ จะเกิดขึ้นภายใต้สภาวะแวดล้อมต่างกัน  มีผลลัพธ์ซึ่งแตกต่างกันมากมายในแง่ของสี  แสง  ตำแหน่ง  ช่วงเวลา และจังหวะการเรืองแสงแต่การเรืองแสงในสิ่งมีชีวิตทุกชนิดเป็นปฏิกิริยาชีวเคมีทั้งหลายภายในเซลล์  ภายใต้การควบคุมงานของสารที่เรียกว่า เอนไซม์  ปฏิกริยาชีวเคมีภายในเซลล์ที่มีชีวิตมีผลสำคัญ  คือ  การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของสารในเซลล์  และการหมุนเวียนพลังงาน ในปฏิกิริยาการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต เอนไซม์ที่เกี่ยวข้อง คือ ลูซิเฟอรัส จะทำปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงสารลูซิเฟอริน ปฏิกิริยานี้เป็นปฏิกิริยาที่ต้องการก๊าซออกซิเจนไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิกิริยาการเผาไหม้ภายในเซลล์  ต่างกันที่พลังงานที่ผลิตขึ้นในกรณีนี้เป็นพลังงานแสง 

           แสงที่เกิดขึ้นจึงเป็นพลังงานที่ถูกเปลี่ยนรูปมาจากพลังงานที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่อาจเกิดได้ในหลอดแก้วที่มีเอนไซม์และวัตถุดิบลูซิเฟอริน ที่สกัดจากเซลล์เรืองแสง  ก๊าซออกซิเจนและ ATP (เอ.ที.พี.) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีพลังงานสูง พบในเซลล์มีชีวิตทั่วไป แสงเรืองที่เกิดจากการใช้ ATP จากเซลล์ปกติจะมีความเข้มมากกว่าแสงเรืองที่เกิดในการใช้   ATP จากเซลล์มะเร็ง ข้อแตกต่างนี้นอกจากจะแสดงกลไกของปฏิกิริยาการเรืองแสงแล้ว ยังให้ความหวังว่าอาจใช้การวัดความเข้มของแสงที่ได้เป็นดรรชนีในการวินิจฉัยสภาพของเซลล์ในการตรวจสอบมะเร็งได้

           เนื่องจากลักษณะของการเรืองแสงแตกต่างกันไปตามชนิดของสิ่งมีชีวิต  ความสามารถในการเรืองแสงและลักษณะการเรืองแสงนั้นเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมและปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ในการเรืองแสงถูกควบคุมโดยเอนไซม์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของหน่วย กรรมพันธุ์ จากรายงานการศึกษาการเรืองแสงในจุลินทรีย์พบว่าหน่วยกรรมพันธุ์ที่ควบคุมการเรืองแสงนั้นอาจเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นได้  และหน่วยกรรมพันธุ์ใหม่นี้ทำให้เกิดเซลล์ที่ไม่อาจเรืองแสงได้ในสภาพปกติ แต่จะเรืองแสงได้ในสภาพที่เติมสารเคมี ATP แสดงว่าการกลายพันธุ์คือการสูญเสียความสามารถในการสังเคราะห์สารบางชนิดที่จำเป็นในการเรืองแสง  หรือการขาดเอนไซม์ในการสังเคราะห์สารนั้น

           ผลจากการเปรียบเทียบสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่มีการเรืองแสง  ปรากฏว่าปรากฏการณ์การเรืองแสงนี้มีในสิ่งมีชีวิตทุกลำดับขั้นวิวัฒนาการ  ตั้งแต่จุลินทรีย์ต่างๆ ที่มีเซลล์เดียวขึ้นมาถึงพวกที่มีกระดูกสันหลัง และในทุกชนิดพบว่าเป็นปฏิกิริยาชีวเคมีแบบเดียวกัน คือเป็นปฏิกิริยาที่ต้องใช้ออกซิเจนไปทำปฏิกิริยากับสารในเซลล์ โดยความควบคุมของเอนไซม์และปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสง การวิวัฒนาการเกิดขบวนการเรืองแสงนี้จึงสันนิษฐานว่าเป็นขบวนการที่เกิดในระยะแรกเริ่มของโลก  โดยเฉพาะในยุคที่โลกนี้เริ่มมีการผลิตออกซิเจนโดยขบวนการสังเคราะห์แสงของพืชสีเขียว  และเป็นขบวนการที่เกิดระยะเดียวกับที่มีการเกิดการหายใจโดยใช้ออกซิเจน การผลิตแสงเป็นการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตบางอย่างที่รอดตายจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติและอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน  เป็นการปรับตัวแบบหนึ่งที่ส่งเสริมการสืบพันธุ์  และการรอดตายจากศัตรู

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7 (บ้านเรือนของเรา)


สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7 (บ้านเรือนของเรา)




          บ้านคือที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่จะขาดเสียมิได้  บ้านที่สร้างขึ้นอย่างถูกลักษณะ  สะดวกสบาย แข็งแรง มั่นคง จะให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้ที่ใช้พักอาศัยไปได้หลายสิบปี

          ในสมัยเดิมทีเดียวนั้น   มนุษย์ได้อาศัยถ้ำเป็นที่กันแดดฝน   พายุ  ตลอดจนลูกเห็บและหิมะ แต่เมื่อมนุษย์เริ่มเจริญและสามารถใช้ความรู้ความคิดมากขึ้น  ทั้งถ้ำที่จะใช้อยู่อาศัยได้นั้นมีจำนวนไม่พอกับความต้องการ   มนุษย์ก็เริ่มออกมาอาศัยนอกถ้ำ โดยนำใบไม้ กิ่งไม้ มาทำเป็นซุ้มเป็นเพิง ซึ่งภายหลังได้ดัดแปลงมาเป็นบ้านที่ประกอบด้วยฝาผนังและหลังคา ในบางประเทศมนุษย์ได้นำดินมาปั้นเป็นแผ่นหนาๆ  ใช้ก่อทำผนัง โดยวางแผ่นดินเรียงซ้อนๆ กัน

          ต่อมาเมื่อวิทยาการเจริญขึ้น   มนุษย์รู้จักทำวัสดุก่อสร้างขึ้นหลายชนิด   เป็นต้นว่า   เมื่อนำเอาดินไปเผาที่อุณหภูมิประมาณ๙๐๐ องศาเซลเซียส จะได้อิฐ  หรือเมื่อนำดินเหนียวกับดินขาวมาบดให้ละเอียดเผากับหินปูนในเตาหมุน  (Rotary  Kiln) ที่อุณหภูมิสูง  ก็จะได้ของแข็งทั้งเม็ดใหญ่ เม็ดเล็กขนาดก้อนกรวด  (clinker)  ซึ่งเมื่อบดให้ป่น  จะได้ปูนซีเมนต์สำหรับใช้ทำคอนกรีตในการก่อสร้างตึก เราได้ใช้ซีเมนต์เป็นวัสดุก่อสร้างมาจนทุกวันนี้

          วัสดุก่อสร้างที่สำคัญมากอีกประเภทหนึ่งคือ   ไม้แปรรูปมนุษย์รู้จักโค่นไม้ใหญ่ๆ  แล้วใช้เลื่อยเลื่อยลำต้นไม้นั้นเป็นรูปเสาคาน ไม้พื้น ไม้ฝา ซึ่งนำไปใช้ก่อสร้างบ้านไม้  หรือใช้ประกอบในการก่อสร้างบ้านตึก ตามชนบทของประเทศไทยเรานั้น บ้านที่อยู่อาศัยเป็นบ้านไม้เกือบทั้งหมด   เราอาจกล่าวได้ว่า  แม้จะเป็นเขตชนบท  แต่ทุกคนก็มีบ้านอยู่  หากแต่สภาพของบ้านแตกต่างกันไปตามอัตภาพ  มีทั้งบ้านเล็กบ้านใหญ่  มีทั้งบ้านที่ใช้ช่างก่อสร้าง   เพื่อนบ้านช่วยกันก่อสร้าง  และที่เจ้าของบ้านก่อสร้างเองด้วย  บ้านจึงมีทั้งที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน

          เราอาจแบ่งบ้านเรือนตามชนบท ออกได้เป็น ๒ ประเภทตามฐานะของเจ้าของบ้าน     ถ้าเป็นผู้มีฐานะดีหรือปานกลางบ้านมักจะมีลักษณะเป็นเรือนฝากระดานที่ก่อสร้างหรือซ่อมแซมต่อเติมอย่างมีระบบ  วัสดุก่อสร้างแม้จะใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่ก็เป็นไม้แปรรูป  หลังคามุงสังกะสี   หรือกระเบื้องแผ่น  กระเบื้องลอนการออกแบบหรือก่อสร้างจะใช้ช่างผู้มีความชำนาญพอสมควร บ้านประเภทนี้มีความคงทนถาวรมากกว่าอีกประเภทหนึ่ง

          ส่วนบ้านอีกประเภทหนึ่งเป็นบ้านที่มีสภาพด้อยกว่าประเภทแรก    วัสดุก่อสร้างส่วนมากใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่ายๆรอบตัว เช่น   โครงสร้างของบ้านอาจใช้ไม้ไผ่  หรือไม้ท้องถิ่น  หรืออย่างดีก็เป็นไม้ท้องถิ่นแปรรูป  หลังคาอาจมุงด้วยจาก หญ้าคาแฝก   หรืออย่างดีก็เป็นสังกะสี   เป็นต้น     การก่อสร้างก็ไม่มีระบบ  และนับว่าไม่ได้มาตรฐาน  เจ้าของบ้านอาจเป็นผู้ก่อสร้างเอง  หรือเพื่อนบ้านช่วยกัน  ลักษณะบ้านจะมีส่วนสำคัญสำหรับป้องกันแดด  ฝน  น้ำท่วม หรือความชื้นจากพื้นดิน  ป้องกันสัตว-ภัยจำพวกกัดต่อย   รวมทั้งมดปลวกด้วย

          รูปทรงของบ้านซึ่งเป็นที่นิยมสร้างกันในชนบทของไทยมักเป็นแบบทรงไทย  มีใต้ถุนสูง  มีบันไดขึ้น   มีระเบียง   มีนอกชาน   และมีห้องหลายห้อง    บ้านแบบทรงไทยที่กล่าวนี้ ผู้อยู่จะรู้สึกเย็นสบาย  เพราะมีหลังคาสูง ความร้อนจากหลังคาก็ลงมาไม่ค่อยถึงห้องต่างๆได้ วัสดุที่ใช้ทำบ้าน  อาทิเช่น  คานตง และพื้น ใช้ไม้ทั้งสิ้น   ถ้ามุงหลังคาด้วยใบจากหรือหญ้าคา ที่สานเป็นแผงๆ  แล้วยกขึ้นไปผูกติดกับโครงหลังคา จะเย็นสบายเหมือนกัน   แต่ไม่ทนทาน  ต้องคอยซ่อมแซมอยู่เสมอ  และติดไฟได้ง่ายด้วย  ปัจจุบันจึงนิยมมุงหลังคาด้วยสังกะสีลูกฟูก หรือกระเบื้องลอน

          บ้านที่จะปลูกสร้างให้อยู่สุขสบาย มีความมั่นคง แข็งแรง และสวยงามนั้น  สถาปนิกและวิศวกรจะร่วมกันออกแบบ  ก่อนออกแบบก็จะต้องทราบถึงทิศทางลม  และแนวทางเดินของดวงอาทิตย์  ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลด้วย   เพื่อที่จะออกแบบและวางตำแหน่งบ้านให้ได้รับลมและแสงสว่างเพียงพอ   สถาปนิกเป็นผู้กำหนดรูปบ้าน  อันได้แก่   รูปทรงของบ้าน    และการจัดห้องต่างๆ  เพื่อให้ดูงามตา และผู้อยู่อาศัยได้ใช้ประโยชน์   ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด     ส่วนวิศวกรเป็นผู้คำนวณและกำหนดขนาดของฐานราก   เสา   คาน   ตง  พื้น  ตลอดจนโครงหลังคา ช่วยกันกำหนดและจัดระบบประปา   ไฟฟ้า   สุขา ตลอดจนระบบระบายน้ำทิ้ง ซึ่งรวมทั้งน้ำฝนและน้ำที่ใช้แล้ว  ให้ระบายออกไปจากบ้านอย่างถูกต้องด้วย 



ประเภทของบ้านเรือน

          บ้านที่ก่อสร้างในเมืองหรือชุมนุมชนใหญ่ๆของเรา  แบ่งได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกัน คือ
          ๑. บ้านไม้ ใช้ไม้ชนิดต่างๆ ประกอบเป็นตัวบ้านและมักใช้ไม้เนื้อแข็งแรงมาก ได้แก่  ไม้เต็ง  ไม้รัง  ไม้ตะเคียน   ทำเป็นเสา  คาน  ตง   โครงหลังคา  ส่วนไม้สัก  ไม้ตะแบก  ไม้แดงหรือไม้มะค่าที่มีเนื้อไม้งดงาม  มักจะใช้ทำพื้น   ทำวงกบประตูหน้าต่าง  ตลอดจนบานประตู  บานหน้าต่าง  ไม้ที่เนื้ออ่อน  เช่นไม้ยาง ใช้ทำฝาผนัง  มีบางบ้านที่ใช้กระเบื้องกระดาษทำฝาผนังบ้าน เพื่อให้ดูคล้ายเป็นบ้านตึก   ส่วนหลังคามุงด้วยสังกะสี หรือกระเบื้องลอน

          ๒. บ้านตึก  บ้านชนิดนี้  เสา คาน ฐานราก ใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก   ผนังก่ออิฐถือปูน   พื้นชั้นล่างมักจะเป็นพื้นคอนกรีตแล้วปูทับด้วยกระเบื้องยาง  หรือไม้ปาร์เกต์ทากาวติดแน่นกับพื้นคอนกรีต   ส่วนพื้นชั้นบนนิยมใช้พื้นคอนกรีต   หรือพื้นไม้เข้าลิ้นอัดแน่น โครงหลังคายังคงใช้ไม้เนื้อแข็งอยู่ หลังคามักมุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ หรือกระเบื้องลอนเล็ก  บ้านตึกมีราคาสูงกว่าบ้านไม้ แต่แข็งแรงทนทาน   และมีอายุใช้งานนานกว่าบ้านไม้มาก   ตึกบางหลังมีอายุร่วมร้อยปีทีเดียว

วิธีการออกแบบและก่อสร้างบ้าน

        รจัดห้องจึงต้องคิดให้รอบคอบ   ตามปกติในเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ลมจะพัดมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้   เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน   ลมจะพัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้  และบางทีก็มีลมฝนพัดมาทางทิศดังกล่าว ในฤดูหนาว ลมหนาวจะพัดมาทางทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ  ดังนั้น ห้องนอนจึงไม่ควรจัดให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะถึงฤดูหนาวจะหนาวมาก พอถึงฤดูร้อนก็จะร้อนจัด  แม้ว่าเปิดหน้า-ต่างก็ไม่ได้ลม ห้องนอนจัดเป็นห้องที่สำคัญของบ้าน ต้องออกแบบให้อยู่สบาย คือ ต้องให้ได้ลมในฤดูร้อน ห้องนอนจึงไม่ควรจัดอยู่ทางทิศตะวันตก เพราะจะร้อนเกินไป

          การวางห้องครัวก็เช่นกัน   จำเป็นต้องระวังมิให้กลิ่นอาหารที่เกิดจากการปรุงอาหารในครัวเข้าสู่เรือนใหญ่ได้  ครัวควรจะแยกจากเรือนใหญ่และควรจัดไว้ใต้ลม

          ช่องแสงสว่าง  ช่องหน้าต่าง  ประตู ต้องจัดให้มากพอ โดยปกติควรมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า  ของพื้นที่บ้าน ความสูงของขอบหน้าต่าง  ราวลูกกรงระเบียงควรจะสูงประมาณ ๐.๘๕  -๑.๐๐ เมตร ทั้งนี้เพื่อกันมิให้เด็กตกลงไปได้ง่าย  ไม้ประตูหน้าต่างควรหนาประมาณ ๑  นิ้ว - ๑  นิ้ว นิยมใช้ไม้สักทำบานประตูและหน้าต่าง    ส่วนวงกบประตูหน้าต่างใช้ขนาด ๒ x ๔ นิ้ว ทำด้วยไม้แดง ไม้ตะเคียนทอง หรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ


การเตรียมการก่อสร้าง 

          เมื่อได้แบบก่อสร้างครบเรียบร้อยแล้ว  ก็จะต้องทำการปักผังลง ณ ที่ดินที่จะทำการก่อสร้าง   เพื่อจะได้หาศูนย์กลางของเสา   การปักผังทำได้โดยใช้กล้องวัดมุมหรือใช้ฉากไม้  ตอกหลักไม้ตามมุมอาคาร ให้ห่างจากศูนย์กลางเสาประมาณ  ๑.๕๐ เมตรเพื่อใช้เป็นหลักถ่าย  แล้วจึงขึงเชือกทิ้งดิ่งลงยังศูนย์กลางของเสา เมื่อได้ขุดหลุมตอกเข็มสร้างฐานรากเสร็จแล้ว ก็สามารถหาศูนย์กลางของเสาได้จากวิธีนี้


การก่อสร้างบ้านไม้โดยทั่วไป

         เมื่อได้ทำการขุดหลุม   และได้ตอกเข็มไม้ หรือเข็มคอนกรีตตามขนาด ความยาว และจำนวนที่ต้องการแล้ว ช่างจะตั้งเสาไม้  และติดตั้งคาน และตง ทั้งชั้นล่างและชั้นบน    ต่อจากนั้นก็ติดตั้งขื่อหลังคา   แล้วจึงวางโครงหลังคา  เริ่มมุงหลังคาโดยใช้กระเบื้องลอน หรือแผ่นสังกะสี  หรือแผ่นอะลูมินัมลอน   เมื่อมุงหลังคาเสร็จแล้ว  จึงจะเริ่มติดตั้งบันไดชั้นล่างขึ้นชั้นบน   ปูพื้นไม้ ติดตั้งเคร่าฝา วงกบประตูหน้าต่าง แล้วตีฝาไม้ตามนอนหรืออาจจะตีฝาตามตั้งก็ได้ ไม้กระดานฝามักใช้ไม้ยางขนาด   นิ้ว x ๖ นิ้ว เมื่อบ้านเสร็จแล้วจึงเริ่มทาสี โดยใช้สีน้ำมันทา  ใช้สีรองพื้นชั้นหนึ่งก่อน  สีรองพื้นนี้ใช้อุดตามรูและแผลในเนื้อไม้เสร็จแล้ว จึงใช้สีน้ำมันทาทับอีก ๒ ครั้ง บ้านไม้บางหลังไม่ใช้สีน้ำมันทา แต่ใช้น้ำมันกันตัวสัตว์ทาก็มี

          การทำพื้นไม้
          ไม้กระดานพื้นนิยมปูตามความยาวของเรือน    การวางพื้นคาน และตงมักนิยมวางตามภาพ

          การทำบันไดไม้
          บันไดไม้มีบันไดพุก และบันไดเจาะ ความกว้างของขั้นบันไดไม่ควรจะน้อยกว่า   ๑.๐๐  เมตร ไม้ทำขั้นบันไดควรใช้ไม้หนา ๑  นิ้ว ขึ้นไป ความสูงและความกว้างของขั้นบันไดควรจะได้มาตรฐานเพื่อจะได้ขึ้นลงได้สะดวกสบาย

          การทำหลังคา
          หลังคามีรูปทรงแบบต่างๆ หลายแบบ ซึ่งอาจจะสรุปได้ดังนี้ คือ
          ๑) หลังคาทรงปั้นหยา
          ๒) หลังคารูปจั่ว
          ๓) หลังคารูปเพิง
          ๔) หลังคารูปโดม
          ไม้หลังคานิยมใช้ไม้เต็งรัง หรือไม้เนื้อแข็ง ระแนงควรใช้ไม้สักเพื่อกันการบิดตัว ไม้ทุกชิ้นควรได้รับการทาด้วยน้ำมันดิน (น้ำมันโซลิกนัม) ทั้งนี้เพื่อป้องกันปลวก มอด ที่จะเข้ากัดกินเนื้อไม้     ระยะห่างของไม้ระแนงหรือไม้แปขึ้นอยู่กับชนิดของกระเบื้อง   ไม้หลังคาที่ต่อกันนั้น  จะต้องต่อเฉพาะตอนที่มีไม้รองรับ จันทันก็ต้องต่อกันตรงที่รองรับจันทัน  หลังคาต้องมีช่องลมสำหรับระบายความร้อน  ซึ่งจะช่วยทำให้ห้องชั้นบนไม่ร้อนจนเกินไปเมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดด

          การทำเพดาน

          โดยทั่วไปนิยมใช้กระเบื้องกระดาษหนาประมาณ  ๔ มิลลิเมตร หรือ ๖  มิลลิเมตร   ทำฝ้าเพดาน    ส่วนกระทงฝ้า มักใช้ไม้ยางหรือไม้เนื้อแข็งขนาด  ๑   นิ้ว  x ๓ นิ้ว   วางห่างกันประมาณระยะ ๖๐ เซนติเมตร  เพื่อใช้รับกระเบื้องกระดาษ  บางครั้งก็ใช้ไม้กระดานฝาขนาด  ๖ นิ้ว x   นิ้ว ตีทำฝ้าเพดาน 



การก่อสร้างบ้านตึก

  • การสร้างฐานราก
  • การทำเสา คาน และพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก
  • การก่ออิฐและการถือปูน
  • การทำประตูหน้าต่างและวงกบ
  • การทำห้องน้ำห้องส้วม
  • การติดตั้งท่อระบายน้ำ
การสร้างฐานราก 

          ฐานรากที่ตั้งอยู่บนดินอ่อน  เช่น  ดินในกรุงเทพมหานครหรือดินในจังหวัดข้างเคียง จะต้องมีการตอกเข็มเพื่อให้เข็มรับน้ำหนักตัวบ้าน  เข็มที่ใช้ถ้าเป็นเข็มไม้จะต้องตอกให้หัวเข็มอยู่ลึก จากระดับผิวดิน ประมาณ ๑.๕๐ เมตร ทั้งนี้เพื่อให้หัวเข็มอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำใต้ดิน  เพื่อกันมิให้เข็มผุ  ถ้าใช้เข็มคอนกรีตก็อาจจะตอกเข็มให้หัวเข็มอยู่ต่ำกว่าดิน  หรือเสมอระดับดินก็ได้ เมื่อตอกเข็มแล้ว โกยเลนหัวเข็มออกประมาณ  ๒๐ เซนติเมตรแล้วใช้ทรายหยาบอัดแน่นหรืออิฐหักลงหนาประมาณ ๑๐ เซนติ-เมตร    แล้วเทคอนกรีตหยาบเพื่อทับหัวเข็ม (ส่วนผสมซีเมนต์ทราย และหิน ๑ : ๓ : ๕) ลงให้หนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตรแล้วจึงตั้งตะแกรงเหล็กฐานรากและเหล็กเสาเทคอนกรีต (ส่วนผสม ๑ : ๒ : ๔) ลงยังฐานรากให้ได้ความกว้าง ยาว และความหนาตามที่กำหนดไว้ในแบบ   เวลาเทคอนกรีตต้องคอยตักน้ำที่ซึมเข้ามาในหลุมออกอยู่เสมอ และต้องกระทุ้งคอนกรีตให้แน่นเครื่องกระทุ้งอาจใช้เหล็กเส้นหรือไม้ระแนงก็ได้  เทเสาขึ้นมาจนถึงใต้ท้องคานคอดิน ไม้แบบข้างเสาจะถอดออกได้ ภายหลังจากที่ได้เทคอนกรีตแล้วนานประมาณ ๔๘ ชั่วโมง เมื่อแกะแบบแล้วจึงกลบหลุมแต่ละหลุมด้วยดินที่ขุดกองไว้ข้างเคียง
การขุดหลุมฐานรากพร้อมเข็มที่ตอกแล้ว

การทำเสา คาน และพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก 

          วิศวกรจะเป็นผู้คำนวณหาขนาดเสา  คาน  และพื้นคอน-กรีตเสริมเหล็ก รวมทั้งเหล็กเสริมที่ใช้เป็นโครงคอนกรีตด้วย   ผู้ก่อสร้างจะต้องผูกเหล็กให้ตรงตามขนาด และมีระยะห่างเท่าที่กำหนดไว้ในแบบ   เมื่อผูกเหล็กแล้วจึงทำการปิดแบบ  ใช้ดินเหนียวหรือถุงปูนอุดยาแนวกันน้ำปูนรั่ว แล้วจึงเทคอนกรีตส่วนผสมซีเมนต์ : ทราย : หิน ๑ :  ๒ : ๔ โดยปริมาตรลงในแบบดังกล่าว  คอนกรีตที่ใช้เทนี้ต้องผสมโดยใช้น้ำให้พอเหมาะ มิให้เปียกหรือแห้งเกินไป    คอนกรีตที่เหลวเพราะใช้น้ำมากจะรับกำลังต้านทานได้น้อย  คอนกรีตที่ใช้น้ำน้อยเกินไปก็จะทำให้เทลงในแบบได้ยาก   และถ้ากระทุ้งไม่ดีพอ   เมื่อแกะแบบแล้วจะขรุขระไม่เรียบร้อย บางทีเห็นเหล็กเสริมโผล่ออกมา  มิได้จมอยู่ในคอนกรีตตามต้องการ ทำให้เสียความแข็งแรงไปและเหล็กเสริมอาจเกิดสนิมได้ด้วย

          ไม้ที่ใช้หนุนใต้ท้องคานหรือพื้นคอนกรีต  ต้องทิ้งให้หนุนคานพื้นไว้อย่างน้อย  ๔ สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อคอนกรีตจะได้มีกำลังสูงสามารถรับแรงภายนอกได้   คอนกรีตที่แข็งตัวใหม่ต้องระวังอย่าให้ถูกแดดกล้า   มิฉะนั้น   คอนกรีตอาจจะแตกร้าวเพราะการขยายตัวต้องราดน้ำวันละหลายๆครั้งด้วย  หรือจะใช้กระสอบชุบน้ำให้ชุ่มคลุมไว้  การบ่มคอนกรีตดังกล่าวควรจะกระทำอย่างน้อย ๗ วัน นับแต่คอนกรีตเริ่มแข็งตัว
ฐานรากเสาเข็ม
การก่ออิฐและการถือปูน 

          ปูนก่อใช้เป็นเครื่องยึดแผ่นอิฐแต่ละแผ่นให้ติดกันส่วนผสมของปูนก่อนั้นเขาใช้ปูนซีเมนต์  :  ปูนขาว : ทราย ในอัตราส่วน ๑:๑:๔ โดยปริมาตรผสมกับน้ำ สำหรับปูนฉาบหรือปูนถือนั้น ก็ใช้ส่วนผสมอย่างเดียวกัน  ก่อนก่ออิฐต้องนำอิฐไปจุ่มน้ำหรือราดน้ำให้เปียกชุ่มเสียก่อน  ทั้งนี้  เพื่อกันไม่ให้อิฐแย่งน้ำจากส่วนผสมของปูนก่อ ปกติเขามักจะหมักทรายกับปูนขาวไว้ค้างคืน  เมื่อถึงเวลาจะก่ออิฐหรือถือปูนจึงผสมปูนซีเมนต์ลงไป  เมื่อผสมปูนซีเมนต์กับน้ำ แล้วจะต้องใช้ให้หมดภายใน ๑ ชั่วโมง ถ้าช้ากว่านี้ปูนซีเมนต์จะเริ่มแข็งตัว ซึ่งจะนำไปใช้อีกไม่ได้

          อิฐที่ใช้ก่อสร้างทำจากดินเหนียวผสมทรายประมาณร้อยละ๑๐  ปั้นให้เป็นรูปร่าง  โดยใช้คนปั้นหรือใช้เครื่องจักร  อิฐที่ปั้นเป็นรูปแล้ว ต้องผึ่งไว้ในที่ร่ม หรือให้ถูกลมอุ่นพัดผ่านประมาณ๒ - ๓ วัน  เพื่อกันมิให้อิฐบิดตัวหรือแตกร้าวเมื่อนำไปเผา  อิฐที่แห้งแล้ว จะถูกลำเลียงเข้าไปในเตาเผาอิฐ   การเผาอิฐจะต้องเพิ่มความร้อนในเตาทีละน้อยๆ   จนอุณหภูมิในเตาเผาสูงประมาณ๘๐๐-๙๐๐ องศาเซลเซียส  เมื่อเผาด้วยอุณหภูมิสูงนานประมาณครึ่งวัน  อิฐก็จะสุก อิฐที่เย็นแล้วอาจนำมาใช้งานได้ทันที
การผูกเหล็กพื้น

การทำประตูหน้าต่างและวงกบ 

          บานประตูมักทำด้วยไม้สัก ไม้อัด หรือกระจกชนิดหนาส่วนบานหน้าต่างมักใช้ไม้สัก ไม้เนื้อแข็งหรือกระจก   วงกบประตูหน้าต่างมักใช้ไม้สัก ไม้แดง  ไม้ตะเคียนทอง หรือไม้เนื้อแข็งชนิดอื่น   ความหนาของประตูหน้าต่างที่ทำด้วยไม้ควรหนาไม่ต่ำกว่า ๑  นิ้ว ไม้วงกบควรใช้ขนาด ๒ นิ้ว x ๔ นิ้ว  เหนือประตูหน้าต่างมักติดช่องกระจกหรือช่องลม ซึ่งมีชนิดพลิกได้หรือปิดตาย  บานพับ  กลอน หูจับ ขอรับ ขอสับ ทำด้วยโลหะ
ประตู

การทำห้องน้ำห้องส้วม 

          สุขภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำมักประกอบด้วยอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ หรือที่อาบน้ำฝักบัว และที่นั่งถ่ายชนิดชักโครก  นอกจากนั้น  ยังมีกระจกเงาติดตั้งเหนืออ่างล้างหน้า  ราวสำหรับแขวนผ้า ที่วางสบู่ และที่ใส่กระดาษชำระ   พื้นห้องน้ำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กปูด้วยหินขัด  หรือมิฉะนั้นก็ใช้กระเบื้องโมเสกชนิดเล็ก  ผนังของห้องมักนิยมปูด้วยกระเบื้องเคลือบ ขนาด ๑๐เซนติเมตร  x  ๑๐ เซนติเมตร หรือ ๑๕ เซนติเมตร x ๑๕ เซนติเมตร  และปูสูงจากพื้นระยะ ๑.๕๐ เมตร น้ำชักโครกจะพาสิ่งสกปรกไหลไปยังบ่อเกรอะ  และมีท่อต่อจากบ่อเกรอะไปยังบ่อซึม น้ำอาบ น้ำล้างหน้า จะไหลไปยังท่อน้ำทิ้ง ซึ่งจะต่อเข้ากับท่อระบายน้ำ   ซึ่งระบายน้ำฝนต่อออกไปยังท่อระบายน้ำของถนนหน้าบ้าน

          เพื่อความสะดวก  ห้องน้ำชั้นบนมักจะถูกจัดไว้ให้ติดกับห้องนอน โดยมีประตูปิดระหว่างห้องทั้งสอง   บ้าน ๒ ชั้นมักมีห้องน้ำอยู่ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ห้องน้ำต้องมีช่องแสงสว่าง และช่องระบายอากาศให้อากาศถ่ายเทได้

          บ้านตามชนบท   นิยมทำห้องน้ำและห้องส้วมแบบประหยัดเสียค่าใช้จ่ายน้อย   ห้องน้ำและห้องส้วมบางบ้านก็จัดไว้เป็นห้องเดียวกัน  โดยมีผนังกั้นแยกส่วน    บางบ้านจัดแยกไว้คนละห้องพื้นห้องน้ำและห้องส้วมจะต้องทำให้สูงกว่าระดับดินบริเวณบ้านทั้งนี้เพื่อให้น้ำที่ใช้แล้วไหลไปยังบ่อพักหรือบ่อเกรอะได้รวดเร็วไม่ค้างขังอยู่ในท่อ

        เราทำพื้นห้องน้ำโดยใช้อิฐหักลงหนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตร  แล้วกระทุ้งให้แน่น   ต่อจากนั้นก็ผสมคอนกรีตส่วนผสม๑ : ๒ : ๔ เททับลงบนอิฐหัก  ให้ความหนาของพื้นอยู่ระหว่าง  ๘ - ๑๐ เซนติเมตร ในการเทคอนกรีตบางครั้งก็นิยมผูกเหล็กเป็นตะแกรง โดยใช้เหล็กขนาดศูนย์กลาง  ๖  มิลลิเมตร   ผูกระยะห่าง ๑๕  - ๒๕ เซนติเมตร ทั้งสองข้าง  วางตะแกรงเหล็กให้ต่ำจากผิวบนของคอนกรีตประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร เหล็กเสริมที่ใส่นี้จะช่วยป้องกันมิให้พื้นคอนกรีตแตกร้าวเนื่องจากการขยายตัวและหดตัว ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ บางบ้านอาจทำพื้นห้องน้ำโดยใช้ปูนทรายส่วนผสม๑:๓  เทหนาประมาณ ๕-๘ เซนติเมตร ก็ใช้ได้ ผนังห้องน้ำมักจะใช้ฝาไม้ตีติดกับเคร่าฝา จะใช้ผนังกระเบื้องกระดาษก็ได้ภายในห้องจะต้องมีก๊อกน้ำอยู่อย่างน้อย ๑ ก๊อก   และบางครั้งก็ติดตั้งฝักบัวอีก  ๑  ฝักสำหรับใช้อาบน้ำ   ส่วนก๊อกน้ำนั้นใชประโยชน์ในการนำไปใช้ในการซักฟอกเสื้อผ้า หลังคาห้องน้ำมุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื้องลอน

         สำหรับห้องส้วมแบบประหยัดนั้น  เขาจะขุดดินลงไปลึกประมาณ ๑.๐๐  - ๑.๕๐ เมตร ให้มีความกว้างประมาณ  ๘๐เซนติเมตร   ซึ่งโตพอฝังถังส้วมชนิดสี่เหลี่ยมหรือชนิดกลมได้ ตั้งแต่ ๓ - ๕ ถัง เรียงต่อกันจากก้นหลุมขึ้นมาบ่อที่กล่าวนี้เรียกว่า บ่อเกรอะ หลังจากขุดบ่อเกรอะแล้ว ช่างจะขุดบ่อซึมขึ้นมาอีกบ่อหนึ่ง โดยอยู่ใกล้กับบ่อเกรอะและมีขนาดไล่เลี่ยกันช่างปูนจะก่ออิฐโปร่งขึ้นภายในบ่อซึม สำหรับให้น้ำที่ต่อมาจากบ่อเกรอะมาถึงบ่อนี้ได้มีโอกาสซึมไปใต้ดินได้โดยทั่ว ท่อที่เชื่อมระหว่างบ่อเกรอะกับบ่อซึมนี้   อาจใช้ท่อเหล็กหรือท่อกระเบื้องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางควรโตประมาณ ๑๐  เซนติเมตร  ฝังให้ลึกจากดินประมาณ  ๒๐  - ๓๐ เซนติเมตร   สำหรับบ่อซึมนั้นจะต้องทำฝาปิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เศษดินทรายตกลงไปในบ่อได้   บ่อเกรอะนั้นก็จะเป็นส่วนที่อยู่ภายในห้องส้วม มีที่นั่งถ่ายตั้งอยู่บนฝาบ่อซึ่งเจาะรูโตไว้  พื้นห้องส้วมก็สูงจากพื้นดินประมาณ ๒๐ - ๓๐  เซนติเมตร  ส่วนที่นั่งถ่ายจะสูงจากพื้นห้องขึ้นไปประมาณ ๒๐ เซนติเมตร  เพื่อให้การรดน้ำสิ่งปฏิกูลในที่นั่งถ่ายเป็นไปโดยสะดวก   ควรจะมีการติดตั้งท่ออากาศ โดยใช้ท่อน้ำประปาโตประมาณ นิ้ว  โดยต่อเข้ากับตอนบนของบ่อเกรอะทั้งนี้เพื่อให้ก๊าซที่เกิดจากการหมักหมมของอุจจาระ ได้มีโอกาสลอดออกไปได้ ซึ่งจะเป็นการลดความดันของก๊าซในบ่อเกรอะ ทำให้น้ำที่เราราดไหลลงในบ่อเกรอะพร้อมอุจจาระได้สะดวก ภายในห้องส้วมจะมีที่ติดกระดาษชำระแขวนไว้ และมีโอ่งน้ำขนาดเล็กพร้อมขันตักน้ำชำระ

การติดตั้งท่อระบายน้ำ 

          น้ำที่ใช้ซักฟอกเสื้อผ้า   ชำระร่างกาย   ล้างถ้วยล้างชามรวมทั้งน้ำฝนที่ตกลงมาในบริเวณบ้าน  จะต้องได้รับการระบายให้ออกไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งอยู่ ๒ ข้างของถนนที่ตัดผ่านหน้าบ้านของเรา  เรามักสร้างบ่อพักน้ำเสียขึ้นชิดรั้วบ้านทางด้านติดถนน   แล้ววางท่อระบายน้ำไว้โดยรอบบริเวณบ้าน  โดยใช้ท่อโตประมาณ  ๑๕ -  ๒๐  เซนติเมตร  วางให้มีความลาดชัน ประมาณ ๑ : ๒๐๐ - ๑ : ๕๐๐ และมีบ่อพักขนาดเล็กรับน้ำเป็นช่วงๆ ช่วงหนึ่งไม่ควรยาวเกิน ๖ เมตร   บ่อพักรับน้ำนี้เป็นบ่อคอนกรีตหรือบ่อก่ออิฐโบกปูนก็ได้ ขนาดของบ่อมีขนาดวกว้างยาว ประมาณ ๓๐  เซนติเมตร  x  ๔๐  เซนติเมตร      ก้นบ่อลึกประมาณ  ๕๐  เซนติเมตร    มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมรูปร่างคล้ายหีบ  โดยมีฝาปิดบ่อพักเป็นรูปตะแกรงเหล็กรับน้ำ    ผิวบนของฝาตะแกรงเหล็กอยู่ต่ำกว่าระดับดิน ๒-๕ เซนติเมตร  เมื่อท่อระบายน้ำตันเพราะมีดินทรายเข้ามาอุด เขาก็จะเปิดฝาบ่อพักเพื่อโกยดินทรายในบ่อพักออก แล้วใช้ลวดหรือเหล็กเส้นขนาดเล็ก   ปลายข้างหนึ่งผูกเศษผ้าหรือเศษกระสอบป่านแยงไล่ดินทรายที่เข้ามาอุดในท่อ อันเป็นเหตุให้น้ำระบายไหลไม่สะดวกเมื่อดินทรายหลุดออกไปหมดแล้ว น้ำเสียในท่อก็จะไหลได้สะดวกน้ำใช้ทั้งหลายจะไหลมาทางท่อน้ำทิ้งลงไปยังบ่อพักบ่อใดบ่อหนึ่งของท่อระบายน้ำที่วางไว้รอบบ้าน    ฝนที่ตกลงยังบริเวณบ้านก็จะไหลไปลงบ่อพักเช่นเดียวกัน แล้วจะไหลมารวมกันยังบ่อพักซึ่งอยู่ชิดรั้วด้านถนน   จากนี้จึงต่อท่อระบายน้ำจากบ่อพักอันนี้ไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ

          ในกรณีที่ไม่มีท่อระบายน้ำสาธารณะฝังหน้าบ้าน เราก็อาจจะต่อท่อน้ำทิ้งดังกล่าวให้ลงไปยังคู คลอง ที่พอจะระบายน้ำทิ้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย