วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7 (บ้านเรือนของเรา)


สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7 (บ้านเรือนของเรา)




          บ้านคือที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่จะขาดเสียมิได้  บ้านที่สร้างขึ้นอย่างถูกลักษณะ  สะดวกสบาย แข็งแรง มั่นคง จะให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้ที่ใช้พักอาศัยไปได้หลายสิบปี

          ในสมัยเดิมทีเดียวนั้น   มนุษย์ได้อาศัยถ้ำเป็นที่กันแดดฝน   พายุ  ตลอดจนลูกเห็บและหิมะ แต่เมื่อมนุษย์เริ่มเจริญและสามารถใช้ความรู้ความคิดมากขึ้น  ทั้งถ้ำที่จะใช้อยู่อาศัยได้นั้นมีจำนวนไม่พอกับความต้องการ   มนุษย์ก็เริ่มออกมาอาศัยนอกถ้ำ โดยนำใบไม้ กิ่งไม้ มาทำเป็นซุ้มเป็นเพิง ซึ่งภายหลังได้ดัดแปลงมาเป็นบ้านที่ประกอบด้วยฝาผนังและหลังคา ในบางประเทศมนุษย์ได้นำดินมาปั้นเป็นแผ่นหนาๆ  ใช้ก่อทำผนัง โดยวางแผ่นดินเรียงซ้อนๆ กัน

          ต่อมาเมื่อวิทยาการเจริญขึ้น   มนุษย์รู้จักทำวัสดุก่อสร้างขึ้นหลายชนิด   เป็นต้นว่า   เมื่อนำเอาดินไปเผาที่อุณหภูมิประมาณ๙๐๐ องศาเซลเซียส จะได้อิฐ  หรือเมื่อนำดินเหนียวกับดินขาวมาบดให้ละเอียดเผากับหินปูนในเตาหมุน  (Rotary  Kiln) ที่อุณหภูมิสูง  ก็จะได้ของแข็งทั้งเม็ดใหญ่ เม็ดเล็กขนาดก้อนกรวด  (clinker)  ซึ่งเมื่อบดให้ป่น  จะได้ปูนซีเมนต์สำหรับใช้ทำคอนกรีตในการก่อสร้างตึก เราได้ใช้ซีเมนต์เป็นวัสดุก่อสร้างมาจนทุกวันนี้

          วัสดุก่อสร้างที่สำคัญมากอีกประเภทหนึ่งคือ   ไม้แปรรูปมนุษย์รู้จักโค่นไม้ใหญ่ๆ  แล้วใช้เลื่อยเลื่อยลำต้นไม้นั้นเป็นรูปเสาคาน ไม้พื้น ไม้ฝา ซึ่งนำไปใช้ก่อสร้างบ้านไม้  หรือใช้ประกอบในการก่อสร้างบ้านตึก ตามชนบทของประเทศไทยเรานั้น บ้านที่อยู่อาศัยเป็นบ้านไม้เกือบทั้งหมด   เราอาจกล่าวได้ว่า  แม้จะเป็นเขตชนบท  แต่ทุกคนก็มีบ้านอยู่  หากแต่สภาพของบ้านแตกต่างกันไปตามอัตภาพ  มีทั้งบ้านเล็กบ้านใหญ่  มีทั้งบ้านที่ใช้ช่างก่อสร้าง   เพื่อนบ้านช่วยกันก่อสร้าง  และที่เจ้าของบ้านก่อสร้างเองด้วย  บ้านจึงมีทั้งที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน

          เราอาจแบ่งบ้านเรือนตามชนบท ออกได้เป็น ๒ ประเภทตามฐานะของเจ้าของบ้าน     ถ้าเป็นผู้มีฐานะดีหรือปานกลางบ้านมักจะมีลักษณะเป็นเรือนฝากระดานที่ก่อสร้างหรือซ่อมแซมต่อเติมอย่างมีระบบ  วัสดุก่อสร้างแม้จะใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่ก็เป็นไม้แปรรูป  หลังคามุงสังกะสี   หรือกระเบื้องแผ่น  กระเบื้องลอนการออกแบบหรือก่อสร้างจะใช้ช่างผู้มีความชำนาญพอสมควร บ้านประเภทนี้มีความคงทนถาวรมากกว่าอีกประเภทหนึ่ง

          ส่วนบ้านอีกประเภทหนึ่งเป็นบ้านที่มีสภาพด้อยกว่าประเภทแรก    วัสดุก่อสร้างส่วนมากใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่ายๆรอบตัว เช่น   โครงสร้างของบ้านอาจใช้ไม้ไผ่  หรือไม้ท้องถิ่น  หรืออย่างดีก็เป็นไม้ท้องถิ่นแปรรูป  หลังคาอาจมุงด้วยจาก หญ้าคาแฝก   หรืออย่างดีก็เป็นสังกะสี   เป็นต้น     การก่อสร้างก็ไม่มีระบบ  และนับว่าไม่ได้มาตรฐาน  เจ้าของบ้านอาจเป็นผู้ก่อสร้างเอง  หรือเพื่อนบ้านช่วยกัน  ลักษณะบ้านจะมีส่วนสำคัญสำหรับป้องกันแดด  ฝน  น้ำท่วม หรือความชื้นจากพื้นดิน  ป้องกันสัตว-ภัยจำพวกกัดต่อย   รวมทั้งมดปลวกด้วย

          รูปทรงของบ้านซึ่งเป็นที่นิยมสร้างกันในชนบทของไทยมักเป็นแบบทรงไทย  มีใต้ถุนสูง  มีบันไดขึ้น   มีระเบียง   มีนอกชาน   และมีห้องหลายห้อง    บ้านแบบทรงไทยที่กล่าวนี้ ผู้อยู่จะรู้สึกเย็นสบาย  เพราะมีหลังคาสูง ความร้อนจากหลังคาก็ลงมาไม่ค่อยถึงห้องต่างๆได้ วัสดุที่ใช้ทำบ้าน  อาทิเช่น  คานตง และพื้น ใช้ไม้ทั้งสิ้น   ถ้ามุงหลังคาด้วยใบจากหรือหญ้าคา ที่สานเป็นแผงๆ  แล้วยกขึ้นไปผูกติดกับโครงหลังคา จะเย็นสบายเหมือนกัน   แต่ไม่ทนทาน  ต้องคอยซ่อมแซมอยู่เสมอ  และติดไฟได้ง่ายด้วย  ปัจจุบันจึงนิยมมุงหลังคาด้วยสังกะสีลูกฟูก หรือกระเบื้องลอน

          บ้านที่จะปลูกสร้างให้อยู่สุขสบาย มีความมั่นคง แข็งแรง และสวยงามนั้น  สถาปนิกและวิศวกรจะร่วมกันออกแบบ  ก่อนออกแบบก็จะต้องทราบถึงทิศทางลม  และแนวทางเดินของดวงอาทิตย์  ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลด้วย   เพื่อที่จะออกแบบและวางตำแหน่งบ้านให้ได้รับลมและแสงสว่างเพียงพอ   สถาปนิกเป็นผู้กำหนดรูปบ้าน  อันได้แก่   รูปทรงของบ้าน    และการจัดห้องต่างๆ  เพื่อให้ดูงามตา และผู้อยู่อาศัยได้ใช้ประโยชน์   ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด     ส่วนวิศวกรเป็นผู้คำนวณและกำหนดขนาดของฐานราก   เสา   คาน   ตง  พื้น  ตลอดจนโครงหลังคา ช่วยกันกำหนดและจัดระบบประปา   ไฟฟ้า   สุขา ตลอดจนระบบระบายน้ำทิ้ง ซึ่งรวมทั้งน้ำฝนและน้ำที่ใช้แล้ว  ให้ระบายออกไปจากบ้านอย่างถูกต้องด้วย 



ประเภทของบ้านเรือน

          บ้านที่ก่อสร้างในเมืองหรือชุมนุมชนใหญ่ๆของเรา  แบ่งได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกัน คือ
          ๑. บ้านไม้ ใช้ไม้ชนิดต่างๆ ประกอบเป็นตัวบ้านและมักใช้ไม้เนื้อแข็งแรงมาก ได้แก่  ไม้เต็ง  ไม้รัง  ไม้ตะเคียน   ทำเป็นเสา  คาน  ตง   โครงหลังคา  ส่วนไม้สัก  ไม้ตะแบก  ไม้แดงหรือไม้มะค่าที่มีเนื้อไม้งดงาม  มักจะใช้ทำพื้น   ทำวงกบประตูหน้าต่าง  ตลอดจนบานประตู  บานหน้าต่าง  ไม้ที่เนื้ออ่อน  เช่นไม้ยาง ใช้ทำฝาผนัง  มีบางบ้านที่ใช้กระเบื้องกระดาษทำฝาผนังบ้าน เพื่อให้ดูคล้ายเป็นบ้านตึก   ส่วนหลังคามุงด้วยสังกะสี หรือกระเบื้องลอน

          ๒. บ้านตึก  บ้านชนิดนี้  เสา คาน ฐานราก ใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก   ผนังก่ออิฐถือปูน   พื้นชั้นล่างมักจะเป็นพื้นคอนกรีตแล้วปูทับด้วยกระเบื้องยาง  หรือไม้ปาร์เกต์ทากาวติดแน่นกับพื้นคอนกรีต   ส่วนพื้นชั้นบนนิยมใช้พื้นคอนกรีต   หรือพื้นไม้เข้าลิ้นอัดแน่น โครงหลังคายังคงใช้ไม้เนื้อแข็งอยู่ หลังคามักมุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ หรือกระเบื้องลอนเล็ก  บ้านตึกมีราคาสูงกว่าบ้านไม้ แต่แข็งแรงทนทาน   และมีอายุใช้งานนานกว่าบ้านไม้มาก   ตึกบางหลังมีอายุร่วมร้อยปีทีเดียว

วิธีการออกแบบและก่อสร้างบ้าน

        รจัดห้องจึงต้องคิดให้รอบคอบ   ตามปกติในเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ลมจะพัดมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้   เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน   ลมจะพัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้  และบางทีก็มีลมฝนพัดมาทางทิศดังกล่าว ในฤดูหนาว ลมหนาวจะพัดมาทางทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ  ดังนั้น ห้องนอนจึงไม่ควรจัดให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะถึงฤดูหนาวจะหนาวมาก พอถึงฤดูร้อนก็จะร้อนจัด  แม้ว่าเปิดหน้า-ต่างก็ไม่ได้ลม ห้องนอนจัดเป็นห้องที่สำคัญของบ้าน ต้องออกแบบให้อยู่สบาย คือ ต้องให้ได้ลมในฤดูร้อน ห้องนอนจึงไม่ควรจัดอยู่ทางทิศตะวันตก เพราะจะร้อนเกินไป

          การวางห้องครัวก็เช่นกัน   จำเป็นต้องระวังมิให้กลิ่นอาหารที่เกิดจากการปรุงอาหารในครัวเข้าสู่เรือนใหญ่ได้  ครัวควรจะแยกจากเรือนใหญ่และควรจัดไว้ใต้ลม

          ช่องแสงสว่าง  ช่องหน้าต่าง  ประตู ต้องจัดให้มากพอ โดยปกติควรมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า  ของพื้นที่บ้าน ความสูงของขอบหน้าต่าง  ราวลูกกรงระเบียงควรจะสูงประมาณ ๐.๘๕  -๑.๐๐ เมตร ทั้งนี้เพื่อกันมิให้เด็กตกลงไปได้ง่าย  ไม้ประตูหน้าต่างควรหนาประมาณ ๑  นิ้ว - ๑  นิ้ว นิยมใช้ไม้สักทำบานประตูและหน้าต่าง    ส่วนวงกบประตูหน้าต่างใช้ขนาด ๒ x ๔ นิ้ว ทำด้วยไม้แดง ไม้ตะเคียนทอง หรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ


การเตรียมการก่อสร้าง 

          เมื่อได้แบบก่อสร้างครบเรียบร้อยแล้ว  ก็จะต้องทำการปักผังลง ณ ที่ดินที่จะทำการก่อสร้าง   เพื่อจะได้หาศูนย์กลางของเสา   การปักผังทำได้โดยใช้กล้องวัดมุมหรือใช้ฉากไม้  ตอกหลักไม้ตามมุมอาคาร ให้ห่างจากศูนย์กลางเสาประมาณ  ๑.๕๐ เมตรเพื่อใช้เป็นหลักถ่าย  แล้วจึงขึงเชือกทิ้งดิ่งลงยังศูนย์กลางของเสา เมื่อได้ขุดหลุมตอกเข็มสร้างฐานรากเสร็จแล้ว ก็สามารถหาศูนย์กลางของเสาได้จากวิธีนี้


การก่อสร้างบ้านไม้โดยทั่วไป

         เมื่อได้ทำการขุดหลุม   และได้ตอกเข็มไม้ หรือเข็มคอนกรีตตามขนาด ความยาว และจำนวนที่ต้องการแล้ว ช่างจะตั้งเสาไม้  และติดตั้งคาน และตง ทั้งชั้นล่างและชั้นบน    ต่อจากนั้นก็ติดตั้งขื่อหลังคา   แล้วจึงวางโครงหลังคา  เริ่มมุงหลังคาโดยใช้กระเบื้องลอน หรือแผ่นสังกะสี  หรือแผ่นอะลูมินัมลอน   เมื่อมุงหลังคาเสร็จแล้ว  จึงจะเริ่มติดตั้งบันไดชั้นล่างขึ้นชั้นบน   ปูพื้นไม้ ติดตั้งเคร่าฝา วงกบประตูหน้าต่าง แล้วตีฝาไม้ตามนอนหรืออาจจะตีฝาตามตั้งก็ได้ ไม้กระดานฝามักใช้ไม้ยางขนาด   นิ้ว x ๖ นิ้ว เมื่อบ้านเสร็จแล้วจึงเริ่มทาสี โดยใช้สีน้ำมันทา  ใช้สีรองพื้นชั้นหนึ่งก่อน  สีรองพื้นนี้ใช้อุดตามรูและแผลในเนื้อไม้เสร็จแล้ว จึงใช้สีน้ำมันทาทับอีก ๒ ครั้ง บ้านไม้บางหลังไม่ใช้สีน้ำมันทา แต่ใช้น้ำมันกันตัวสัตว์ทาก็มี

          การทำพื้นไม้
          ไม้กระดานพื้นนิยมปูตามความยาวของเรือน    การวางพื้นคาน และตงมักนิยมวางตามภาพ

          การทำบันไดไม้
          บันไดไม้มีบันไดพุก และบันไดเจาะ ความกว้างของขั้นบันไดไม่ควรจะน้อยกว่า   ๑.๐๐  เมตร ไม้ทำขั้นบันไดควรใช้ไม้หนา ๑  นิ้ว ขึ้นไป ความสูงและความกว้างของขั้นบันไดควรจะได้มาตรฐานเพื่อจะได้ขึ้นลงได้สะดวกสบาย

          การทำหลังคา
          หลังคามีรูปทรงแบบต่างๆ หลายแบบ ซึ่งอาจจะสรุปได้ดังนี้ คือ
          ๑) หลังคาทรงปั้นหยา
          ๒) หลังคารูปจั่ว
          ๓) หลังคารูปเพิง
          ๔) หลังคารูปโดม
          ไม้หลังคานิยมใช้ไม้เต็งรัง หรือไม้เนื้อแข็ง ระแนงควรใช้ไม้สักเพื่อกันการบิดตัว ไม้ทุกชิ้นควรได้รับการทาด้วยน้ำมันดิน (น้ำมันโซลิกนัม) ทั้งนี้เพื่อป้องกันปลวก มอด ที่จะเข้ากัดกินเนื้อไม้     ระยะห่างของไม้ระแนงหรือไม้แปขึ้นอยู่กับชนิดของกระเบื้อง   ไม้หลังคาที่ต่อกันนั้น  จะต้องต่อเฉพาะตอนที่มีไม้รองรับ จันทันก็ต้องต่อกันตรงที่รองรับจันทัน  หลังคาต้องมีช่องลมสำหรับระบายความร้อน  ซึ่งจะช่วยทำให้ห้องชั้นบนไม่ร้อนจนเกินไปเมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดด

          การทำเพดาน

          โดยทั่วไปนิยมใช้กระเบื้องกระดาษหนาประมาณ  ๔ มิลลิเมตร หรือ ๖  มิลลิเมตร   ทำฝ้าเพดาน    ส่วนกระทงฝ้า มักใช้ไม้ยางหรือไม้เนื้อแข็งขนาด  ๑   นิ้ว  x ๓ นิ้ว   วางห่างกันประมาณระยะ ๖๐ เซนติเมตร  เพื่อใช้รับกระเบื้องกระดาษ  บางครั้งก็ใช้ไม้กระดานฝาขนาด  ๖ นิ้ว x   นิ้ว ตีทำฝ้าเพดาน 



การก่อสร้างบ้านตึก

  • การสร้างฐานราก
  • การทำเสา คาน และพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก
  • การก่ออิฐและการถือปูน
  • การทำประตูหน้าต่างและวงกบ
  • การทำห้องน้ำห้องส้วม
  • การติดตั้งท่อระบายน้ำ
การสร้างฐานราก 

          ฐานรากที่ตั้งอยู่บนดินอ่อน  เช่น  ดินในกรุงเทพมหานครหรือดินในจังหวัดข้างเคียง จะต้องมีการตอกเข็มเพื่อให้เข็มรับน้ำหนักตัวบ้าน  เข็มที่ใช้ถ้าเป็นเข็มไม้จะต้องตอกให้หัวเข็มอยู่ลึก จากระดับผิวดิน ประมาณ ๑.๕๐ เมตร ทั้งนี้เพื่อให้หัวเข็มอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำใต้ดิน  เพื่อกันมิให้เข็มผุ  ถ้าใช้เข็มคอนกรีตก็อาจจะตอกเข็มให้หัวเข็มอยู่ต่ำกว่าดิน  หรือเสมอระดับดินก็ได้ เมื่อตอกเข็มแล้ว โกยเลนหัวเข็มออกประมาณ  ๒๐ เซนติเมตรแล้วใช้ทรายหยาบอัดแน่นหรืออิฐหักลงหนาประมาณ ๑๐ เซนติ-เมตร    แล้วเทคอนกรีตหยาบเพื่อทับหัวเข็ม (ส่วนผสมซีเมนต์ทราย และหิน ๑ : ๓ : ๕) ลงให้หนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตรแล้วจึงตั้งตะแกรงเหล็กฐานรากและเหล็กเสาเทคอนกรีต (ส่วนผสม ๑ : ๒ : ๔) ลงยังฐานรากให้ได้ความกว้าง ยาว และความหนาตามที่กำหนดไว้ในแบบ   เวลาเทคอนกรีตต้องคอยตักน้ำที่ซึมเข้ามาในหลุมออกอยู่เสมอ และต้องกระทุ้งคอนกรีตให้แน่นเครื่องกระทุ้งอาจใช้เหล็กเส้นหรือไม้ระแนงก็ได้  เทเสาขึ้นมาจนถึงใต้ท้องคานคอดิน ไม้แบบข้างเสาจะถอดออกได้ ภายหลังจากที่ได้เทคอนกรีตแล้วนานประมาณ ๔๘ ชั่วโมง เมื่อแกะแบบแล้วจึงกลบหลุมแต่ละหลุมด้วยดินที่ขุดกองไว้ข้างเคียง
การขุดหลุมฐานรากพร้อมเข็มที่ตอกแล้ว

การทำเสา คาน และพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก 

          วิศวกรจะเป็นผู้คำนวณหาขนาดเสา  คาน  และพื้นคอน-กรีตเสริมเหล็ก รวมทั้งเหล็กเสริมที่ใช้เป็นโครงคอนกรีตด้วย   ผู้ก่อสร้างจะต้องผูกเหล็กให้ตรงตามขนาด และมีระยะห่างเท่าที่กำหนดไว้ในแบบ   เมื่อผูกเหล็กแล้วจึงทำการปิดแบบ  ใช้ดินเหนียวหรือถุงปูนอุดยาแนวกันน้ำปูนรั่ว แล้วจึงเทคอนกรีตส่วนผสมซีเมนต์ : ทราย : หิน ๑ :  ๒ : ๔ โดยปริมาตรลงในแบบดังกล่าว  คอนกรีตที่ใช้เทนี้ต้องผสมโดยใช้น้ำให้พอเหมาะ มิให้เปียกหรือแห้งเกินไป    คอนกรีตที่เหลวเพราะใช้น้ำมากจะรับกำลังต้านทานได้น้อย  คอนกรีตที่ใช้น้ำน้อยเกินไปก็จะทำให้เทลงในแบบได้ยาก   และถ้ากระทุ้งไม่ดีพอ   เมื่อแกะแบบแล้วจะขรุขระไม่เรียบร้อย บางทีเห็นเหล็กเสริมโผล่ออกมา  มิได้จมอยู่ในคอนกรีตตามต้องการ ทำให้เสียความแข็งแรงไปและเหล็กเสริมอาจเกิดสนิมได้ด้วย

          ไม้ที่ใช้หนุนใต้ท้องคานหรือพื้นคอนกรีต  ต้องทิ้งให้หนุนคานพื้นไว้อย่างน้อย  ๔ สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อคอนกรีตจะได้มีกำลังสูงสามารถรับแรงภายนอกได้   คอนกรีตที่แข็งตัวใหม่ต้องระวังอย่าให้ถูกแดดกล้า   มิฉะนั้น   คอนกรีตอาจจะแตกร้าวเพราะการขยายตัวต้องราดน้ำวันละหลายๆครั้งด้วย  หรือจะใช้กระสอบชุบน้ำให้ชุ่มคลุมไว้  การบ่มคอนกรีตดังกล่าวควรจะกระทำอย่างน้อย ๗ วัน นับแต่คอนกรีตเริ่มแข็งตัว
ฐานรากเสาเข็ม
การก่ออิฐและการถือปูน 

          ปูนก่อใช้เป็นเครื่องยึดแผ่นอิฐแต่ละแผ่นให้ติดกันส่วนผสมของปูนก่อนั้นเขาใช้ปูนซีเมนต์  :  ปูนขาว : ทราย ในอัตราส่วน ๑:๑:๔ โดยปริมาตรผสมกับน้ำ สำหรับปูนฉาบหรือปูนถือนั้น ก็ใช้ส่วนผสมอย่างเดียวกัน  ก่อนก่ออิฐต้องนำอิฐไปจุ่มน้ำหรือราดน้ำให้เปียกชุ่มเสียก่อน  ทั้งนี้  เพื่อกันไม่ให้อิฐแย่งน้ำจากส่วนผสมของปูนก่อ ปกติเขามักจะหมักทรายกับปูนขาวไว้ค้างคืน  เมื่อถึงเวลาจะก่ออิฐหรือถือปูนจึงผสมปูนซีเมนต์ลงไป  เมื่อผสมปูนซีเมนต์กับน้ำ แล้วจะต้องใช้ให้หมดภายใน ๑ ชั่วโมง ถ้าช้ากว่านี้ปูนซีเมนต์จะเริ่มแข็งตัว ซึ่งจะนำไปใช้อีกไม่ได้

          อิฐที่ใช้ก่อสร้างทำจากดินเหนียวผสมทรายประมาณร้อยละ๑๐  ปั้นให้เป็นรูปร่าง  โดยใช้คนปั้นหรือใช้เครื่องจักร  อิฐที่ปั้นเป็นรูปแล้ว ต้องผึ่งไว้ในที่ร่ม หรือให้ถูกลมอุ่นพัดผ่านประมาณ๒ - ๓ วัน  เพื่อกันมิให้อิฐบิดตัวหรือแตกร้าวเมื่อนำไปเผา  อิฐที่แห้งแล้ว จะถูกลำเลียงเข้าไปในเตาเผาอิฐ   การเผาอิฐจะต้องเพิ่มความร้อนในเตาทีละน้อยๆ   จนอุณหภูมิในเตาเผาสูงประมาณ๘๐๐-๙๐๐ องศาเซลเซียส  เมื่อเผาด้วยอุณหภูมิสูงนานประมาณครึ่งวัน  อิฐก็จะสุก อิฐที่เย็นแล้วอาจนำมาใช้งานได้ทันที
การผูกเหล็กพื้น

การทำประตูหน้าต่างและวงกบ 

          บานประตูมักทำด้วยไม้สัก ไม้อัด หรือกระจกชนิดหนาส่วนบานหน้าต่างมักใช้ไม้สัก ไม้เนื้อแข็งหรือกระจก   วงกบประตูหน้าต่างมักใช้ไม้สัก ไม้แดง  ไม้ตะเคียนทอง หรือไม้เนื้อแข็งชนิดอื่น   ความหนาของประตูหน้าต่างที่ทำด้วยไม้ควรหนาไม่ต่ำกว่า ๑  นิ้ว ไม้วงกบควรใช้ขนาด ๒ นิ้ว x ๔ นิ้ว  เหนือประตูหน้าต่างมักติดช่องกระจกหรือช่องลม ซึ่งมีชนิดพลิกได้หรือปิดตาย  บานพับ  กลอน หูจับ ขอรับ ขอสับ ทำด้วยโลหะ
ประตู

การทำห้องน้ำห้องส้วม 

          สุขภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำมักประกอบด้วยอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ หรือที่อาบน้ำฝักบัว และที่นั่งถ่ายชนิดชักโครก  นอกจากนั้น  ยังมีกระจกเงาติดตั้งเหนืออ่างล้างหน้า  ราวสำหรับแขวนผ้า ที่วางสบู่ และที่ใส่กระดาษชำระ   พื้นห้องน้ำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กปูด้วยหินขัด  หรือมิฉะนั้นก็ใช้กระเบื้องโมเสกชนิดเล็ก  ผนังของห้องมักนิยมปูด้วยกระเบื้องเคลือบ ขนาด ๑๐เซนติเมตร  x  ๑๐ เซนติเมตร หรือ ๑๕ เซนติเมตร x ๑๕ เซนติเมตร  และปูสูงจากพื้นระยะ ๑.๕๐ เมตร น้ำชักโครกจะพาสิ่งสกปรกไหลไปยังบ่อเกรอะ  และมีท่อต่อจากบ่อเกรอะไปยังบ่อซึม น้ำอาบ น้ำล้างหน้า จะไหลไปยังท่อน้ำทิ้ง ซึ่งจะต่อเข้ากับท่อระบายน้ำ   ซึ่งระบายน้ำฝนต่อออกไปยังท่อระบายน้ำของถนนหน้าบ้าน

          เพื่อความสะดวก  ห้องน้ำชั้นบนมักจะถูกจัดไว้ให้ติดกับห้องนอน โดยมีประตูปิดระหว่างห้องทั้งสอง   บ้าน ๒ ชั้นมักมีห้องน้ำอยู่ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ห้องน้ำต้องมีช่องแสงสว่าง และช่องระบายอากาศให้อากาศถ่ายเทได้

          บ้านตามชนบท   นิยมทำห้องน้ำและห้องส้วมแบบประหยัดเสียค่าใช้จ่ายน้อย   ห้องน้ำและห้องส้วมบางบ้านก็จัดไว้เป็นห้องเดียวกัน  โดยมีผนังกั้นแยกส่วน    บางบ้านจัดแยกไว้คนละห้องพื้นห้องน้ำและห้องส้วมจะต้องทำให้สูงกว่าระดับดินบริเวณบ้านทั้งนี้เพื่อให้น้ำที่ใช้แล้วไหลไปยังบ่อพักหรือบ่อเกรอะได้รวดเร็วไม่ค้างขังอยู่ในท่อ

        เราทำพื้นห้องน้ำโดยใช้อิฐหักลงหนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตร  แล้วกระทุ้งให้แน่น   ต่อจากนั้นก็ผสมคอนกรีตส่วนผสม๑ : ๒ : ๔ เททับลงบนอิฐหัก  ให้ความหนาของพื้นอยู่ระหว่าง  ๘ - ๑๐ เซนติเมตร ในการเทคอนกรีตบางครั้งก็นิยมผูกเหล็กเป็นตะแกรง โดยใช้เหล็กขนาดศูนย์กลาง  ๖  มิลลิเมตร   ผูกระยะห่าง ๑๕  - ๒๕ เซนติเมตร ทั้งสองข้าง  วางตะแกรงเหล็กให้ต่ำจากผิวบนของคอนกรีตประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร เหล็กเสริมที่ใส่นี้จะช่วยป้องกันมิให้พื้นคอนกรีตแตกร้าวเนื่องจากการขยายตัวและหดตัว ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ บางบ้านอาจทำพื้นห้องน้ำโดยใช้ปูนทรายส่วนผสม๑:๓  เทหนาประมาณ ๕-๘ เซนติเมตร ก็ใช้ได้ ผนังห้องน้ำมักจะใช้ฝาไม้ตีติดกับเคร่าฝา จะใช้ผนังกระเบื้องกระดาษก็ได้ภายในห้องจะต้องมีก๊อกน้ำอยู่อย่างน้อย ๑ ก๊อก   และบางครั้งก็ติดตั้งฝักบัวอีก  ๑  ฝักสำหรับใช้อาบน้ำ   ส่วนก๊อกน้ำนั้นใชประโยชน์ในการนำไปใช้ในการซักฟอกเสื้อผ้า หลังคาห้องน้ำมุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื้องลอน

         สำหรับห้องส้วมแบบประหยัดนั้น  เขาจะขุดดินลงไปลึกประมาณ ๑.๐๐  - ๑.๕๐ เมตร ให้มีความกว้างประมาณ  ๘๐เซนติเมตร   ซึ่งโตพอฝังถังส้วมชนิดสี่เหลี่ยมหรือชนิดกลมได้ ตั้งแต่ ๓ - ๕ ถัง เรียงต่อกันจากก้นหลุมขึ้นมาบ่อที่กล่าวนี้เรียกว่า บ่อเกรอะ หลังจากขุดบ่อเกรอะแล้ว ช่างจะขุดบ่อซึมขึ้นมาอีกบ่อหนึ่ง โดยอยู่ใกล้กับบ่อเกรอะและมีขนาดไล่เลี่ยกันช่างปูนจะก่ออิฐโปร่งขึ้นภายในบ่อซึม สำหรับให้น้ำที่ต่อมาจากบ่อเกรอะมาถึงบ่อนี้ได้มีโอกาสซึมไปใต้ดินได้โดยทั่ว ท่อที่เชื่อมระหว่างบ่อเกรอะกับบ่อซึมนี้   อาจใช้ท่อเหล็กหรือท่อกระเบื้องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางควรโตประมาณ ๑๐  เซนติเมตร  ฝังให้ลึกจากดินประมาณ  ๒๐  - ๓๐ เซนติเมตร   สำหรับบ่อซึมนั้นจะต้องทำฝาปิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เศษดินทรายตกลงไปในบ่อได้   บ่อเกรอะนั้นก็จะเป็นส่วนที่อยู่ภายในห้องส้วม มีที่นั่งถ่ายตั้งอยู่บนฝาบ่อซึ่งเจาะรูโตไว้  พื้นห้องส้วมก็สูงจากพื้นดินประมาณ ๒๐ - ๓๐  เซนติเมตร  ส่วนที่นั่งถ่ายจะสูงจากพื้นห้องขึ้นไปประมาณ ๒๐ เซนติเมตร  เพื่อให้การรดน้ำสิ่งปฏิกูลในที่นั่งถ่ายเป็นไปโดยสะดวก   ควรจะมีการติดตั้งท่ออากาศ โดยใช้ท่อน้ำประปาโตประมาณ นิ้ว  โดยต่อเข้ากับตอนบนของบ่อเกรอะทั้งนี้เพื่อให้ก๊าซที่เกิดจากการหมักหมมของอุจจาระ ได้มีโอกาสลอดออกไปได้ ซึ่งจะเป็นการลดความดันของก๊าซในบ่อเกรอะ ทำให้น้ำที่เราราดไหลลงในบ่อเกรอะพร้อมอุจจาระได้สะดวก ภายในห้องส้วมจะมีที่ติดกระดาษชำระแขวนไว้ และมีโอ่งน้ำขนาดเล็กพร้อมขันตักน้ำชำระ

การติดตั้งท่อระบายน้ำ 

          น้ำที่ใช้ซักฟอกเสื้อผ้า   ชำระร่างกาย   ล้างถ้วยล้างชามรวมทั้งน้ำฝนที่ตกลงมาในบริเวณบ้าน  จะต้องได้รับการระบายให้ออกไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งอยู่ ๒ ข้างของถนนที่ตัดผ่านหน้าบ้านของเรา  เรามักสร้างบ่อพักน้ำเสียขึ้นชิดรั้วบ้านทางด้านติดถนน   แล้ววางท่อระบายน้ำไว้โดยรอบบริเวณบ้าน  โดยใช้ท่อโตประมาณ  ๑๕ -  ๒๐  เซนติเมตร  วางให้มีความลาดชัน ประมาณ ๑ : ๒๐๐ - ๑ : ๕๐๐ และมีบ่อพักขนาดเล็กรับน้ำเป็นช่วงๆ ช่วงหนึ่งไม่ควรยาวเกิน ๖ เมตร   บ่อพักรับน้ำนี้เป็นบ่อคอนกรีตหรือบ่อก่ออิฐโบกปูนก็ได้ ขนาดของบ่อมีขนาดวกว้างยาว ประมาณ ๓๐  เซนติเมตร  x  ๔๐  เซนติเมตร      ก้นบ่อลึกประมาณ  ๕๐  เซนติเมตร    มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมรูปร่างคล้ายหีบ  โดยมีฝาปิดบ่อพักเป็นรูปตะแกรงเหล็กรับน้ำ    ผิวบนของฝาตะแกรงเหล็กอยู่ต่ำกว่าระดับดิน ๒-๕ เซนติเมตร  เมื่อท่อระบายน้ำตันเพราะมีดินทรายเข้ามาอุด เขาก็จะเปิดฝาบ่อพักเพื่อโกยดินทรายในบ่อพักออก แล้วใช้ลวดหรือเหล็กเส้นขนาดเล็ก   ปลายข้างหนึ่งผูกเศษผ้าหรือเศษกระสอบป่านแยงไล่ดินทรายที่เข้ามาอุดในท่อ อันเป็นเหตุให้น้ำระบายไหลไม่สะดวกเมื่อดินทรายหลุดออกไปหมดแล้ว น้ำเสียในท่อก็จะไหลได้สะดวกน้ำใช้ทั้งหลายจะไหลมาทางท่อน้ำทิ้งลงไปยังบ่อพักบ่อใดบ่อหนึ่งของท่อระบายน้ำที่วางไว้รอบบ้าน    ฝนที่ตกลงยังบริเวณบ้านก็จะไหลไปลงบ่อพักเช่นเดียวกัน แล้วจะไหลมารวมกันยังบ่อพักซึ่งอยู่ชิดรั้วด้านถนน   จากนี้จึงต่อท่อระบายน้ำจากบ่อพักอันนี้ไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ

          ในกรณีที่ไม่มีท่อระบายน้ำสาธารณะฝังหน้าบ้าน เราก็อาจจะต่อท่อน้ำทิ้งดังกล่าวให้ลงไปยังคู คลอง ที่พอจะระบายน้ำทิ้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย


1 ความคิดเห็น:

  1. สิ่งที่บล็อกที่ดีคุณได้ที่นี่ โปรดอัปเดตมันบ่อยขึ้น หัวข้อนี้เป็นความสนใจของผม
    White Maple Hardwood Flooring | พื้นไม้ ต้นโอ๊ก oak พื้น ไม้

    ตอบลบ