วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 23 (การผลิตเบียร์)

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 23 (การผลิตเบียร์)



การผลิตเบียร์
          เบียร์ถือว่าเป็นเครื่องดื่มน้ำเมาชนิดหนึ่งที่ต่างจากเหล้าหรือสุรา เพราะว่าเบียร์เกิดจากการหมักส่า วิธีการหมักจะคล้ายกับกะแช่ของไทยที่ทำจากน้ำตาลสด หรืออุที่ใช้การหมักข้าวเหนียวกล้อง ส่วนเบียร์ใช้การหมักข้าวบาร์เลย์ (Barley) โดยเริ่มต้นจากการเพาะเมล็ดข้าวบาร์เลย์จนเริ่มงอก เกิดเอนไซม์ เปลี่ยนแปลงเป็นน้ำตาลเรียกว่าเป็นข้าวมอลต์ (Malt) แล้วจึงนำไปต้มด้วยความร้อนต่ำกับน้ำที่ปรับสภาพจนได้ที่แป้งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอีกขั้นหนึ่ง จากนั้นส่วนผสมที่ต้มแล้วจะถูกส่งผ่านเข้าเครื่องกรองเพื่อแยกกากข้าวมอลต์ออก เหลือส่วนที่เป็นของเหลวที่มีน้ำตาลข้าวมอลต์ละลายอยู่ เรียกว่า เวิร์ท (Wort) ซึ่งจะถูกส่งเข้าหม้อต้มแล้วจึงเติมฮ็อพ (Hop) ซึ่งเป็นดอกของพืชล้มลุก ที่ทำให้เบียร์มีรสขมกลมกล่อมปลูกกันแพร่หลายมากในทวีปยุโรป 


นิยามของเบียร์ 
          เบียร์ จัดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ เรียกว่า สุราแช่ หมายถึง มีแอลกอฮอล์เป็น ส่วนผสมโดยที่แอลกอฮอล์นั้นได้มาจากการหมัก บ่ม มิใช่โดยการกลั่น เบียร์ต่างจากไวน์ตรงที่การหมัก เบียร์เกิดจากการหมักน้ำตาลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงแป้งของเมล็ดธัญพืช หรือ ธัญชาติประเภทข้าวมอลต์ ส่วนไวน์จะเป็นการหมักน้ำตาลที่ได้จากผลองุ่น ที่เรียกว่า ไวน์องุ่นหรือการหมักน้ำตาลที่ได้จากน้ำผลไม้ ที่เรียกว่า ไวน์ผลไม้ ส่วนสุราประเภทเหล้า วิสกี้ บรั่นดีนั้นจะต้องนำแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักน้ำตาลจากเมล็ดธัญชาติ หรือผลองุ่น หรือผลไม้อื่นมาทำการกลั่นแยกเอาแอลกอฮอล์ออกมาอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียกสุราประเภทนี้ว่า สุรากลั่น ดังนั้นเบียร์จึงเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับไวน์ และเหล้าวิสกี้ หรือบรั่นดี 

องค์ประกอบของเบียร์ 
    เบียร์จะประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีปริมาณมากกว่า ๙๐เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะเป็นแอลกอฮอล์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำตาล ที่เหลือจากการหมักซึ่งเป็นพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และเกลือแร่ต่างๆ 

การจำแนกชนิดของเบียร์ 
เบียร์ดำ (Drak beer)
           เบียร์จำแนกออกได้หลายชนิดตามลักษณะการหมัก คือ จำแนกตามชนิดของเชื้อยีสต์ที่ใช้ในการหมัก ซึ่งแบ่งออกเป็น การหมักโดยใช้ยีสต์ที่ลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำเบียร์เมื่อเสร็จสิ้นการหมัก เรียกยีสต์ชนิดนี้ว่า ท็อปยีสต์ (Top yeast) เบียร์ที่ได้จากการหมักโดยใช้ยีสต์ประเภทนี้เป็นพวกวีทเบียร์ (Wheat beer) ไวท์เบียร์ (White beer) อัลท์เบียร์ (Alt beer)เคิลช์ (Koelsch) เอล (Ale) พอร์ทเทอร์ (Porter) และสเตาท์ (Stout)
           การหมักเบียร์โดยใช้ยีสต์ที่จมลงสู่ก้นถังหมักเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการหมัก เรียกยีสต์ ชนิดนี้ว่า บ็อททอมยีสต์ (Bottom yeast) เบียร์ที่ได้จากการหมักโดยใช้ยีสต์ประเภทนี้ เป็นพวกลาเกอร์เบียร์ (Lager beer) พิลเซ่นเบียร์ (Pilsen beer) เบียร์ดำ (dark beer) บ๊อคเบียร์ (Bock beer) ไอซ์เบียร์ (Ice beer) เบียร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ (Alcohol free beer) ไดเอ็ทเบียร์ (Diet beer)
           นอกจากนี้ ยังจำแนกตามสีและรสชาติของเบียร์ เช่น เบียร์ดำ ซึ่งทำมาจาก มอลต์ดำ หรือ คาราเมลมอลต์ ซึ่งทำให้เบียร์มีสีดำที่เรียกกันว่า เบียร์ดำ (Dark beer) เช่น เบียร์สเตาท์ และมีรสชาติ ตลอดจนกลิ่นหอมของน้ำตาลไหม้ บางชนิดมีรสชาติเฉพาะตัว เช่น วีทเบียร์ ซึ่งจะมีกลิ่นหอมของข้าวสาลี และมีคาร์บอนไดออกไซด์สูง บางครั้งแยกตามความหวานของน้ำตาลเมื่อเริ่มต้นการหมัก เช่น ลาเกอร์เบียร์ โดยทั่วไปจะมีน้ำตาลเริ่มต้นประมาณ ๑๑ เปอร์เซ็นต์ พิลเซ่นเบียร์ มีน้ำตาลเริ่มต้นประมาณ ๑๒ เปอร์เซ็นต์ พวกเบียร์ที่มีปริมาณ แอลกอฮอล์สูงๆ เช่น บ๊อคเบียร์ หรือสตรองเบียร์ (Strong beer) จะมีน้ำตาลเริ่มต้นประมาณ ๑๓-๑๖ เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

ประวัติการผลิตเบียร์
 
          ในเรื่องประวัติความเป็นมาของเบียร์นั้นพบว่า มีการผลิตเบียร์เป็นเครื่องดื่มมาเป็นเวลานานเกือบ ๕,๐๐๐ ปีแล้ว โดยมีการค้นพบบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแคว้นเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ราว ๒,๘๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชที่พูดถึงการแบ่งปันเบียร์และขนมปังให้กับผู้ใช้แรงงานในสมัยนั้น การทำเบียร์และบริโภคในสมัยนั้นพบว่า ใกล้เคียงกับข้อบัญญัติที่บังคับใช้ในสมัยของกษัตริย์ฮัมมูราบี (Hammurabi, ๑๗๒๘ ถึง ๑๖๘๖ ก่อนคริสต์ศักราช) แห่งแคว้นบาบิโลเนีย (Babylonia)
           สมัยอียิปต์โบราณก็พบว่า มีการผลิตเบียร์และนิยมดื่มเบียร์กันอย่างกว้างขวาง โดยการพบหลักฐานที่เป็นภาพเขียนและภาพสลักเกี่ยวกับเรื่องราวของการผลิตเบียร์บนแผ่นหิน เบียร์ของอียิปต์ผลิตขึ้นโดยเอาขนมปังที่ทำจากแป้งข้าวบาร์เลย์ที่เอาเมล็ดข้าวบาร์เลย์มาเพาะให้รากงอก แล้วเอามาป่นหยาบๆ ผสมกับน้ำปั้นเป็นก้อนต่อจากนั้นจึงเอาไปปิ้งไม่ต้องให้สุกดีแล้วเอาไปแช่น้ำหมักทิ้งค้างคืนไว้ ขนมปังจะเริ่มบูดโดยเชื้อยีสต์ในอากาศและเกิดแอลกอฮอล์ขึ้น เมื่อเอาไปกรองจะได้น้ำเบียร์สีขาวมีฟองรสเปรี้ยวใช้เป็นเครื่องดื่ม บางครั้งอาจมีการเติมสมุนไพรลงไปเพื่อทำให้มีกลิ่นหอม
           ในดินแดนของชาวอินเดียนแดง ทวีปอเมริกาใต้ ก่อนที่ชาวฝรั่งผิวขาวจะยึดครอง พบว่า ชาวอินเดียนแดงรู้จักผลิตสุราโดยใช้แป้งข้าวโพดมาทำเป็นส่าหมัก
           ในทวีปยุโรป เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันในชนชาติเยอรมัน ซึ่งในสมัยก่อนจะผลิตกันภายในครอบครัวเหมือนการเตรียมอาหารประจำวันโดยสตรีจะมีหน้าที่ผลิตด้วยวิธีการง่ายๆ ต่อมาการผลิตเบียร์ได้กระจายเข้าไปมีบทบาทในศาสนาคริสต์ โดยมีการผลิตในปริมาณมากขึ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้มาร่วมงานทางศาสนา
           ชาวเยอรมันในสมัยโบราณรู้จักผลิตเบียร์ขึ้นก่อนประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป และตั้งชื่อของสุราประเภทที่ผลิตด้วยแป้งจากข้าวบารเลย์ที่เพาะให้รากงอกแล้วนำมาคั่ว บด ต้ม และนำไปหมักว่า บิเออร์ (Bior) เครื่องดื่มบิเออร์นี้มีรสเปรี้ยวอมหวานและใช้บริโภคเป็นอาหารประจำวันหลักฐานทางโบราณคดียังพบว่า เมื่อนำกากแห้งที่ติดอยู่ในภาชนะดินเผาซึ่งขุดพบในซากเมืองโบราณมาวิเคราะห์จะพบว่า มีเบียร์ดีกรีสูงที่ผลิตจากข้าวสาลีผสมน้ำผึ้ง เบียร์ชนิดนี้ เรียกว่า อโล (Alo) ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาเป็น เอล (Ale) ในยุคต่อมา
           ในสมัยก่อนมีการนำพืชชนิดต่างๆ ที่มีกลิ่นหอม เช่น เครื่องเทศ และดอกไม้แห้งมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วใส่ลงไปเพื่อให้เบียร์มีกลิ่นหอม ต่อมาในศตวรรษที่ ๑๔ มีการนำดอกฮ็อพมาใช้เป็นส่วนผสมสำคัญของการทำเบียร์เพื่อให้มีกลิ่นหอมดังกล่าว รสและกลิ่นหอมของดอกฮ็อพเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค จึงนิยมกันอย่าง
           แพร่หลายมาก จนดอกฮ็อพกลายเป็นของมีค่ามีราคาสูง และนิยมปลูกกันมาก
           ในศตวรรษที่ ๑๕ พบว่า วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตเบียร์มีปริมาณน้อยลง เนื่องจากผลกระทบจากสภาพธรรมชาติทำให้เก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์และฮ็อพได้น้อย จึงมีการนำพืชชนิดอื่น มาใช้แทนฮ็อพ ขณะเดียวกันก็มีการนำธัญชาติอื่นที่ใช้สำหรับทำขนมปังมาใช้แทนข้าวบาร์เลย์ ดังนั้น ในปี ค.ศ. ๑๕๑๖ จึงมีการตั้งกฎแห่งความบริสุทธิ์ (Purity law) ในประเทศเยอรมนี เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์ต้องใช้เฉพาะข้าวมอลต์ ฮ็อพ และน้ำ เท่านั้นสำหรับการผลิตเบียร์เหตุผลก็คือ ต้องการให้ผู้บริโภคได้รับความยุติธรรมในเรื่องของราคาและคุณภาพเมื่อใช้วัตถุดิบที่เหมือนกัน และยังใช้กฎนี้มาจนทุกวันนี้กฎดังกล่าวมิได้กำหนดบังคับใช้ในประเทศอื่น ดังนั้นจึงมีการนำเอาข้าวเจ้า ข้าวโพด มัน หรือน้ำตาลมาใช้เป็นส่วนผสมปนกับข้าวมอลต์ในการผลิตเบียร์ 


ประวัติการผลิตเบียร์ในประเทศไทย 
           ส่วนประวัติของอุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศไทยนั้นได้เริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระปรีชาญาณในด้านเศรษฐกิจ พาณิชยกรรมและธุรกิจเป็นอย่างสูง ทรงปรารถนาที่จะให้คนไทยดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน จึงทรงดำเนินนโยบายมุ่งส่งเสริมคนไทยให้ได้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่สำคัญต่างๆ
           ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งมีพระยาโกมารกุลมนตรี เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอยู่ในขณะนั้น พร้อมทั้งทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยเห็นว่า เบียร์เป็นสินค้าที่ชาวต่างประเทศได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศสยามนานแล้ว ทำให้มีเงินออกนอกประเทศมาก ถ้าสามารถผลิตขึ้นได้เองก็จะป้องกันเงินออกนอกประเทศ และประหยัด รวมทั้งได้ประโยชน์ที่จะสามารถขายได้ราคาถูกกว่า สามารถใช้ปลายข้าวแทนข้าวมอลต์ ทำให้กรรมกรไทยมีงานทำ
           ความคิดที่จะผลิตเบียร์ขึ้นเองของพระยาภิรมย์ภักดีนั้น เนื่องมาจากพระยาภิรมย์ภักดี  มีกิจการเดินเรือเมล์ระหว่างตลาดพลูกับท่าเรือราชวงศ์โดยใช้ชื่อว่า บริษัทบางหลวง จำกัด ต่อมารัฐบาลได้เริ่มสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและตัดถนนเชื่อมตลาดพลูและประตูน้ำภาษีเจริญซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่พระยาภิรมย์ภักดีมีกิจการเดินเรืออยู่ ทำให้ไม่สามารถเดินเรือได้จึงต้องหาหนทางขยับขยายกิจการเดินเรือไปทำกิจการค้าอย่างอื่นเพื่อรองรับ เมื่อศึกษาเห็นว่าเบียร์สามารถผลิตในประเทศเขตร้อนได้ จึงได้เริ่มโครงการที่จะตั้งโรงงานผลิตเบียร์ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อยื่นเรื่องขออนุญาตต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแล้ว ทำให้มีการพิจารณากันอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้มาก่อน โดยเฉพาะในเรื่องการพิจารณาภาษีเบียร์ ซึ่งครั้งแรกกำหนดให้เสียภาษีลิตรละ ๖๓ สตางค์ ระหว่างที่รอการอนุญาตจากทางรัฐบาล พระยาภิรมย์ภักดีได้เดินทางไปเมืองไซ่ง่อน ประเทศอินโดจีน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อศึกษาแบบแปลนเครื่องจักรตลอดจนวิธีผลิตเบียร์ หลังจากรัฐบาลพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์และการเก็บภาษีเบียร์ผ่านไปประมาณ ๑ ปี จึงได้อนุญาตให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ได้ แต่ห้ามการผูกขาด และให้คิดภาษีเบียร์ในปีแรกลิตรละ ๑ สตางค์ ปีที่สองลิตรละ ๓ สตางค์ปีที่สามลิตรละ ๕ สตางค์ ส่วนปีต่อๆ ไปจะพิจารณาตามที่เห็นสมควร
           ต่อมาประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ กระทรวงมุรธาธร โดยพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลละอองธุลีพระบาท ความว่า ได้รับรายงานจากกรมสรรพสามิตว่า นายลักกับนายเปกคัง ยี่ห้อทีเคียวได้ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ขึ้นจำหน่ายในพระราชอาณาเขต โดยรับรองว่า จะผลิตเบียร์ชนิดที่ทำด้วยฮ็อพและมอลต์ชนิดเดียวกับเบียร์ต่างประเทศ โดยจะผลิตประมาณ ๑๐,๐๐๐ เฮกโตลิตรต่อปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชกระแสว่า"เป็นเรื่องแย่งกับพระยาภิรมย์ และถ้าให้ทำก็คงทำสำเร็จก่อนพระยาภิรมย์ภักดี เพราะฉะนั้นคนที่เริ่มคิดก่อนและเป็นพ่อค้าไทยกลับจะต้องฉิบหายและทำไม่สำเร็จ"ทรงเห็นว่าไม่ควรอนุญาต "พระยา-ภิรมย์ขอทำก่อน ได้อนุญาตไปแล้ว เวลานี้ยังไม่ควรอนุญาตให้ใครทำอีกเพราะจะมีผล ๒ อย่างคือ ๑. คนไทยกินเบียร์กันท้องแตกตายหมดเพราะจะแย่งกันขายลดราคาแข่งกัน ๒. คงมีใครฉิบหายคนหนึ่ง ถ้าหากไม่ฉิบหายกันหลายคน" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตร-สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้กราบบังคมทูลสนับสนุนว่า"ไม่ควรอนุญาตให้ผลิตในเวลานี้ ควรรอดูว่า พระยาภิรมย์จะทำสำเร็จหรือไม่ และคอยสังเกตเรื่องการบริโภคก่อน นอกจากนั้นผู้ขออนุญาตรายนี้เป็นคนต่างด้าวจึงสามารถที่จะอ้างได้ว่า ต้องอุดหนุนคนไทยและอุตสาหกรรมที่มีทุนไทยก่อน" ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังตอบว่า"ยังไม่ให้อนุญาต รัฐบาลได้อนุญาตไปรายหนึ่งแล้วต้องรอดูก่อนว่าจะได้ผลอย่างไร เพราะเรื่องนี้สำคัญสำหรับความสุขของราษฎร และฝ่ายพระยาภิรมย์จะใช้ข้าว และผลพลอยได้ (Byproduct) ของข้าวด้วยฝ่ายรายที่ขออนุญาตใหม่ไม่ใช้ข้าวเลย"
 
          มีข้อที่น่าสังเกตที่พระยาวิษณุบันทึกไว้ว่า
           ๑. ที่จะอนุญาตให้พระยาภิรมย์นั้น ดูมีพระราชประสงค์จะอุดหนุนการตั้งโรงงานของไทย
           ๒. อัตราภาษี รายพระยาภิรมย์นั้นเป็นทำนองรัฐบาลให้เป็นพิเศษแก่พระยาภิรมย์ผู้เริ่มคิด ให้ได้ตั้งต้นได้โดยใช้อัตราทั่วไป
           ๓. รายใหม่นี้ในเงื่อนไขไม่ได้กำหนดภาษีลงไป แต่คลังรายงานเป็นทำนองว่า จะเก็บภาษีอัตราเดียวกับที่จะเก็บจากพระยาภิรมย์
      ๔. แม้ตกลงไม่ให้โมโนโปลี (Monopoly) แก่พระาภิรมย์ภักดีก็เคยมีพระราชดำริอยู่ว่า ชั้นนี้ควรอนุญาตให้พระยาภิรมย์ทำคนเดียวก่อน ถ้าให้หลายคนก็เป็น อิคอนอมิก ซูอิไซด์ (Economic suicide)
 
          จึงนับได้ว่า กรณีการส่งเสริมการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ เป็นพระบรมราชโองการส่งเสริมการลงทุนฉบับแรกของเมืองไทย ก่อนที่จะมีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรม ใน พ.ศ. ๒๕๐๑
           เมื่อได้รับอนุญาตจากทางรัฐบาลให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์แล้ว  พระยาภิรมย์ภักดีจึงเดินทางไปยุโรปเพื่อซื้อเครื่องจักรในการผลิตเบียร์แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทางรัฐบาลไทยไม่ยอมให้เสียภาษีตามพิกัดเดิมที่ตกลงกันไว้กับรัฐบาลเก่า แต่ได้ตกลงกันให้เสียภาษีในอัตราลิตรละ ๑๐ สตางค์ เมื่อประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากนั้นจึงได้สร้างโรงงานขึ้นบริเวณที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางกระบือ โดยขอเช่าจากเจ้าพระยารามราฆพ ต่อมาจึงได้ขอซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ ขณะทำการก่อสร้างนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเสด็จฯ
           มาชมการก่อสร้างโรงงานถึงสองครั้ง พระยาภิรมย์ภักดีตั้งใจว่า จะตั้งชื่อบริษัทขณะที่จัดรูปแบบของบริษัทอยู่นั้นว่าบริษัทเบียร์สยาม แต่ถูกทักท้วงว่า ในบ้านเมืองนี้อะไรก็ชื่อสยามทั้งนั้นจึงตัดสินใจเอาชื่อของตนเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัทโดยให้ชื่อว่าบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เบียร์ไทยที่ผลิตออกมาครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๗นั้นได้นำไปทดลองดื่มกันในงานสโมสรคณะราษฎร์เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา-นริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงเปิดป้ายบริษัทเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เบียร์รุ่นแรกที่ผลิตออกมาและวางจำหน่ายในราคาขวดละ ๓๒ สตางค์นั้นมีเครื่องหมายการค้าอยู่หลายตรา คือ ตราหมี ตราสิงห์แดง ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ทองตราว่าวปักเป้า ตรากุญแจตรารถไฟ และตราสิงห์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นตราอะไรก็ตาม ชาวบ้านสมัยนั้นมักจะเรียกรวมกันไปว่า "เบียร์เจ้าคุณ"
ส่วนผสม 
          ส่วนผสม ในการทำเบียร์นั้นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้คือ
          - ข้าวมอลต์ (Malt)
          - น้ำ  
          - ดอกฮ็อพ (Hop)
          - ยีสต์ (Yeast) 

ข้าวมอลต์ 
          ข้าวมอลต์ ได้มาจากข้าวบาร์เลย์ ซึ่งเป็นธัญพืชที่นิยมปลูกในประเทศที่มีภูมิอากาศเย็นจะมีการปลูกกันมากในประเทศทางทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย อังกฤษ ไอร์แลนด์ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนิยมปลูกในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประเทศทางทวีปเอเชียก็มีการปลูกกันมากในประเทศจีน ส่วนประเทศไทยมีการนำสายพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ เข้ามาปลูกในแถบภาคเหนือ ซึ่งมีภูมิอากาศเย็น มีการส่งเสริมการปลูกข้าวบาร์เลย์ แต่ยังมีปริมาณไม่มากและไม่แพร่หลายเหมือนในประเทศอื่นๆ ที่กล่าวข้างต้น ข้าวบาร์เลย์ที่เก็บเกี่ยวแล้ว จะนำไปเปลี่ยนสภาพให้เป็นข้าวมอลต์ในโรงงานทำมอลต์ที่เรียกว่า มอลต์เทอรี่ (Maltery) ส่วนผู้ที่มีหน้าที่ในการทำข้าวบาร์เลย์เป็นข้าวมอลต์ เรียกว่า มอลต์สเตอร์ (Maltster) ในขั้นตอนแรกจะนำข้าวบาร์เลย์ไปแช่น้ำที่อุณหภูมิประมาณ ๔๕ องศาเซลเซียส เพื่อให้เมล็ดได้รับความชื้นพร้อมกับได้รับออกซิเจน ซึ่งจะทำให้เซลล์ (Cells)ของเมล็ดได้รับการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการงอกของรากอ่อนและใบอ่อน ต่อจากนั้นจึงถ่ายน้ำออกแล้วนำเมล็ดข้าวบาร์เลย์ไปผึ่งบนตะแกรงซึ่งมีการเป่าลมที่มีความเย็นประมาณ ๑๘ องศาเซลเซียส ไปที่เมล็ดข้าว ในช่วงนี้รากอ่อนและใบอ่อนจะงอกจากเมล็ด ทิ้งไว้ให้มีการงอกของรากอ่อนยาวประมาณ ๒ ใน ๓ ถึง ๓ ใน ๔ ของเมล็ด แล้วจึงนำเมล็ดข้าวไปอบให้แห้งอย่างช้าๆ ที่อุณหภูมิประมาณ ๕ องศาเซลเซียส การอบจึงจะแล้วเสร็จ ข้าวที่อบเสร็จแล้วนี้เรียกว่า ข้าวมอลต์ ซึ่งจะนำไปขัดเอารากอ่อนและใบอ่อนออก การอบให้แห้งนั้น อุณหภูมิของการอบจะเป็นตัวชี้ว่า ข้าวมอลต์ที่อบแล้วจะเป็นข้าวมอลต์ประเภทใด เช่น ถ้าอบที่อุณหภูมิ ๑๒๐ องศาเซลเซียส จะทำให้เปลือกข้าวและเมล็ดเป็นสีดำจึงเรียกข้าวมอลต์ชนิดนี้ว่า มอลต์ดำ (black malt) หรือ คาราเมลมอลต์ (caramel malt) เป็นต้น 

น้ำ 
          น้ำ เป็นวัตถุดิบที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากเบียร์มีส่วนประกอบที่เป็นน้ำมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ คุณภาพของน้ำที่ใช้สำหรับการผลิตเบียร์ขึ้นอยู่กับลักษณะของเบียร์ที่จะผลิต ความอ่อน ความกระด้างของน้ำ จะมีผลต่อรสชาติของเบียร์ หรือมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เป็นต้นว่า สารที่ให้ความขมที่มีอยู่ในดอกฮ็อพ จะให้ความขมแก่เบียร์ได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความกระด้างและค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ 


ดอกฮ็อพ 
          ดอกฮ็อพ เป็นพืชล้มลุกประเภทไม้เลื้อยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Humulus lupulus นิยมปลูกกันมากในประเทศแถบยุโรป เช่น ประเทศเยอรมนี อังกฤษ สาธารณรัฐเชค นอกจากนี้มีในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ ในแถบเอเชียจะมีการปลูกฮ็อพในประเทศจีนและญี่ปุ่น
 
          การใช้ฮ็อพในการผลิตเบียร์นั้น มีจุดประสงค์อยู่ด้วยกัน ๓ อย่าง คือ
           ๑. เพื่อให้ได้รสขม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเครื่องดื่มประเภทเบียร์ที่โคนกลีบดอกของดอกฮ็อพจะมีอับละอองเรณู ลักษณะสีเหลืองใสๆ ติดอยู่ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีจะสามารถให้ความขมออกมาได้
           ๒. เพื่อช่วยให้โปรตีนตกตะกอนเร็วขึ้น ในกลีบดอกของดอกฮ็อพจะมีสารที่เรียกว่าโพลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาจับตัวกับโปรตีน  ซึ่งมีอยู่ในเวิร์ท ทำให้โปรตีนตกตะกอนเร็วขึ้นและทำให้เบียร์ใส
           ๓. เพื่อช่วยให้เบียร์มีกลิ่นหอม บริเวณอับละอองเรณูของดอกฮ็อพจะมีสารเหนียวๆ และให้กลิ่นหอมอยู่ด้วย เป็นพวกน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) ซึ่งจะให้กลิ่นหอมที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวแก่เบียร์
 
          ชนิดของดอกฮ็อพที่นิยมปลูกกันนั้นแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดที่ให้รสขม (Bitter hops) และชนิดที่ให้กลิ่นหอม (Aroma hops) ฮ็อพที่ดีและมีชื่อเสียงมากเป็นฮ็อพที่ให้กลิ่นหอมชื่อ ซาซ (Saaz) มีถิ่นที่มาจากประเทศสาธารณรัฐเชค ในสมัยก่อนจะใส่ฮ็อพทั้งดอกลงไปในการทำเบียร์ปัจจุบันมีการอัดให้เป็นเม็ดเล็กๆ หรือสกัดเอาความขมและน้ำมันหอมระเหยออกมาใช้เพื่อสะดวกในการขนส่ง 

ยีสต์ 
          ยีสต์ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ส่า จัดเป็นจุลินทรีย์ประเภทรา  ที่สามารถใช้น้ำตาลจากมอลต์เป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและเพิ่มประชากร การใช้น้ำตาลเป็นอาหารของยีสต์ทำให้เกิดการเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นแอลกอฮอล์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเรียกว่า การหมัก ขณะเดียวกันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย
           ยีสต์ที่ใช้เป็นส่าสำหรับหมักเบียร์นั้น แบ่งออกได้ ๒ ชนิดคือ ยีสต์ชนิดลอย หรือ ท็อป ยีสต์ และยีสต์ชนิดจม หรือ บ็อททอมยีสต์ 

กรรมวิธีการผลิต 
          กรรมวิธีการผลิต  การผลิตเบียร์เริ่มจากการนำข้าวมอลต์มาบดให้เมล็ดแตก พร้อมทั้งใส่น้ำผสมลงไปในถังผสมถังผสมต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตเบียร์ในสมัยก่อนนั้น นิยมทำด้วยทองแดง เนื่องจากทองแดงเป็นวัสดุที่สามารถนำมาดัดเพื่อให้ได้รูปทรงที่สวยงามต่างๆ ได้ง่าย ตัวทองแดงเองนอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังเป็นตัวนำความร้อนที่ดี ทำให้ความร้อนสามารถผ่านไปที่ของผสมในถังผสมได้เร็วขึ้น ปัจจุบันทองแดงมีราคาแพงขึ้นมาก หาวัสดุได้น้อยลงและจะต้องเสียเวลาบำรุงรักษามากจึงมีการคิดค้นนำวัสดุสแตนเลสมาทำเป็นถังผสมสำหรับผสมข้าวและต้มเบียร์ ซึ่งนอกจากราคาจะถูกกว่าทองแดงแล้ว ยังสามารถทำความสะอาดด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งประหยัด ปลอดภัย และไม่เสียเวลาในการดูแลรักษามากนัก 
          เมื่อผสมข้าวและน้ำลงไปในถังผสมแล้วจึงให้ความร้อนที่เหมาะสม เพื่อให้เอนไซม์ที่มีอยู่ในข้าวมอลต์ เปลี่ยนแป้งไปเป็นน้ำตาลมอลโตส (Maltose) หลังจากนั้นจึงแยกเอาของเหลวออกจากกากข้าว ของเหลวดังกล่าวเรียกว่า เวิร์ท (Wort) ซึ่งจะมีความหวานของน้ำตาลมอลโตสอยู่จากนั้นจึงต้มเวิร์ทให้เดือดพร้อมทั้งใส่ดอกฮ็อพเมื่อต้มเวิร์ทจนได้ที่แล้วจะปล่อยให้ตกตะกอนก่อน หลังจากนั้นจึงทำให้เย็นลงพร้อมทั้งใส่ยีสต์และเติมลมเพื่อการเจริญของยีสต์ แล้วนำไปหมักในถังหมัก อุณหภูมิของการหมักขึ้นอยู่กับชนิดของเบียร์และชนิดของยีสต์ที่ใช้ โดยทั่วไป ถ้าใช้ท็อปยีสต์จะหมักที่ประมาณ ๒๐-๒๒ องศา เซลเซียส ถ้าใช้บ็อททอมยีสต์ จะหมักที่ประมาณ ๘-๑๓ องศาเซลเซียส การหมักจะใช้เวลาประมาณ ๕ วัน สำหรับท็อปยีสต์ ส่วนบ็อททอมยีสต์ใช้เวลา ๗-๑๐ วัน
           หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการหมักแล้วจึงแยกยีสต์ออก เบียร์ที่ได้ในช่วงนี้เรียกว่า กรีนเบียร์ (Green beer) หรือ ยังเบียร์ (Youngbeer) ซึ่งจะต้องนำไปเก็บบ่มต่อไปอีกระยะหนึ่งโดยการควบคุมความเย็นและแรงดันภายในถังบ่มเพื่อให้เบียร์ใสขึ้นและมีรสชาติที่กลมกล่อมหลังจากนั้นนำไปกรองเพื่อแยกเอาตะกอนแขวนลอยและยีสต์ที่ตกค้างออก จึงจะได้เบียร์ที่ใสพร้อมดื่ม เบียร์ที่กรองพร้อมดื่มแล้วนี้เรียกกันว่า ดราฟท์เบียร์ (Draught beer) หรือที่บ้านเรานิยมเรียกว่า เบียร์สด ซึ่งในสมัยก่อนจะมีการบรรจุลงถังไม้ (Barrel) ต่อมามีการนำถังที่เป็นวัสดุอะลูมิเนียมมาแทนถังไม้ เนื่องจากไม้มีน้ำหนักมาก ยากต่อการดูแลรักษาไม่ให้มีการตกกระแทก และผุเปื่อยไปตามเวลา แต่ก็พบว่าผิวของอะลูมิเนียมเมื่อสัมผัสกับเบียร์ซึ่งมีสภาพเป็นกรดเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการกัดกร่อนเป็นรูพรุน จึงมีการคิดค้นเอาวัสดุสแตนเลส มาทำเป็นถังสำหรับใส่เบียร์สดแทน โดยเรียกถังชนิดนี้ว่า เค้ก (Keg) ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งเคลื่อนย้ายและบำรุงรักษา ตลอดจนการล้างทำความสะอาด แสงสว่างซึ่งมีอัลตราไวโอเลต (UV)สามารถทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับเบียร์ได้ มีผลทำให้สีของเบียร์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการบรรจุเบียร์ลงในภาชนะที่เป็นขวด จึงนิยมใช้ขวดที่มีสี เช่น สีน้ำตาล หรือสีเขียว ซึ่งจะช่วยป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตผ่านได้
           เบียร์บางชนิดไม่นิยมกรองให้ใส แต่จะนิยมดื่มโดยยังมียีสต์ปนอยู่ด้วย เช่น วีทเบียร์ นิยมดื่มกันมากในรัฐบาวาเรีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี

คุณค่าของเบียร์ 
          เบียรเป็นเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งมาจากวัตถุดิบทั้งหลายที่มาจากธรรมชาติ จึงทำให้เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ทางด้านโภชนาการ นอกจากจะช่วยดับกระหายแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ปริมาณแอลกอฮอล์และคาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่ในเบียร์จะให้พลังงานต่อร่างกายการดื่มเบียร์ ๑ ลิตร จะได้รับพลังงานประมาณ ๔๔๐ กิโลแคลอรี่ แอลกอฮอล์ยังช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในเบียร์ยังช่วยกระตุ้นน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารทำให้ช่วยย่อยอาหารได้ดี ส่วนประกอบจากดอกฮ็อพและเกลือโพแทสเซียมยังช่วยในการขับถ่ายปัสสาวะและชะล้างไต เบียร์ยังช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียดทางประสาท ทำให้เกิดการตื่นตัว ในเบียร์ยังประกอบด้วยวิตามินที่มีคุณค่าหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินบี ๑ และวิตามินบี ๒ นอกจากนั้นเบียร์ยังมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย รวมทั้งเกลือแร่ต่างๆ เช่น แคลเซียมซึ่งช่วยป้องกันโรคหัวใจ แมกนีเซียมซึ่งจะช่วยควบคุมระดับคอเลสเทอรอล และเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ฟอสเฟต ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก ฟัน และเป็นตัวช่วยสะสมพลังงาน นอกจากเกลือแร่ ดังกล่าวแล้ว ยังมีพวกโซเดียมซัลเฟต โซเดียมคลอไรด์ และโซเดียมไนเทรต เป็นต้น
          นับว่าเบียรเป็นเครื่องดื่มที่มีมานานแล้ว และมีการศึกษาค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์อย่างสม่ำเสมอ จนทำให้การดื่มเบียร์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและรู้จักกันไปทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมเบียร์ขยายใหญ่ขึ้น จากทวีปยุโรปเข้าไปในทวีปอเมริกา และแพร่หลายเข้ามาในทวีปเอเชีย ในประเทศไทยก็เช่นกัน อุตสาหกรรมเบียร์มีการขยายตัวอย่างมากในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา เมื่อศึกษารายได้ประชากรในระยะเวลาดังกล่าว พบว่าประชากรมีรายได้สูงขึ้น ทำให้มีการดื่มเบียร์เพิ่มขึ้น การขยายตัวของอุตสาหกรรมเบียร์จึงใช้บอกถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นยังส่งผลให้เกิดการขยายตัวในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมขวด อุตสาหกรรมกระป๋องและอุตสาหกรรมกล่องกระดาษอีกด้วย

ที่มา : http://guru.sanook.com/encyclopedia/การผลิตเบียร์

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 1 (ปลา)

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 1 (ปลา)




   ประเทศไทย มีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เป็นอาหารประเทศหนึ่งในโลก นับตั้งแต่โบราณกาลตลอดมา ประเทศของเรามีผักปลาและอาหารอย่างบริบูรณ์ จะเห็นได้จากข้อความที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ซึ่งปรากฏบนศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในสมัยเจ็ดร้อยปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาก็เป็นชาวประมงโดยปริยาย จับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ เป็นต้น เพื่อใช้บริโภคกันในครอบครัว ส่วนที่เหลือก็นำไปแลกเปลี่ยนหรือขาย ทำให้เขาเหล่านั้นดำรงชีพอยู่ด้วยความสงบมีสันติสุขโดยทั่วไป ส่วนประชาชนซึ่งอยู่ตามจังหวัดชายทะเล ๒๓ จังหวัดของประเทศของเรา ส่วนใหญ่ยังดำรงชีพอยู่ด้วยการทำการประมง เมื่อ ๖๐ ปีก่อน การประมงทะเลของประเทศเราเป็นการประมงแบบชายฝั่ง ชาวประมงจับปลาด้วยเครื่องมือประจำที่ชนิดต่างๆ เช่น ลอบ โพงพาง หรือโป๊ะ เป็นต้น ในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา ภายหลังที่ได้มีการพัฒนาการประมงโดยทั่วไป ชาวประมงของประเทศรู้จักใช้เครื่องมือจับปลาที่ทันสมัยขึ้น เป็นเครื่องมือเคลื่อนที่ เช่น อวนลอย และ อวนล้อมจับชนิดต่างๆ และในรอบยี่สิบห้าปีที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้อวนลากทำการประมงในทะเล ทำให้กิจการประมงของประเทศเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปริมาณปลาที่จับได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายทำให้บังเกิดผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศของเรา ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศของเรา

ต้นกำเนิดของปลา
            นักวิทยาศาสตร์สามารถสืบหาค้นคว้าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของปลาได้ โดยการตรวจดูซากปลาโบราณที่ปรากฏในหินชั้นต่างๆ และสามารถจะคำนวณอายุความเก่าได้ นักวิทยาศาสตร์ได้ลงความเห็นว่า ปลาจำพวกแรกที่เป็นบรรพบุรุษของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ ปลาที่ไม่มีขากรรไกร (Agnatha) ซึ่งประกอบด้วยปลาที่เรียกว่า ออสตราโคเดิร์ม (ostracoderms) ปลาจำพวกนี้มีเหงือกอยู่ในถุงกล้ามเนื้อซึ่งหดและขยายตัวได้เวลาหายใจ ปลาออสตราโคเดิร์มมี ๒จำพวก คือพวกที่ว่ายน้ำได้ และพวกที่หากินบนพื้นท้องน้ำ พวกหลังนี้มีเกราะหุ้มส่วนหน้าของลำตัว(cephalaspida) ปลาโบราณเริ่มมีอยู่ในยุคซีลูเรียน (Silurian) และดีโวเนียน (Devonian) คือประมาณ ๔๐๐ ล้านกว่าปีมาแล้ว
                ต่อมานานเข้าปลาจำพวกแรกนี้ก็มีวิวัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพื่อความเหมาะสมในการดำรงชีวิต วิวัฒนาการของมันแบ่งออกเป็น ๒ สาย สายที่หนึ่งเป็นปลาปากกลม ซึ่งยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ สายที่สองเป็นปลาโบราณที่มีขากรรไกร (placoderms) ซี่งมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นปลาจำพวกกระดูกอ่อน คือ พวกฉลามและกระเบน (Chondrichthyes) และพวกปลากระดูกแข็ง (Osteichthyes)

การรับความรู้สึกของปลา 
  • การรับกลิ่น
  • สายตา
  • การรับฟัง
  • การรับรส
  • การรับความสัมผัส
การรับกลิ่น 
          ปลามีจมูกสำหรับรับกลิ่นเช่นเดียวกับสัตว์บก แต่มิได้ใช้หายใจ จึงไม่มีท่อติดต่อกับคอหอย ปลาฉลามมีจมูกไวมาก สามารถรับกลิ่นเลือดได้ในระยะไกล 
สายตา 
          ตาปลามีลักษณะคล้ายคลึงกับตาของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังประเภทอื่นๆ แต่มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพื่อช่วยให้มันสามารถมองได้ในน้ำ ผนังภายนอกของตาปลาแบนกว่าของสัตว์บกแต่เลนส์ของตาปลากลมกว่า และเวลาใช้มอง เลนส์จะไม่เปลี่ยนรูปร่างเหมือนตาของสัตว์ชั้นสูงแต่จะเลื่อนเข้าเลื่อนออกจนภาพชัด ปลาส่วนใหญ่มีสายตาสั้น จากผลของการทดลองปรากฏว่าปลาสามารถจำสีต่างๆ ได้ ในจำพวกปลาที่อาศัยในน้ำขุ่น ตามีขนาดเล็กลง ปลาที่อาศัยอยู่ในถ้ำมีตาเป็นจุดเล็กๆ เท่านั้นหรือไม่มีเลยโดยถูกคลุมอยู่ใต้ผิวหนังก็ได้
 การรับฟัง 
          หูของปลาไม่มีส่วนนอกและส่วนกลางเหมือนสัตว์ชั้นสูง ดังนั้น ปลาจึงมีแต่เพียงหูส่วนใน ใช้เป็นอวัยวะสำหรับช่วยการทรงตัว ปลาน้ำจืดจำพวกปลาไน ปลาตะเพียน และปลาดุกกระเพาะลมมีส่วนติดต่อกับส่วนหูโดยชิ้นกระดูกเล็กๆ ซึ่งสามารถทำให้ปลาจำพวกนี้รับความสั่นสะเทือนในน้ำได้ดี นอกจากนี้ปลาส่วนใหญ่ยังมีเส้นข้างตัว (lateral line system) สามารถรับความสั่นสะเทือนในน้ำได้

การรับรส 
          ปลาหลายชนิดสามารถรับรสต่างๆ ได้ เช่น ปลาพวกตะเพียน แต่หน้าที่การรับรสอาจทำโดยอวัยวะพิเศษ ซึ่งอยู่บนหนวด (barbels) หรือบนหัวและตัวปลา โดยบริเวณเหล่านี้จะมีปุ่มรับรส (taste bud)
การรับความสัมผัส 
          ปลารับสัมผัสได้ดีมาก อวัยวะรับสัมผัสมีอยู่บนส่วนต่างๆ ของตัวปลา เช่น ตามผิวหนัง ตามผิวของหนวด (barbels of feelers) หรือครีบ สำหรับปลาที่หากินบนพื้นท้องน้ำใช้อวัยวะดังกล่าวในการหาอาหารโดยการคลำ

ช่วงชีวิตของปลา 
          จากหลักฐานที่ปรากฏในรายงานทางวิชาการพบว่า ปลาจีนบางชนิดที่เลี้ยงไว้ในบ่อมีอาย มากกว่า ๒๐ ปี แต่ไม่เกิน ๕๐ ปี ปลาทะเลหลายชนิดในเขตอบอุ่น เช่น ปลาแฮร์ริง (herring)ในทะเลเหนืออาจมีอายุถึง ๒๐ ปี ปลาบึกในแม่น้ำโขง (Pangasianodon gigas) อาจมีอายุมากกว่า๑๕ ปี ปลาเขตร้อนเช่นในบ้านเราส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตเร็วมาก และมีช่วงชีวิตสั้น เช่นปลาทูในบ้านเราอาจมีช่วงชีวิตอย่างมากเพียง ๓ ปี เท่านั้น ทั้งนี้ เพราะปลาส่วนใหญ่ถูกจับโดยการประมงเสียก่อนที่จะมีอายุถึง ๓ ปี

การเจริญเติบโตของปลา
          ถ้าปลามีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ อัตราการเจริญเติบโตก็จะเป็นไปตามปกติ และปลาก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในระยะแรกขณะที่ปลายังเล็ก อาหารที่ปลากินเข้าไปส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ใช้ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอแต่ส่วนใหญ่จะใช้ในการเจริญเติบโตเสริมสร้างเนื้อเยื่อของปลา จนกระทั่งปลาเจริญเติบโตเกือบเต็มวัย อาหารส่วนใหญ่จึงเริ่มใช้ในการเสริมสร้างอวัยวะเพศ เพื่อให้ปลาสามารถสืบพันธุ์ได้ต่อไป ถึงแม้ว่าปลาโตเต็มวัยและพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้แล้ว การเจริญเติบโตก็ยังมีอยู่แต่อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าที่เป็นมาดังนั้น การเจริญเติบโตของปลาจึงแตกต่างไปจากสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เช่น นก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
      นักวิทยาศาสตร์สามารถทำนายอายุของปลา และหาอัตราการเจริญเติบโตได้โดยใช้วิธีการต่างๆ หลายวิธีด้วยกัน เช่น ทำการวิเคราะห์วงปีบนเกล็ดหรือส่วนกระดูกอื่นๆ เช่น ชิ้นกระดูกแก้ม(opercular bones) กระดูกในกล่องหู (otoliths) ข้อกระดูกสันหลัง เป็นต้น ถ้าหากไม่ปรากฏวงปีบนส่วนแข็งของปลา นักวิทยาศาสตร์อาจใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบของความยาวของปลา โดยทำการสุ่มตัวอย่างวัดปลาในประชากรเดียวกันตลอดปี เพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบของความยาว นอกจากนี้ เรายังสามารถประเมินอัตราการเจริญเติบโตของปลา โดยทำการติดเครื่องหมายปลาแล้วเลี้ยงไว้ในบ่อหรือกระชัง เพื่อตรวจดูความเจริญเติบโตเป็นระยะๆ
          ในการประเมินอัตราการเจริญเติบโตของปลาทูในอ่าวไทย โดยหน่วยงานอนุรักษ์ปลาผิวน้ำสถานวิจัยประมงทะเล กรมประมง ได้พบว่าปลาทูในอ่าวไทยมีการเจริญเติบโตสูงมากในระยะเวลาเพียง ๗ เดือนหลังจากที่ไข่ได้ฟักตัวออกมาเป็นลูกปลาแล้ว โดยในปีแรกปลาก็อาจจะมีความยาวถึง ๑๕ เซนติเมตร และก็สามารถทำการสืบพันธุ์ได้

รูปร่างและลักษณะทั่วๆ ไปของปลา


1. สีบนตัวปลา
2. ขนาดและรูปร่าง
3. ผิวหนังและเกล็ดปกคลุมร่างกาย

1. สีบนตัวปลา 
          ปลามีสีสวยงามไม่แพ้สัตว์บกพวกนกหรือผีเสื้อ เราจึงนิยมเลี้ยงปลาไว้ดูเล่นในตู้กระจก หรืออ่างน้ำ ในประเทศเยอรมนี ซึ่งแม้จะอยู่ในเขตอบอุ่น ก็มีอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นล่ำเป็นสันมาก สามารถเพาะปลาสวยงามชนิดต่างๆ ที่เป็นปลาจากเขตร้อน ส่งไปขายให้สหรัฐอเมริกามีมูล-ค่าเท่ากับฝ้ายที่ประเทศต้องสั่งซื้อมาจากสหรัฐฯ เพื่อนำมาทอใช้ในประเทศของตน
          ธรรมชาติไม่ได้สร้างสีสันของปลาเพียงเพื่อให้มีความสวยงามเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ปลาสามารถหลบซ่อนเหยื่อหรือปรับตัวให้กลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายจากศัตรู หรือเป็นสื่อช่วยกระตุ้นในฤดูที่มีการสืบพันธุ์(nuptial dress) อีกด้วย
          โดยทั่วไปปลามักมีสีเงินและสีฟ้าหรือน้ำเงิน บ้างก็มีสีเขียว สีเทาหรือสีน้ำตาล ปลาทะเลบางจำพวก เช่น ปลาตามโขดหินกองหรือปะการัง มีสีสันสลับสดใสน่าดูมาก เช่น สีเหลืองสีแดง สีม่วง หรือสีน้ำเงินแก่ เป็นต้น นอกจากมีสีต่างๆ เป็นสีพื้น ปลาหลายชนิดยังมีจุดหรือแถบสีอยู่ประปรายโดยทั่วไปในปลาหลายชนิด ปลาเพศผู้และเพศเมียมีสีไม่เหมือนกัน เช่น
           ปลากินยุง (Poecilia) หรือปลากัด (Betta spp.) ปลาเพศผู้มีสีสวยงามมากกว่าเพศเมีย นอกจากนี้ปลาบางชนิด เช่น ปลาจำพวกกะพงทะเล เมื่อยังมีขนาดเล็กจะมีจุดหรือแถบสีชัดเจนแต่เมื่อปลาโตมากขึ้น จุดหรือแถบสีนั้นก็จะเลือนราง หรือหายไปกลายเป็นสีอื่นสีต่างๆ ทั้งหมดที่เราเห็นอยู่บนตัวปลา เกิดจากการปะปนของเซลล์สร้างสีสองสามชนิดเท่านั้น สีนอกจากนั้นอาจเกิดจากการสะท้อนของแสงในน้ำ (apparent color) ตามปกติปลามีเซลล์สร้างสีดำ (melanophores) ซึ่งมีอนุภาคของสารเมลา-นิน (melanin) อยู่เป็นจำนวนมากแสงสะท้อนจากอนุภาคเมลานินเหล่านี้ ผ่านผลึกของกัวนิน (guanin) ซึ่งเป็นของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมากับเมือกที่เกาะอยู่ตามผิวหนัง ซึ่งอยู่เหนือชั้นที่มีเซลล์สร้างสีดำ ทำให้เราเห็นปลามีสีเขียว สีฟ้า หรือสีน้ำเงิน แล้วแต่ปริมาณและสัดส่วนของเมลานินและกัวนินในปลาบางชนิด จุดสีหรือรงควัตถุ(pigment) จากเซลล์สร้างสีเหลืองผสมกับเมลานินและสารที่เรียกว่า อิร์ริดิโอไซต์ (irridiocytes) ทำให้เกิดเป็นสีเขียวขึ้นมาได้สีแดงเกิดจากจุดสีที่สร้างด้วยเซลล์สีแดง (erythophres)สีชมพู สีม่วง และสีคล้ายดอกกล้วยไม้ที่ปรากฏบนตัวปลาเกิดจากการผสมเป็นสัดส่วนต่างๆ ของจุดสีจากเซลล์สร้างสีดังกล่าวและจากแสงสะท้อนจากน้ำมายังนัยน์ตาของเรา
          เซลล์สร้างจุดสีเหล่านี้สามารถหดหรือขยายตัวได้โดยรวดเร็ว การหดหรือขยายตัวเกิดขึ้นจากการกระตุ้นโดยระบบประสาท อันเกี่ยวเนื่องอย่างมากในการเห็นของปลา และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีรวิทยาภายในตัวปลาเอง ดังนั้น ปลาจึงสามารถเปลี่ยนสีและลวดลายให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีมาก
          มนุษย์เราสามารถปรับปรุงให้ปลาเปลี่ยนรูปร่างและสีสันได้ โดยการคัดเลือกพันธุ์ (selective breeding) และผสมข้ามพันธุ์ (cross breeding) การคัดเลือกและผสมข้ามพันธุ์ปลาได้ทำกันมาเป็นเวลานานกว่า ๑,๐๐๐ ปีแล้ว นักเพาะพันธุ์ปลาชาวจีนและญี่ปุ่นสามารถทำให้เกิดปลาแบบใหม่ขึ้นได้โดยวิธีการดังกล่าว เช่น การทำให้เกิดพันธุ์ปลาเงินปลาทองหัวสิงโต ปลาเงินปลาทองที่มีครีบยาวและสวยงาม ปลาแฟนซีคาร์พ ฯลฯ นักเพาะพันธุ์ปลาสวยงามในปัจจุบัน ก็ยังใช้วิธีการดังกล่าวอยู่ เช่นในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาสวยงามของไทยและสิงคโปร์ ทำให้เกิดปลาที่มีรูปร่างและสีสันตามความต้องการของตลาด ซึ่งบังเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

2. ขนาดและรูปร่าง 
          ปลาทั่วๆ ไปก็เหมือนกับสัตว์บกที่เราเห็นทั้งหลาย คือ เป็นสัตว์ที่มีลักษณะด้านซีกซ้ายของลำตัวเหมือนกับทางซีกขวา ซึ่งทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า bilaterally symmetrical shape ปลาจำพวกต่างๆ มีขนาดและรูปร่างไม่เหมือนกัน ปลาที่มีขนาดเล็กที่สุดเห็นจะได้แก่ ปลาจำพวกปลาบู่ในประเทศฟิลิปปินส์ มีชื่อว่า "มิสติคธีสลูซอเนนซิส" (Mistichthys luzonensis) ปลาชนิดนี้เมื่อโตเต็มวัยและสามารถสืบพันธุ์ได้ จะมีขนาดความยาวเพียง ๑.๒ เซนติเมตร ปลาทู (Rastrelligerspp.) ที่พบในตลาดบ้านเรามีขนาดเฉลี่ยตั้งแต่ ๑๐.๕ เซนติเมตร ถึงประมาณ ๒๓ เซนติเมตรปลาอินทรี comberomorus spp.) ที่จับได้ในอ่าวไทยมีขนาดความยาวประมาณ ๒๐ ถึง ๙๐ เซนติเมตรปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่พบเห็นกัน ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) ซึ่งอาจมีความยาวถึง ๒๐-๒๒ เมตร และหนักประมาณ ๒๕ ตัน
          รูปร่างของปลาโดยทั่วไปแตกต่างกันไปตามชนิดของปลา ปลาส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นแบบกระสวย (fusiform) ซึ่งเป็นลักษณะของปลาที่ว่ายน้ำเร็ว และปลาพวกนี้มักอยู่รวมกันเป็นฝูง เช่นปลาทู ปลาโอ หรือปลาทูนาในมหาสมุทร เมื่อตัดปลาในแนวตั้งฉากกับแกนยาวของลำตัวจะเห็นหน้าตัดเป็นรูปกลมหรือรูปไข่ รูปแบบนี้เป็นรูปลักษณะของปลาส่วนใหญ่ ปลาจำพวกอื่นๆ รูปร่างอาจจะผิดแผกไปจากแบบที่ได้กล่าวไว้ เช่น มีรูปกลมเหมือนลูกโลก (globiform) ได้แก่ ปลาปักเป้าบางชนิดมีรูปยาวคล้ายงู (anguilliform) เช่น ปลาไหลทะเล (Muraenesox spp.) หรือปลาไหลน้ำจืด(Fluta alba) ที่มีในบ้านเราปลาบางจำพวกอาจมีรูปแบนข้าง (compressed form) เช่น ปลาผีเสื้อหรือปลาจะละเม็ด (Pampus spp.) บางชนิดอาจจะแบนมากและลำตัวยาวคล้ายแถบผ้า เช่น ปลาดาบเงิน (Trichiurus lepturus) บางพวกอาจมีรูปร่างแบบแบนลง (depressed form) เช่น ปลากระเบนปลาคางคก เป็นต้น

3. ผิวหนังและเกล็ดปกคลุมร่างกาย 
          ปลามีผิวหนังเรียบอ่อนนุ่มคลุมตลอดลำตัว และมีต่อมขับเมือกโดยทั่วไป เมือกที่ขับออกมามีประโยชน์ช่วยทำให้การเสียดสีและความฝืดลดลงในขณะที่ปลาว่ายน้ำ ปลาบางจำพวก เช่นปลาไหลนา ปลากด ปลาแขยง และปลาดุก เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ดปกคลุม จึงมีเมือกมาก แต่ปลาส่วนใหญ่มีเกล็ดปกคลุมทั่วตัว
          เกล็ดของปลามีหลายแบบด้วยกัน ในปลาจำพวกปลากระดูกอ่อน เช่น ฉลามและกระเบนถ้าเราเอามือลูบจากทางหางไปส่วนหัวจะรู้สึกสากๆ ที่ทำให้รู้สึกสาก เพราะมือเราสัมผัสกับเกล็ดเล็กๆ ที่ปกคลุมรอบตัว เกล็ดของปลาดังกล่าวเป็นเกล็ดแบบแพลคอยด์ (placoid scales) ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟัน (ฟันของปลาฉลามก็คือส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากเกล็ดนั่นเอง) เกล็ดแบบนี้มีปลายเป็นหนามยื่นไปทางท้าย
           ปลาน้ำจืดจำพวกการ์ (gars) ในทวีปอเมริกาเหนือ มีเกล็ดหนาๆ เรียงติดกันแต่ไม่ซ้อนกันเกล็ดเหล่านี้มีสารเคมีจำพวกแกโนอีน (ganoine) อยู่ด้วย เราจึงเรียกเกล็ดชนิดนี้ว่าแกนอยด์ (ganoidscales) ในปลาโบราณบางชนิดซึ่งพบกลายเป็นซากติดอยู่ในหิน หรือเรียกว่า ซากดึกดำบรรพ์ (fossil)เป็นปลาจำพวกที่มีอวัยวะคล้ายปอดสำหรับหายใจ มีเกล็ดพิเศษปกคลุมร่างกายเรียกว่า คอสมอยด์(cosmoid scales) มีลักษณะคล้ายเกล็ดแกนอยด์ แต่สารเคมีที่อยู่ในเกล็ดเป็นจำพวกคอสมีน (cos-mine)
           ปลาส่วนใหญ่ในปัจจุบัน นอกจากปลาจำพวกฉลาม และกระเบน มีเกล็ดแบบไซคลอยด์ (cycloid)และทีนอยด์ (ctenoid) แล้ว ยังมีปลากระดูกแข็ง (Teleosts) ที่มีโครงครีบเป็นก้านอ่อน เช่นปลาหลังเขียว (Sardinella spp.) ปลานวลจันทร์ทะเล (Chanos chanos) และปลาตะเพียน (carps)มีเกล็ดแบบไซคลอยด์ ซึ่งถ้าเรานำมาตรวจดูโดยแว่นขยายจะเห็นรอยบนเกล็ดปรากฏเป็นวงๆ ได้ชัดเจน วงเหล่านี้เราเรียกว่า "เซอร์คูไล" (circuli) สำหรับปลาที่อยู่ในเขตร้อนและเขตหนาว ระยะระหว่างวงแต่ละวงจะเห็นชัดเจนไม่เหมือนกัน ในหนึ่งรอบปีของอายุของปลา วงเหล่านี้บนเกล็ดอาจจะอยู่ชิดกันตอนหนึ่งและอีกตอนหนึ่งห่างกัน ทำให้เกิดเห็นเป็นวงปี (annuli) ขึ้นบนเกล็ด ทั้งนี้เพราะการเจริญเติบโตของปลาในเขตหนาวส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตดีเฉพาะในฤดูที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ คือในฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น นักชีวประมงจึงใช้ประโยชน์จากเกล็ดในการทำนายอายุของปลาได้
           ปลากระดูกแข็งที่มีโครงครีบเป็นหนาม (spines) ส่วนใหญ่มีเกล็ดแบบทีนอยด์ หรือไซคลอยด์ เกล็ดทีนอยด์เป็นเกล็ดคล้ายเกล็ดไซคลอยด์ แต่ตรงขอบท้ายเกล็ดที่มองเห็นจากภายนอกมีหนามเล็กแหลมอยู่ทั่วไป ตัวอย่างปลาที่มีเกล็ดแบบทีนอยด์ ได้แก่ ปลากะพง (Lutianusspp.) ในทะเล และปลาเสือ (Toxotes chatarcus) ตามแม่น้ำในภาคกลางของประเทศไทย เฉพาะปลาชนิดหลังมีวิธีการหาอาหารแปลกกว่าปลาทั้งหมดเพราะมีความไวและสายตาดี จึงสามารถใช้ปากพ่นน้ำให้ถูกตัวแมลงที่เกาะอยู่สูงถึง ๑.๕๐ เมตร จากผิวน้ำร่วงลงน้ำแล้วกินได้
          เกล็ดของปลากระดูกแข็งทั้งหลายไม่ได้เรียงกันเหมือนปลาฉลาม แต่ซ้อนกันแบบเราเอากระเบื้องมุงหลังคาบ้าน
          ในปลาบางจำพวกอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของเกล็ด เช่น เชื่อมติดกันเป็นแผ่นห่อหุ้มตัวปลา พบในปลาข้างใส (Centriscus spp.) หรือปลาเขาวัว ส่วนปลาปักเป้าเกล็ดจะเปลี่ยนเป็นหนามแหลม
           ปลาบางจำพวก เช่น ปลากระเบน ปลาดุกทะเล หรือปลาหัวโขนบริเวณผิวหนังบางส่วนจะมีต่อมขับสารมีพิษ ต่อมเหล่านี้โดยมากจะอยู่ใกล้กับโคนก้านครีบแข็งหรือเงี่ยง ถ้าอวัยวะเหล่านี้ทิ่มตำเข้า พิษจะถูกขับเข้าสู่แผลจะทำให้เกิดความเจ็บปวดอาจเกิดเป็นแผลเน่า และมีอันตรายถึงตายได้
           ปลาที่อาศัยอยู่ในที่ลึกในมหาสมุทร มีหลายชนิดที่มีอวัยวะเรือง แสงอยู่บนลำตัวหรือหัวอวัยวะเหล่านี้มีประโยชน์แก่ปลา เพราะทำหน้าที่ล่อ เหยื่อให้เข้ามาหา ช่วยในการมองเห็น ช่วยป้องกันศัตรู และช่วยในการรวมกลุ่ม ต่อมเรืองแสงเป็นอวัยวะพิเศษที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยวิวัฒนาการมาจากต่อมขับเมือกซึ่งอาจเป็นแสงที่ปลาทำขึ้นเองหรือมาจากสิ่งมีชีวิตอื่นก็ได้

การเคลื่อนไหวและทรงตัวในน้ำของปลา 

          ปลาแหวกว่ายดำน้ำ หรือผุดจากระดับลึกขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็วได้ ก็โดยอาศัยครีบและกล้ามเนื้อลำตัวเป็นสำคัญปลาที่ว่ายน้ำเร็ว เช่น ปลาทู หรือปลาทูนา มีการโบกพัดของหาง และการยืดและหดของกล้ามเนื้อข้างลำตัวสลับสัมพันธ์กันไปดีมาก ทำให้ปลาเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้โดยรวดเร็ว
          ครีบต่างๆ ของปลา นอกจากจะมีส่วนที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของปลาแล้ว ยังมีหน้าที่พยุงและรักษาการทรงตัวของปลาในน้ำ เวลาปลาว่ายน้ำเร็วครีบต่างๆ จะหุบลงหรือยุบลงทอดแนบตามตัวของปลา ทั้งนี้เพื่อให้ลู่ตามน้ำ และความต้านทานน้อยลง ครีบหางทำหน้าที่เปรียบเสมือนหางเสือของเรือ เมื่อต้องการจะหยุด ครีบอกและครีบท้องจะกางออกต้านน้ำ ครีบอื่นก็จะแผ่ออกทำหน้าที่ทรงตัวพร้อมกัน
          ครีบต่างๆ ของปลาแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆคือ ครีบคู่ (paired fins) และครีบเดี่ยว (median fins) สำหรับครีบคู่ในปลาส่วนใหญ่มีสองคู่ด้วยกัน คือ ครีบอก (pectoral fins)และครีบท้อง (pelvic หรือ abdominal fins) ซึ่งครีบทั้งสองเปรียบได้เหมือนขาหน้าและขาหลังของสัตว์สี่เท้าบนบก ครีบอกตั้งอยู่ถัดจากกระพุ้งแก้มของปลา โดยอาจอยู่สองข้างของลำตัวทั้งซ้ายและขวาหรืออยู่ค่อนมาทางด้านล่างของลำตัวแล้วแต่จำพวกของปลา ที่ตั้งของครีบท้องมักมีส่วนสัมพันธ์กับตำแหน่งที่ตั้งของครีบอก ในปลากระดูกแข็งชั้นต่ำคือปลาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากแบบปกติทั่วไปมากนัก เช่น ปลาหลังเขียวปลาเข็ม ตำแหน่งของครีบท้องจะอยู่ชิดส่วนสันท้องทางด้านหน้าของรูทวาร (anus) ส่วนตำแหน่งของครีบอกจะอยู่ต่ำหรือค่อนมาทางด้านล่างของลำตัว ในปลากระดูกแข็งชั้นสูงคือปลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง และลักษณะไปจากแบบทั่วไปไม่ว่าน้อยหรือมาก ตำแหน่งของครีบท้องจะอยู่ตรงบริเวณหน้าอกของปลา (thoracic position) ใต้ครีบอกซึ่งอยู่ถัดสูงขึ้นไปข้างลำตัว เช่น ปลาทู ปลาม้า หรืออยู่เลยค่อนไปทางข้างหน้าของครีบอก คืออยู่ที่ตรงบริเวณคอหอยของปลา (jugular position)เช่น ปลาจำพวกปลาบู่ เป็นต้น
          ครีบอกของปลาจำพวกปลากระเบนมีความสำคัญในการเคลื่อนไหวในน้ำเป็นอย่างมาก แต่ในปลาหลายชนิดครีบคู่มีหน้าที่เฉพาะเพื่อการทรงตัวในน้ำ ปลาบางจำพวก เช่น ปลาในวงศ์ปลานกกระจอก (Exocoetidae) ครีบอกมีขนาดใหญ่มากใช้ช่วยพยุงตัวให้ปลาถลาขึ้นพ่นน้ำร่อนไปได้ไกลๆ
          ปลาบางชนิด เช่น ปลาไหลนา ครีบคู่เสื่อมหายไป เพราะการเคลื่อนไหวของปลาไหล ใช้การยืดหดของกล้ามเนื้อลำตัวแทนทั้งหมด ทำให้ปลาเคลื่อนที่ได้เหมือนงูเลื้อย ปลาบางชนิดไม่มีครีบท้อง เช่น ปลาจะละเม็ด ปลาดาบเงิน ปลาปักเป้าเป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าในบรรดาครีบทั้งหลาย ครีบท้องมีประโยชน์น้อยที่สุดในการพยุงตัวและการทรงตัวของปลา จึงเห็นได้ชัดว่ามีขนาดเล็กกว่าครีบอื่น
          ดังได้กล่าวมาแล้ว นักอนุกรมวิธานปลาจึงพอจะใช้ตำแหน่งของครีบคู่ ในการจำแนกกลุ่มของปลาออกเป็นปลาจำพวกที่มีโครงครีบซึ่งเป็นก้านอ่อน (soft-rayed fish) และปลาที่มีโครงครีบซึ่งมีก้านเป็นหนาม (spiny-rayed fish)
          ครีบเดี่ยว ได้แก่ ครีบหลัง (dorsal fin) ครีบหาง (caudalfin) และครีบทวาร (anal fin)
          ครีบหลังอาจมีเพียงครีบเดียว หรือมากกว่าหนึ่งครีบก็ได้ ในปลาบางชนิดครีบหลังอันที่ ๒ อาจจะเป็นครีบไขมัน(adipose fin) หรืออาจประกอบด้วยครีบฝอย (finlets) ก็มี ในปลากระดูกแข็งชั้นต่ำ ครีบหลังจะมีก้านครีบอ่อนประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ เรียงต่อกันเป็นข้อๆ ตอนปลายของก้านแตกออกเป็นแฉกๆ  ปลาจำพวกนี้ได้แก่ ปลาโคก (gizzard shad)ปลาอกแลหรือหลังเขียว (sardine) ฯลฯ
          ในปลากระดูกแข็งชั้นสูงขึ้นมา ครีบหลังตอนแรกก้านครีบจะเป็นหนามแข็ง ส่วนครีบหลังอันถัดมาเป็นก้านครีบอ่อน เช่น ในปลาจำพวกกะพง (Snappers) ส่วนปลาทู ปลาลัง ยังมีครีบฝอย (finlets) จำนวน ๕ ครีบอยู่ถัดไปทางโคนหาง กับอีก ๕ ครีบอยู่ตรงกันข้ามทางด้านท้องท้ายครีบทวาร
          ครีบที่เป็นหนามทำให้ครีบแข็งแรงขึ้น และอาจใช้ในการป้องกันศัตรูได้ด้วย ในปลาบางจำพวก เช่น ปลาดุก (Clarias spp.) มีครีบหลังและครีบทวารยาว การโบกพัดของครีบยังทำให้ปลาเดินหน้าและถอยหลังได้ อย่างไรก็ดี ในปลาบางชนิด เช่น ปลาติด (sucker fish) ครีบหลังอันแรกซึ่งอยู่บนหัวจะมีวิวัฒนาการไปเป็นอวัยวะที่ใช้ยึดเกาะติด ดังนั้น ปลาพวกนี้จึงอาศัยเกาะติดปลาใหญ่ๆ เช่น ปลาฉลาม ได้ และคอยรับเศษอาหารที่หลงเหลือจากปลาใหญ่เหล่านั้น
          ครีบหางมีความสำคัญมากในการเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนทิศทางในการเคลื่อนที่ ปลาที่ว่ายน้ำเร็วมักจะมีส่วนตัด (cross section) ของคอดหาง (caudal peduncle) เป็นรูปกลม เช่น ปลาฉลาม ครีบหางในปลากระดูกแข็งชนิดต่างๆ มีรูปร่างแตกต่างกันไป ปลาจำพวกที่ว่ายน้ำเร็ว หรือปลาฝูงในมหาสมุทร เช่น ปลาทูนา ครีบหางจะกว้างแต่เว้าลึกมีรูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ปลาทูมีครีบหางเป็นแฉกรูปส้อม ปลาที่ว่ายน้ำช้าอาจมีครีบหางเป็นรูปพัด หรือรูปหางตัดหรือรูปกลมแล้วแต่ชนิดของปลา ปลาฉลามซึ่งเป็นปลาจำพวกที่มีกระดูกอ่อนมีลักษณะของครีบหางผิดแผกไปจากปลาจำพวกกระดูกแข็ง กล่าวคือ แกนหางงอนขึ้นไปทางส่วนบนของครีบหางทำให้ส่วนบนของครีบหางยาวกว่าส่วนล่าง (heterocercal tail) นี่เป็นลักษณะที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปลาฉลามกับปลาโบราณบางพวกที่พบกลายเป็นซากหิน ส่วนหางของปลากระเบนหลายชนิดมีลักษณะเป็นแส้ยาว
          ครีบทวารมีส่วนช่วยในการพยุงตัว และในการเคลื่อนไหวของปลาเหมือนกัน เช่น ในปลากรายและปลาสลาดหรือฉลาดมีครีบทวารยาวมาก การพัดโบกของครีบทวารจะทำให้ปลาว่ายไปข้างหน้าหรือถอยหลังได้ จะเห็นได้ว่าในปลาจำพวกนี้ ครีบอกมีขนาดเล็ก ส่วนครีบท้องยิ่งเล็กมากจนไม่น่าใช้ประโยชน์ได้

การสืบพันธุ์ของปลา 
  • พวกที่ปลาตัวแม่วางไข่ในน้ำ
  • ปลาที่วางไข่ติดบนสาหร่ายหรือพืชน้ำ
  • ปลาจำพวกที่พ่อหรือแม่ปลาทำรังเพื่อวางไข่
  • พวกที่เก็บรักษาไข่ไว้ในปากหรือตามร่างกาย
  • ปลาที่ออกลูกเป็นตัว
  • การออกไข่ของปลาทะเล
พวกที่ปลาตัวแม่วางไข่ในน้ำ 
          พวกที่ปลาตัวแม่วางไข่ในน้ำ แล้วปลาตัวพ่อฉีดน้ำเชื้อออกมา และไข่ได้รับการผสมจากน้ำเชื้อทันที หลังจากนั้นแล้วปลาพ่อแม่ไม่ดูแลรักษาไข่เลย ปลาจำพวกนี้ ได้แก่ ปลาทะเลส่วนใหญ่ เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลาอินทรี ฯลฯ เป็นต้น ไข่ที่แม่ปลาเหล่านี้วางมักมีขนาดเล็กมีเป็นจำนวนมากและเป็นไขประเภทลอยน้ำโดยมีลักษณะโปร่งใส

ปลาที่วางไข่ติดบนสาหร่ายหรือพืชน้ำ 
          ปลาที่วางไข่ติดบนสาหร่ายหรือพืชน้ำ ได้แก่ ปลาน้ำจืดเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปลาไนปลาจีน ฯลฯ

ปลาจำพวกที่พ่อหรือแม่ปลาทำรังเพื่อวางไข่ 
          ปลาจำพวกที่พ่อหรือแม่ปลาทำรังเพื่อวางไข่ แต่ไม่อาจดูแลระวังและรักษาไข่ต่อไปได้ เช่น ปลาแซลมอน หรืออาจจะดูแลรักษาจนกระทั่งไข่ฟักออกมาเป็นตัว เช่น ปลากัด ปลาสลิด ปลากระดี่ โดยตัวผู้ก่อหวอดแล้วอมไข่ไปพ่นเก็บไว้ที่หวอด และดูแลรักษาจนไข่ฟักออกมาเป็นตัว

พวกที่เก็บรักษาไข่ไว้ในปากหรือตามร่างกาย 
          พวกที่เก็บรักษาไข่ไว้ในปากหรือตามร่างกาย เช่น ปลาอมไข่ (Apogonidae) ปลากดทะเล (Tachysuridae) ตัวผู้ รวมทั้งปลาหมอเทศ หรือปลานิล (Tilapia spp.) ตัวเมีย ปลาม้าน้ำตัวผู้มีถุงเก็บไข่ไว้ที่หน้าท้อง
ปลาที่ออกลูกเป็นตัว 
            ปลาที่ออกลูกเป็นตัว เช่น ปลากินยุง และปลาเข็ม เป็นต้น

การออกไข่ของปลาทะเล 

           สำหรับปลาทะเลส่วนใหญ่ซึ่งออกไข่เป็นจำนวนมากและไม่ดูแลรักษา ไข่มักเป็นไข่แบบลอยน้ำ (pelagic eggs) และมีขนาดเล็ก เมื่อตรวจดูด้วยแว่นขยายจะเห็นว่าไข่ส่วนมากมีรูปกลมมีเปลือกหุ้มโดยรอบ เรียบและโปร่งใส ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายจากการทำลายของศัตรูในขณะที่ตัวอ่อนกำลังเจริญเติบโตอยู่ภายในไข่ พวกนี้ลอยน้ำได้เนื่องจากมีจุดน้ำมันอยู่ในไข่ ทำให้มีความถ่วงจำเพาะใกล้เคียงหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ไข่ปลาบางชนิดมีช่องระหว่างเปลือกไข่และตัวอ่อนภายในไข่กว้างเพื่อช่วยให้ไข่ลอยน้ำได้ ปลาบางชนิดมีเมือกหุ้มรอบเปลือกไข่ ปลานกกระจอกซึ่งร่อนเหนือน้ำไปได้ไกลๆ มีไข่ที่มีสายยื่นยาวออกมาจากเปลือกไข่หลายสายเพื่อช่วยให้ไข่จมช้าลง ไข่ของปลาน้ำจืดส่วนใหญ่เป็นแบบจมลงสู่พื้นท้องน้ำ (demersal eggs) หรือเกาะติดกับพืชน้ำหรือสาหร่าย หากเป็นไข่แบบจมที่อยู่ในบริเวณที่ไม่มีออกซิเจนมากนักไข่มักมีสีเหลืองจัด เพราะจะมีสารคาเรตินอยด์ (caretinoid) ซึ่งช่วยในการถ่ายเทอากาศของไข่
           การเจริญเติบโตของไข่ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม เช่น ก๊าซละลายในน้ำ ศัตรูหรืออุณหภูมิแต่สาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ อุณหภูมิ จากผลของการศึกษาของหน่วยงานอนุรักษ์ปลาผิวน้ำสถานวิจัยประมงทะเล กรมประมง ปรากฏว่า ในการทดลองผสมเทียมของปลาทู ไข่ปลาทูที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อของปลาตัวผู้แล้ว จะฟักออกมาเป็นตัวเร็วขึ้นโดยใช้เวลา ๒๓ ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำประมาณ ๒๗.๒ องศาเซลเซียส และจะต้องใช้เวลานานประมาณ ๒๗ ชั่วโมง หากอุณหภูมิลดลงมาเป็น ๒๔.๔ องศาเซลเซียส
            นักวิทยาศาสตร์ประมงพบว่า หากเราเอาอุณหภูมิเฉลี่ยของแต่ละวันคูณกับจำนวนวันที่ปลาใช้ในการฟักไข่ให้ออกมาเป็นตัวตั้งแต่ได้รับการผสม จะได้ค่าคงที่สำหรับปลาชนิดใดชนิดหนึ่งดังนั้น หากเราทราบอุณหภูมิของแต่ละวัน เราก็จะทำนายได้ว่า ปลาจะฟักออกจากไข่มาเป็นตัวได้เมื่อใด
            หลังจากที่ไข่ได้ฟักออกมาเป็นตัวแล้ว ตัวอ่อนของปลายังไม่หาอาหารทันที แต่จะใช้อาหารเดิมซึ่งสะสมไว้ในไข่แดงที่ติดกับตัวมันจนหมดก่อน แล้วจึงเริ่มหาอาหารตามธรรมชาติต่อไป ในระยะที่ลูกปลาเปลี่ยนวิธีการหาและกินอาหาร อัตราการตายของลูกปลาในระยะนี้จะสูงมาก หากมิได้รับอาหารที่เหมาะสม เช่น ในบางปีลูกปลาถูกกระแสน้ำพัดออกไปนอกฝั่งสู่บริเวณที่มีอาหารน้อย ดังนั้น ลูกปลาในปีนั้นจะเหลือน้อยมากและอาจทำให้ประชากรของปลาในปีต่อไปที่อยู่ในข่ายของการประมงลดลง
           ได้มีนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันทำการศึกษาอัตราการตายของปลาในสกุลใกล้เคียงกับปลา-ทู (Scomber spp.) ในมหาสมุทรแอตแลนติก ปรากฏว่าในระยะเป็นไข่และลูกปลาวัยอ่อน อัตราการตายตามธรรมชาติจะสูงถึง ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าหลังจากระยะนี้ผ่านพ้นไปแล้วจะเหลือลูกปลาเจริญเติบโตต่อไปเพียง ๒-๓ ตัวเท่านั้น จากไข่ประมาณ ๒๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ฟองที่แม่ปลาชนิดนี้วางไข่ในฤดูหนึ่ง

หลักการแบ่งจำพวกของปลา 
            เนื่องจากในโลกเรานี้มีปลาชนิดต่างๆ อยู่มากกว่า ๒๐,๐๐๐ ชนิด นักวิทยาศาสตร์จึงได้หาวิธีการจำแนกแยกชนิดของปลาออกเป็นจำพวกและเป็นชนิดต่างๆ เช่น

1. แบ่งออกตามถิ่นฐานที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจายของปลา
2. การแบ่งจำแนกแยกชนิดของปลาตามความสัมพันธ์ระหว่างหมวดหมู่ และตามหลักวิชา
1. แบ่งออกตามถิ่นฐานที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจายของปลา 
           ทางด้านนิเวศวิทยานี้เราอาจแบ่งปลาชนิดต่างๆ ออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
          (๑) ปลาทะเล เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีความเค็มสูงกว่าน้ำจืด ปลาทะเลอาจแบ่งออกไปได้อีกเป็น ๒ จำพวกคือ
          ก) ปลาผิวน้ำ (pelagic fishes) เป็นพวกที่อาศัยในทะเลตั้งแต่ระดับผิวน้ำลงไปถึงระดับกลางน้ำ เช่น ปลาจำพวกปลาทู ปลาอินทรี ปลาโอ เป็นต้น
          ข) ปลาหน้าดิน (demersal fishes) เป็นปลาที่อาศัยและหากินบนพื้นท้องทะเล หรืออาจจะอยู่เหนือพื้นท้องทะเลเล็กน้อย เช่น ปลากระเบน ปลาตาเดียว ปลาทรายแดง และปลาสีกุน เป็นต้น
           หรืออีกวิธีหนึ่งเรายังอาจแบ่งปลาทะเลออกเป็นจำพวกที่อยู่อาศัยในมหาสมุทรหรือทะเลหลวง (oceanic species) เช่น ปลานกกระจอก ปลาโอ ปลาทูนา พวกที่อาศัยและหากินใกล้ฝั่งเช่น ปลาทู ปลาตามหินปะการัง และปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลลึก (abyssal species) ซึ่งแสงแดดส่องลงไปไม่ถึง
           (๒) ปลาน้ำจืด เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดตลอดชีวิต อาจแบ่งออกเป็นสองจำพวกใหญ่ๆคือ ปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำนิ่ง เช่น ในบ่อบึง ได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพ และปลาที่อาศัยในลำธารหรือแม่น้ำ เช่น ปลาตะเพียน ปลาเทพา และปลาสร้อย เป็นต้น
       (๓) ปลาที่อพยพย้ายถิ่น เป็นปลาที่วางไข่ในน้ำจืด แต่เดินทางออกไปหาอาหารเพื่อการเจริญเติบโตในน้ำเค็ม เช่น ปลาตะลุมพุก ปลาแซลมอน หรือปลาที่วางไข่ในทะเลแต่กลับเข้ามาหากินในน้ำจืด เช่น ปลาตูหนา (Anguilla spp.) เป็นต้น
          (๔) ปลาที่อาศัยในน้ำกร่อย เป็นปลาที่ชอบอยู่อาศัยในน้ำที่ไม่ค่อยเค็มอยู่ตลอดชีวิต เช่นปลาในบริเวณป่าไม้แสม โกงกาง ชายเลนที่มีลำน้ำจืดไหลผ่าน เช่น ในบริเวณปากแม่น้ำ ปลาจำพวกนี้ ได้แก่ ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากะพงขาว (Lates calcarifer) ปลากระบอก (Mugil spp.)เป็นต้น

2. การแบ่งจำแนกแยกชนิดของปลาตามความสัมพันธ์ระหว่างหมวดหมู่ และตามหลักวิชา 
          นักวิทยาศาสตร์ได้อาศัยรากฐานเกี่ยวกับรูปซากดึกดำบรรพ์ของปลา ความรู้ทางด้านโครงสร้าง (structure) อวัยวะต่างๆ และการเจริญเติบโตของปลา รวมทั้งความรู้ทางด้านวิวัฒนาการและพันธวิทยา (genetic) สรีรวิทยา ในการจัดลำดับแสดงความสัมพันธ์ของปลากลุ่มต่างๆ ในปัจจุบัน ปลากลุ่มต่างๆ อาจจะแบ่งตามแผนผังกว้างๆ ได้ดังนี้
          ตามหลักฐานของ ดร.ฮิวจ์ เอ็ม สมิท (Hugh M.Smith) ผู้ซึ่งมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางการประมงของรัฐบาลไทย ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๗๘ ได้รายงานปลาน้ำจืดในประเทศไทยไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๔๙ ครอบครัวด้วยกัน เป็นปลาทั้งหมด ๕๖๐ ชนิด สำหรับปลาทะเล หน่วยงานอนุกรมวิธาน (Taxonomic Unit) ของสถานวิจัยประมงทะเล กรมประมง ได้รวบรวม และจำแนกชนิดปลาทะเลไว้ได้มากกว่า ๙๐๐ ชนิด ปลาทะเลที่ได้จำแนกชนิดไว้เหล่านี้ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำของสถานวิจัยประมงทะเล และพิพิธภัณฑ์สัตววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนปลาน้ำจืดส่วนใหญ่ได้เก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์สัตว์ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย

ความสำคัญของปลาต่อมนุษย์ 
         ปลาเป็นอาหารหลักสำคัญของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื้อปลาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งร่างกายของเราต้องการ ตามหลักฐานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ บริโภคปลาเป็นอาหารจำนวนถึง ๕๕.๒ เปอร์เซ็นต์ ของอาหารโปรตีนที่ได้จากสัตว์ทั้งหมดที่ใช้บริโภค ประชาชนในประเทศของเราใช้ปลาเป็นอาหารเป็นจำนวนประมาณ ๒๒ กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในประเทศอื่นๆโดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศในยุโรปหลายประเทศ ก็ใช้ปลาเป็นอาหารประจำวันกันอย่างแพร่หลาย ตามสถิติขององค์การอาหารและเกษตร ฯ ปริมาณปลาทะเลที่จับขึ้นมาใช้ประโยชน์ในโลกมีปริมาณทั้งสิ้นกว่า ๖๐ ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท นอกจากเราจะใช้ปลาเป็นอาหารแล้วยังใช้ในการอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ใช้ในการเลี้ยงไก่ เป็ด และสุกร เป็นต้น ทำให้บังเกิดผลประโยชน์ที่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศของเราเป็นอันมาก การประมงของประเทศมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ขยายตัวอย่างกว้างขวาง เช่น การทำเค็มตากแห้ง การทำน้ำปลา การผลิตน้ำมันตับปลา น้ำมันปลาสร้อย การผลิตปุ๋ยจากปลา การทำอวน ฯลฯ เป็นต้น
          ปลาสวยงามหากเลี้ยงไว้ดูเล่นในบ้านก็มีส่วนทำให้เราได้รับความสุขเพลิดเพลิน และความสงบทางจิตใจ ประเทศสิงคโปร์มีรายได้จากปลาประเภทปลาสวยงามต่างๆ เป็นอันมาก เพราะเป็นประเทศที่ผลิตปลาสวยงามส่งขายในต่างประเทศ จนเป็นอุตสาหกรรมใหญ่โตเป็นล่ำเป็นสันนักวิทยาศาสตร์ใช้ปลาเป็นสัตว์ทดลองเพื่อนำความรู้ใหม่ๆ มาทำให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์เช่น ใช้ปลาในการทดลองหาวงจรชีวิตของพยาธิบางจำพวกที่เป็นอันตรายแก่มนุษย์ ตลอดจนใช้ปลาในการทดลองประดิษฐ์รูปยานพาหนะที่เหมาะสม และวิ่งเร็ว ในระดับความต้านทานต่างๆกัน รวมทั้งการใช้ปลาในการศึกษาเสียงใต้น้ำ เป็นต้น
          นอกจากนี้ปลายังมีส่วนช่วยทำให้สวัสดิภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น เช่น ช่วยทำลายแมลง เช่น ยุงในแหล่งน้ำให้ลดน้อยลง เป็นการช่วยป้องกันโรคระบาดของมนุษย์ได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นวิธีการควบคุมทางชีวภาพ

วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2557

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 15 (ผึ้ง)

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 15 (ผึ้ง)

ลักษณะทั่วไปของผึ้ง 

          ลำตัวของผึ้ง แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง
          ส่วนหัว เป็นที่ตั้งของหนวด ตา และปาก
                  หนวด เป็นอวัยวะรับความรู้สึกและสัมผัส โดยเฉพาะการดมกลิ่นแทนจมูก
               ตา ผึ้งมีตาประกอบใหญ่ ๑ คู่ ช่วยให้มองเห็นได้ในระยะไกลและเป็นบริเวณกว้าง สามารถมองเห็นดอกไม้สีต่างๆ ได้ในระยะไกล ผึ้งมองเห็นสีต่างๆ ได้เกือบเหมือนคน นอกจากสีแดงซึ่งผึ้งจะเห็นเป็นสีดำ ผึ้งตัวผู้มีตาใหญ่กว่าผึ้งงานและผึ้งนางพญา
               ปาก ของผึ้งเป็นแบบกัดดูด ประกอบด้วยอวัยวะเล็กๆ หลายส่วน คือ ปากบนมีกรามแข็งแรง ๑ คู่ ด้านข้างเป็นฟัน ตรงกลางเป็นงวงทำหน้าที่ดูดน้ำหวาน ปากของผึ้งตัวผู้และนางพญาหดสั้นมากเพราะไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากผึ้งงานช่วยป้อนอาหารให้ผึ้งทั้งสองวรรณะ

        ส่วนอก เป็นส่วนรวมของกล้ามเนื้อและเป็นที่ตั้งของขาและปีก
               ขา มี ๓ คู่ ขาหลังมีอวัยวะพิเศษสำหรับเก็บเกสรเรียกว่า ตะกร้าเก็บเกสร ผึ้งตัวผู้และผึ้งนางพญาไม่มีอวัยวะนี้ เพราะไม่ต้องออกไปหาอาหาร
               ปีก มี ๒ คู่ คู่แรกใหญ่กว่าคู่หลังเล็กน้อยปีกคู่แรกและคู่หลังเกี่ยวกันด้วยตาขอเล็กๆ เรียงกันเป็นแถวเรียกว่า ฮามูไล (hamulai)

        ส่วนท้อง ของผึ้ง ประกอบด้วย ๖ ปล้องตัวผู้มี ๗ ปล้อง ที่ปลายท้องของผึ้งงานและผึ้งนางพญามีเหล็กใน แต่ผึ้งตัวผู้ไม่มีเหล็กใน ด้านข้างแต่ละปล้องมีรูหายใจ ปล้องละ ๑ คู่
              อวัยวะวางไข่ อยู่ที่ปล้องสุดท้ายในผึ้งงานและผึ้งนางพญา บางส่วนของอวัยวะวางไข่จะดัดแปลงเป็นเหล็กในมีลักษณะเป็นเข็มแหลม
              รูหายใจ เป็นรูเปิดด้านข้างส่วนอกและท้อง มีทั้งหมด ๑๐ คู่ ๓ คู่ แรกอยู่ที่ส่วนอก อีก ๗ คู่ อยู่ที่ส่วนท้อง รูหายใจจะปิดเปิดตลอดเวลาเพราะมันหายใจเข้าออกทางรูเหล่านี้ รูหายใจจะติดต่อกับท่อลมและถุงลม ผึ้งมีถุงลมใหญ่มากอยู่ภายในลำตัว ช่วยพยุงตัวขณะที่ผึ้งบิน ทำให้ผึ้งสามารถบินเร็วและบินได้ไกลด้วย
              ขนตามลำตัว ของผึ้งมีจำนวนมากเป็นขนละเอียด มีเส้นประสาทรับความรู้สึกและรับสัมผัส เช่น ส่วนขนบริเวณหน้าใช้รับความรู้สึก การเคลื่อนไหว และทิศทางลม ผึ้งมักจะบินทวนลมไปยังที่ตั้งของแหล่งอาหาร ขนที่ติดกับอกและท้องของผึ้งสามารถรับความรู้สึกเกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลก ทำให้สามารถบอกความสูงต่ำได้ใน ขณะที่บิน นอกจากนั้นขนยังรับสัมผัสการเคลื่อนไหวของศัตรู และ รับสัมผัสอาหาร คือ เกสรและน้ำหวานจากพืชได้อีกด้วย

ลักษณะของรวงรัง 

          ลักษณะรวงรัง  (comb)  ของผึ้งทุกชนิดพบว่าประกอบด้วยหลอดรวง (cells) รูปหกเหลี่ยมด้านเท่าจำนวนพันๆ หลอดรวง ขนาดของหลอดรวงขึ้นอยู่กับชนิดของผึ้ง เช่น ผึ้งหลวงตัวใหญ่ขนาดของหลอดรวงก็ใหญ่ด้วย ผึ้งมิ้มมีขนาดเล็กที่สุด ดังนั้นขนาดหลอดรวงของผึ้งมิ้มจึงเล็กที่สุดจำนวนหลอดรวงในรังผึ้งขึ้นอยู่กับขนาดของรัง เช่น ผึ้งหลวงรังใหญ่ๆ อาจจะมีจำนวนมากถึงหมื่นๆ หลอดรวงเช่นเดียวกับผึ้งเลี้ยง โดยเฉพาะผึ้งโพรงฝรั่งมีประชากรมากที่สุด รังผึ้งรังเดียวอาจจะซ้อนกันได้ถึง ๓-๔ หีบ แต่ละหีบมีรังผึ้ง ๘- ๑๐ รวง ดังนั้นจะมีประชากรผึ้งงานมากกว่าแสนตัว 


ลักษณะของหลอดรวง 

      รวงรังผึ้งเปรียบเหมือนบ้าน หลอดรวงต่างๆ คือ ห้องนั่นเอง ดังนั้นจึงมีไว้เพื่อเป็นที่อาศัยของตัวอ่อน นางพญาจะวางไข่ลงที่ฐานหลอดรวง ต่อมาตัวอ่อนหรือตัวหนอนจะเจริญในหลอดรวงเข้าดักแด้ เมื่อลอกคราบสุดท้ายตัวเต็มวัยผึ้งจะคลานออกมาจากหลอดรวง ในรวงรังผึ้งชนิดเดียวกันจะมีหลอดรวงไม่เท่ากันเพราะขนาดของผึ้งในแต่ละวรรณะไม่เท่ากัน เช่น หลอดรวงของผึ้งงานมีขนาดเล็กที่สุด ในรังผึ้งโพรงไทยหลอดรวงผึ้งงานกว้าง  ๐.๑๘ นิ้ว ส่วนหลอดรวงผึ้งตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าคือกว้าง ๐.๒๑ นิ้ว  หลอดรวงของผึ้งนางพญามีลักษณะพิเศษ คือ หลอดรวงจะใหญ่ที่สุด เป็นหลอดยาวอยู่ทางด้านล่างของรวงในลักษณะที่ห้อยหัวลง ผึ้งทุกวรรณะเมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะไม่เข้าไปอยู่ในหลอดรวงอีก แต่จะอาศัยเกาะห้อมล้อมรอบๆ รวงรัง  หลอดรวงตัวอ่อนนี้อาจจะใช้สำหรับเก็บน้ำผึ้งและเกสรได้ด้วย โดยเฉพาะในฤดูดอกไม้บานปกติ หลอดรวงเก็บน้ำผึ้งจะอยู่บนสุด เราเรียกว่า หัวรวงหรือหัวน้ำผึ้ง ต่ำลงมาเป็นหลอดรวงเก็บเกสรและหลอดรวงตัวอ่อน

       การสร้างหรือซ่อมแซมรัง  เป็นหน้าที่ของผึ้งงาน โดยใช้ไขผึ้งจากต่อมไขผึ้ง ๔ คู่ ทางด้านล่างส่วนท้องของผึ้งงานที่มีอายุ ๑๒-๑๘ วัน ไขผึ้งจะถูกผลิตออกมาเป็นแผ่นๆ ในการสร้างหรือซ่อมแซมรัง  ผึ้งงานจะเขี่ยแผ่นไขผึ้งออกมาจากท้อง แล้วเอามาเคี้ยวผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลงแล้วจึงนำไปเชื่อมต่อๆ กันเป็นหลอดรวงรูปหกเหลี่ยมหลายๆ อัน ก่อให้เกิดเป็นรวงรังขึ้น

วงจรชีวิตและสังคมผึ้ง

      ไม่มีผึ้งตัวหนึ่งตัวใด สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลานาน โดยขาดความสัมพันธ์กับผึ้งวรรณะอื่นภายในสังคมเดียวกันเพราะผึ้งเป็นแมลงสังคมที่มีวิวัฒนาการสูง มีระบบสังคมมาเป็นเวลาช้านานประมาณถึง ๓๐ ล้านปีผึ้งแต่ละรังเปรียบเสมือนครอบครัวหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ๓ วรรณะ คือ ผึ้งนางพญาหนึ่งตัว ผึ้งตัวผู้หลายร้อยตัว และผึ้งงานอีกจำนวนเป็นหมื่นตัว โดยเฉพาะผึ้งเลี้ยงอาจจะมีผึ้งงานได้หลายหมื่นตัว

   รังผึ้งรังหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่งๆ จะดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีระเบียบในระบบสังคมที่มีนางพญาเป็นศูนย์กลาง ทำหน้าที่ผสมพันธุ์สร้างประชากร ปกตินางพญาผึ้งโพรงไทยจะวางไข่ได้วันละ ๑,๐๐๐ ฟอง นางพญาผึ้งโพรงฝรั่งสามารถวางไข่ได้ถึงวันละ ๓,๐๐๐ฟองโดยมีผึ้งงานคอยรับใช้ ทำความสะอาด ให้อาหารและนำของเสียไปทิ้ง

       ผึ้งนางพญา มีลักษณะตัวใหญ่กว่าผึ้งงานและลำตัวยาวกว่าผึ้งตัวผู้ ปกติจะมีอายุ ๑-๒ ปี แต่บางตัวอาจมีอายุนานถึง ๓ ปี

       ผึ้งงาน เป็นผึ้งเพศเมีย มีขนาดเล็กที่สุดเนื่องจากในระยะที่เป็นตัวอ่อนได้รับอาหารพิเศษคือนมผึ้งหรือรอยัลเยลลี (royal jelly) เพียง ๓ วันหลังจากนั้นตัวอ่อนผึ้งงานที่มีอายุมากขึ้นจะได้กินแต่เกสรและน้ำผึ้ง ทำให้ขบวนการพัฒนาแตกต่างไปจากผึ้งนางพญามาก ในขณะที่ผึ้งนางพญาได้กินนมผึ้งตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอายุ ๑ วัน และได้กินต่อไปจนตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เพศเมีย ๒ วรรณะนี้  ผิดแผกแตกต่างกันทั้งลักษณะภายนอก และภายใน ตลอดจนภารกิจต่างๆ ผึ้งงานมีหน้าที่หลักในการทำงาน เช่น ทำความสะอาดรัง เลี้ยงดูป้อนอาหารให้ผึ้งตัวอ่อน  สร้างและซ่อมแซมรังเป็นทหารเฝ้ารังป้องกันศัตรูและหาอาหาร  ผึ้งงานต้องรับภาระดังกล่าวเท่ากันทุกตัว  ไม่มีการเอาเปรียบแก่งแย่งกันหรือหลบงานเลย ทุกตัวรับผิดชอบงานของตนเองโดยไม่มีใครบังคับ และไม่ต้องสั่งสอนกัน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าผึ้งงาน คือหุ่นยนต์ที่มีชีวิตตัวน้อยๆ ทำงานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้นผึ้งงานจึงมีอายุสั้นเพียง ๖-๘ สัปดาห์เท่านั้น

    ผึ้งตัวผู้ มีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนและสั้นกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ไม่มีเหล็กใน มีลิ้นสั้นหาอาหารเองไม่ได้ แต่จะรับอาหารจากผึ้งงานเท่านั้นผึ้งตัวผู้ไม่มีหน้าที่ทำงานภายในรัง ดังนั้นจึงมีหน้าที่ผสมพันธุ์อย่างเดียว เมื่อผสมพันธุ์ ในอากาศเสร็จจะตกลงมาตาย เมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ ผึ้งตัวผู้ที่ยังไม่มีโอกาส ผสมพันธุ์จะถูกผึ้งงานปล่อยให้อดตายด้วย เราจะพบผึ้งตัวผู้ปรากฏในรังเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น หลังจากผสมพันธุ์กับนางพญาแล้ว ผึ้งตัวผู้จะตายทันที 

พฤติกรรมและภาษาผึ้ง 

           พฤติกรรม คือการแสดงออกในลักษณะท่าทางเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ผึ้งเป็นแมลงสังคมที่มีพฤติกรรมแสดงออกมากกว่าแมลงอื่นๆ พฤติกรรมเหล่านี้ ได้แก่ ภาษาผึ้ง การผสมพันธุ์ การวางไข่ และการแยกรัง เป็นต้น

       ภาษาผึ้ง เป็นภาษาใบ้ชนิดหนึ่ง เป็นอาการที่แสดงออกของผึ้ง เพื่อใช้บอกแหล่งอาหารให้สมาชิกในรังทราบและพากันบินไปหาอาหารนั้นทันที
          การเต้นรำบอกแหล่งอาหารของผึ้งมีอยู่ ๒ แบบ คือ การเต้นรำแบบวงกลมและการเต้นรำแบบส่ายท้อง

พิษของยาฆ่าแมลงต่อผึ้ง 
        ยาฆ่าแมลงก่อให้เกิดปัญหาความเป็นพิษอย่างรุนแรงต่อผึ้งมากที่สุด ผึ้งในธรรมชาติตายไปมากมายจนนับจำนวนไม่ได้เพราะยาฆ่าแมลงที่ใช้ในประเทศไทย  เนื่องจากคนใช้ยาฆ่าแมลงไม่เคยคิดเลยว่ายาฆ่าแมลงที่ใช้นั้นมีพิษต่อผึ้งที่มีประโยชน์ของเรา  ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ ผึ้งหลวงซึ่งเคยมีเป็นจำนวนมากในชนบท ในสวนและในไร่นา ปัจจุบันเหลือผึ้งหลวงมาเกาะทำรังน้อยลงทุกปี  ผึ้งเลี้ยงในประเทศไทยนั้นตายลงเพราะพิษยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจ ผู้เลี้ยงผึ้ง ๒๐ รายในจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่ามีผู้เคยประสบปัญหาผึ้งพันธุ์ที่เลี้ยงได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงตายถึง ๑๘ ราย คิดเป็นร้อยละ ๙๐

       ปัญหาความเป็นพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีต่อการเลี้ยงผึ้งพันธุ์มีทางแก้ไขได้ ถ้าเกษตรกรและผู้เลี้ยงผึ้งให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันและปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิชาการเลี้ยงผึ้งจากกรมส่งเสริมการเกษตร

       อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งเป็นของใหม่ในประเทศไทย  ดังนั้นผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องพยายามสนใจและทำความเข้าใจในเรื่องสารเคมีที่เป็นพิษต่อผึ้ง  เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขให้ทันท่วงที

         อย่างไรก็ดี อันตรายจากสารเคมีที่มีพิษต่อผึ้งในประเทศไทยยังมีปัญหาน้อยมากเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ เนื่องจากเกษตรกรผู้ใช้สารเคมียังไม่นิยมการฉีดพ่นสารเคมีด้วยเครื่องบิน ดังนั้น ถ้าผู้เลี้ยงผึ้งปฏิบัติตามคำแนะนำและหาวิธีการป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่มีพิษต่อผึ้งได้อย่างถูกต้อง อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มว่าจะพัฒนามากขึ้นตามลำดับนั้น คงจะมีอนาคตแจ่มใสมากขึ้น 

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้ง

          ผึ้งเป็นแมลงที่มีประโยชน์แก่มนุษย์ ทั้งในด้านช่วยเพิ่มผลิตผลของพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะการผสมให้ผลไม้ ผลไม้ในประเทศไทยที่ผึ้งสามารถผสมเกสรได้ดี คือ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ มะม่วง ทุเรียน ชมพู่ ส้ม และมะนาว เป็นต้นนอกจากนี้  ผึ้งยังเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรพืชตระกูลแตง เช่น แตงโม แตงกวา แตงไทย โดย เฉพาะแตงน้ำผึ้ง (honey dew) หรือแตงต่างประเทศที่ราคาแพงนั้นเหมาะสมมากที่จะใช้ผึ้งช่วยผลิตเมล็ดพันธุ์ในระดับอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ของผึ้ง ที่คุณค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ น้ำผึ้ง เกสร ไขผึ้ง นมผึ้ง พรอพอลิส และพิษของผึ้ง ส่วนการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยได้ผลิตผล เพียง ๓ ชนิดเท่านั้น คือ น้ำผึ้ง เกสร และไขผึ้ง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้จาก ผึ้งโพรงฝรั่งอีก คือ นมผึ้ง และพรอพอลิส 
การเลือกสถานที่สำหรับเลี้ยงผึ้ง

        การเลี้ยงผึ้งให้ได้ผลิตผลน้ำผึ้งและเกสรนั้น ผู้เลี้ยงในระดับอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเลือกหาสถานที่ ตลอดจนสภาพบริเวณที่ตั้งรังผึ้งให้เหมาะสม เพื่อที่จะได้ผลิตภัณฑ์ผึ้งมากที่สุด ความสำเร็จของการเลี้ยงผึ้งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เลี้ยงในการเลือกสถานที่เลี้ยงผึ้ง ที่ให้ผึ้งเข้าไปเก็บน้ำหวานและเกสรดอกไม้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาปัจจัยที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ 

ลักษณะทำเลที่ตั้งรังผึ้ง 

         สถานที่ที่เหมาะต่อการตั้งรังผึ้งควรให้อยู่ใกล้กับแหล่งพืชที่เป็นอาหารของผึ้งให้มากที่สุดและมีดอกไม้บานตลอดปี ควรจะเป็นลานโล่งใกล้กับแหล่งน้ำ แต่น้ำไม่ท่วม สถานที่เลี้ยงผึ้งนี้นิยมเรียกกันว่า "ลานเลี้ยงผึ้ง" การเลือกลานเลี้ยงผึ้ง นับว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ทีเดียว  ถ้าเลือกลานเลี้ยงผึ้งไม่ดี จะนำไปสู่ความหายนะได้ทันที เช่น เลือกลานเลี้ยงผึ้งที่ใกล้สวนผลไม้ที่ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเป็นประจำผึ้งจะได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงตายได้อย่างรวดเร็วบางครั้งผู้เลี้ยงผึ้งเลือกลานเลี้ยงผึ้งใกล้ริมแม่น้ำ โดยมิได้ศึกษาเรื่องน้ำท่วมมาก่อนดังนี้  พอถึงฤดูฝนเกิดน้ำหลากไหลพัดพารังผึ้งจมน้ำหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ลานเลี้ยงผึ้งควรอยู่ในสวนผลไม้หรือที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นฉากกำบังลมและแดดเพราะว่าถ้าลมแรงมากไปจะปะทะการบินของผึ้งในการบินออกหาอาหาร ถ้าร้อนมากไปผึ้งจะต้องเสียพลังงานเป็นจำนวนมากเพื่อลดความร้อนในรัง



        ลานผึ้งไม่ควรอยู่ในแหล่งชุมชนหรืออยู่ติดกับถนนที่มีแสงจากไฟฟ้า โดยเฉพาะผึ้งโพรงจะออกมาเล่นไฟในตอนหัวค่ำและเช้ามืด ผึ้งที่ออกมาเล่นไฟนี้อาจจะตายได้ เพราะบินจนหมดแรง หรือถูกสัตว์พวกจิ้งจก ตุ๊กแก กบ และคางคกจับกิน ลานผึ้งที่อยู่ในที่ชุมชนติดทางเดินเท้า ผึ้งอาจจะบินไปชนและต่อยคนที่เดินผ่านไปมาได้

        อย่างไรก็ตามควรเลือกลานผึ้งที่อยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีการคมนาคมสะดวก เพราะมีความจำเป็นต้องขนย้ายรังผึ้งไปในแหล่งที่มีดอกไม้บาน ในบางครั้ง ตลอดจนสะดวกต่อการขนย้ายอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้งในการจัดจำหน่ายอีกด้วย 

ชนิดและปริมาณพืชอาหาร 
          ผึ้งและดอกไม้ซึ่งเป็นพืชอาหารของผึ้ง เป็นของคู่กันในการดำรงชีวิต  ผึ้งจะขาดน้ำหวานและเกสรดอกไม้ไม่ได้  ในเวลาเดียวกันพืชดอกไม้ย่อมต้องการให้ผึ้งช่วยผสมพันธุ์ด้วย  น้ำหวานเป็นส่วนที่หลั่งออกมาจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้ผึ้งงานจะบินไปดูดน้ำหวานจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้เพื่อนำกลับมาบ่มให้เข้มข้นจนกลายเป็นน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ผึ้ง สำหรับเกสรของดอกไม้นั้นคือ เซลล์สืบพันธุ์ของพืชซึ่งเป็นอาหารประเภทโปรตีนช่วยให้ผึ้งเจริญเติบโตจนถึงวัยสืบพันธุ์   ผึ้งงานต้องการโปรตีนเพื่อผลิตนมผึ้งให้กับผึ้งตัวอ่อน (อายุ ๑-๓ วัน) และผึ้งนางพญา

        ดังนั้นผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องรู้จักแหล่งและชนิดของพืชอาหารของผึ้ง เพราะว่าดอกไม้จากพืช บางชนิดให้น้ำหวานมาก เช่น สาบเสือ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ และพืชบางชนิดให้เกสรมาก เช่น ดอกข้าวโพด ดอกไมยราบ แต่ดอกไม้บางชนิดให้ทั้งน้ำหวานและเกสรคือ ดอกนุ่น และดอกทานตะวันเป็นต้น (เพื่อศึกษาข้อมูลเรื่องพืชอาหารผึ้งเพิ่มเติม โปรดดูตารางแสดงรายชื่อพืชที่เป็นอาหารของผึ้งที่เลี้ยงในประเทศไทย)

         นอกจากนั้นผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องพิจารณาปริมาณการกระจายของดอกไม้ในท้องที่นั้นด้วยควรเลือกพื้นที่ที่ปริมาณพืชอาหารออกดอกหนาแน่นและบานสะพรั่งติดต่อกันเป็นช่วงระยะเวลานานๆ เช่น ในสวนลำไย สวนเงาะ ไร่ข้าวโพด ไร่นุ่น หรือไร่ทานตะวันที่มีเนื้อที่เป็นพันๆ ไร่ เป็นต้น การรู้ระยะเวลาดอกไม้บานเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะผู้เลี้ยงจะได้จัดการเตรียมผึ้งเข้าไปเก็บน้ำผึ้งได้อย่างถูกต้อง

ศัตรูผึ้ง 

          บริเวณลานเลี้ยงผึ้งที่ดีควรจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยจากศัตรูผึ้งที่จะเข้ามารบกวนหรือทำลายรังผึ้ง ดังนั้นจึงควรสำรวจเสียก่อนทุกครั้งในลานผึ้ง  ก่อนที่จะนำผึ้งเข้าไปเลี้ยง

       ผึ้งมีศัตรูธรรมชาติเช่นเดียวกับแมลงอื่นๆ ศัตรูเหล่านี้ได้แก่ ไร  ตัวต่อ และมด ซึ่งจัดเป็นศัตรูที่สำคัญของผึ้งทุกชนิด โดยเฉพาะผึ้งโพรงฝรั่งซึ่งเรานำมาเลี้ยงจากต่างประเทศจะมีศัตรูรบกวน และรุนแรงกว่าผึ้งโพรงพื้นเมืองของประเทศไทย

       ไร เป็นสัตว์ขนาดเล็กที่มี ๘ ขาซึ่งไม่ใช่แมลง มองแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไรดูดเลือดผึ้งเป็นอาหารโดยเฉพาะ  ชอบดูดเลือดผึ้งในระยะดักแด้มากที่สุด ถ้ามีไรเป็นจำนวนมากๆ  ผึ้งโพรงฝรั่งไม่สามารถเจริญเป็นตัวเต็มวัยได้  ผึ้งโพรงไทยต้านทานไรได้ดีกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง

       ตัวต่อ เป็นแมลงที่เป็นศัตรูสำคัญของผึ้งอีกชนิดหนึ่ง สามารถจับผึ้งกินเป็นอาหารได้ตาม บริเวณดอกไม้และที่หน้ารังผึ้ง  ถ้าผึ้งอ่อนแอลงมากๆ ตัวต่อจะยกพวกเข้าโจมตีผึ้งให้เสียหายได้ทั้งรัง แต่ผึ้งโพรงไทยสามารถต่อสู้กับตัวต่อได้ดีเช่นกัน ถ้าเราดูแลรักษาให้ผึ้งมีประชากรมากๆแข็งแรงอยู่เสมอ

         มดแดง ที่ชอบสร้างรังบนต้นมะม่วงและต้นผลไม้ต่างๆ เป็นศัตรูที่สำคัญของผึ้งทุกชนิด มดแดงจะเฝ้าคอยจับผึ้งตามดอกไม้เพื่อกินผึ้งเป็นอาหาร บางครั้งมดแดงจะบุกโจมตีผึ้งทั้งรัง ทำให้ผึ้งหนีรังไปในที่สุดเพราะไม่สามารถสู้กับมดแดงได้  ดังนั้นก่อนตั้งรังผึ้งทุกครั้งต้องกำจัดมดแดงให้หมด

         นอกจากศัตรูทั้ง ๓ ชนิดแล้ว ยังมีหนอนผีเสื้อกินไขผึ้ง ถึงแม้ว่าหนอนกินไขผึ้งจะไม่ได้เป็นศัตรูโดยตรงกับผึ้งแต่หนอนกินไขผึ้งจะเข้าทำลายกินไขผึ้ง ทำให้ผึ้งหนีรังไปในที่สุด โดยเฉพาะผึ้งโพรงที่หนีรังอยู่เสมอ เพราะโดนหนอนชนิดนี้รบกวน การทำความสะอาดภายในรังบ่อยๆ ตลอดจนการบำรุงรักษาผึ้งให้แข็งแรง จะลดการระบาดของหนอนผีเสื้อชนิดนี้ได้

          สำหรับศัตรูอื่นๆ ที่สามารถรบกวนและกินผึ้งเป็นอาหารได้ คือ แมงมุมหลายชนิดที่ชอบชักใยจับผึ้งบริเวณหน้ารัง  กิ้งก่า  จิ้งจก  คางคก อึ่งอ่าง และกบ  ชอบดักกินผึ้งหน้ารังเช่นกัน แมลงปอสามารถจับผึ้งกินในอากาศได้ นอกจากนั้นยังมีนกหลายชนิดเช่น นกนางแอ่น และ นกแซงแซว โดยเฉพาะนกจาบคาในฤดูหนาวจะบินมาเป็นฝูงเพื่อโฉบกินผึ้ง 

วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเลี้ยงผึ้ง 

         ผู้เลี้ยงผึ้งที่ดีจะต้องพิถีพิถันเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์เป็นอย่างมาก วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการเลี้ยงผึ้งควรจะมีคุณภาพและได้ มาตรฐานซึ่งจะมีผลถึงความคล่องตัวในการปฏิบัติงานกับรังผึ้ง ทั้งยังสะดวกในการประกอบชิ้นส่วนแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน และง่ายต่อการดูแลรักษาวัสดุและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพดี อาจทำให้เราต้องลงทุนสูงขึ้นเล็กน้อยในระยะแรกๆ แต่ก็ให้ผล คุ้มค่าในระยะยาว วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเลี้ยงผึ้งที่สำคัญมีดังนี้
          ชุดหีบเลี้ยงผึ้งโพรงไทย มักเป็นไม้ที่มีน้ำหนักเบา อบแห้งสนิท ไม่ยืด ไม่หด และไม่บิดเบี้ยว เหตุที่จำเป็นต้องใช้ไม้เบาเพราะทุ่นแรงในการยกลง ขณะปฏิบัติงาน ผู้เลี้ยงผึ้งทางภาคเหนือของประเทศไทยเรานิยมใช้ไม้สัก ซึ่งมีความเบาคงทนถาวรและไม่บิดตัว ชุดหีบเลี้ยงผึ้งโพรงไทยนั้น คล้ายกับชุดหีบเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่ง ประกอบไปด้วย ส่วนประกอบต่างๆ ที่สำคัญต่อไปนี้คือ
         ฐานรัง ฐานรังจะต้องมีขนาดที่รองรับตัวหีบเลี้ยงได้ โดยจะต้องมีขนาดกว้างเท่ากับหีบมาตรฐาน แต่มีความยาวยื่นออกมาทางด้านหน้าให้ยาวกว่าตัวหีบประมาณ ๒ นิ้ว เพื่อเป็นลานบินของผึ้ง ฐานรังจึงมีขนาดกว้าง x ยาว เท่ากับ ๑๖ ๑/x ๑๙ นิ้ว หน้าไม้ที่นำมาประกอบฐานรังเมื่อไสกบแล้วควรหนา ๑ ๗/นิ้ว ที่ด้านบน ส่วนหน้าของฐานรังมีไม้สอดอยู่ ไม้นี้จะเจาะหรือบากเอาไว้สองด้าน ให้มีขนาดเล็กและใหญ่ ไม้ ส่วนนี้เรียกว่า ไม้ลดขนาดปาก ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เลี้ยงผึ้งที่จะพลิกแท่งไม้ส่วนนี้กลับไปมา เพื่อปิด ลด หรือ ขยายปากทางเข้าออกรังผึ้งได้ตามต้องการ
         หีบมาตรฐาน หีบมาตรฐานมีขนาดที่จะบรรจุคอนได้ ๑๐ คอนด้วยกัน  แต่ผู้เลี้ยงผึ้งนิยมใส่เพียง ๙ คอน หีบมาตรฐานของผึ้งโพรงไทยนั้นสั้นกว่าหีบมาตรฐานของผึ้งโพรงฝรั่ง เพื่อความสะดวกในการยกคอนขึ้นลง ขนาดของหีบมาตรฐานสูง x กว้าง x ยาว เท่ากับ ๙ ๑/x ๑๖ ๑/x ๑๗ นิ้ว ที่ผนังด้านในของส่วนความกว้าง ส่วนขอบด้านบนทั้งสองด้าน ก็จะเซาะเป็นร่องบ่า เพื่อรองรับคอนหรือกรอบรวง หีบมาตรฐานนี้หีบหนึ่งเมื่อนำไปใช้  ถ้ารวงมีน้ำผึ้งอยู่เต็ม  ๙ - ๑๐ รวง เมื่อรวมกับน้ำหนักของหีบแล้ว  ก็จะหนักประมาณ ๒๐  - ๒๕ กิโลกรัม  สำหรับรังผึ้งโพรงฝรั่งที่ยังสมบูรณ์และอยู่ในสภาพที่ดี เพื่อความสะดวกผู้เลี้ยงที่เคยเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งมาก่อน สามารถนำหีบมาตรฐานของผึ้งโพรงฝรั่งมาเลี้ยงผึ้งโพรงไทยได้ทันที โดยทำคานกั้นภายในหีบให้สั้นลงเหลือ ๑๗ นิ้ว เพื่อรับกับคอนของผึ้งโพรงไทยซึ่งมีขนาดสั้นกว่าได้  (ขนาดของหีบมาตรฐานผึ้งโพรงฝรั่งเท่ากับ ๙ ๑/x ๑๖ ๑/ x ๒๐ นิ้ว)
         คอนหรือกรอบรวง ชิ้นส่วนที่สำคัญนอกเหนือจากหีบเลี้ยงก็คือคอน หรือบางคนอาจเรียกว่ากรอบรวง คอนเป็นอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยไม้ ๔ ส่วนด้วยกันคือ คานบน ๑ ส่วน ไม้ประกบข้าง ๒ ส่วน และคานล่างอีก ๑ ส่วน เมื่อต่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ก็เป็นที่ที่ผึ้งสร้างรวงรัง ขนาดของคอนหรือกรอบรวงที่เลือกใช้นั้น ก็จะต้องสัมพันธ์กับขนาดของหีบเลี้ยงด้วย  ความยาวจะต้องมีขนาดมาตรฐานเท่ากับหีบมาตรฐานคือยาว ๑๖ ๑/นิ้ว โดยเว้นที่ปลายด้านละ ๓/นิ้ว ไว้เพื่อเป็นที่บ่ารองรับน้ำหนักวางพาด หรือแขวนอยู่ได้ ส่วนความสูงของคอนนั้น ขึ้นอยู่กับความสูงของหีบที่ใช้  คือถ้าใช้กับหีบเลี้ยงมาตรฐาน ซึ่งมีความสูง ๙ ๑/นิ้ว เพื่อที่จะให้คอนแขวนอยู่ในหีบได้พอดีแล้ว คอนที่ใช้จึงควรจะมีความสูงเท่ากับ ๘ ๑/นิ้ว เพื่อให้แผ่นฐานรวงยึดติดกับคอนอย่างเหนียวแน่นพอสมควร ที่ตรงกลางของด้านล่างของคอนบนและตรงกลางด้านในของคอนล่าง เราจึงจำเป็นต้องเซาะให้เป็นร่องยาวตลอดแนวเพื่อยึดแผ่นฐานรวงให้ติดอยู่ และเจาะรูเล็กๆ ที่ไม้ประกอบด้านข้างทั้ง ๒ ส่วน จำนวน ๓-๔ รู  ขึงลวดเหนียวเส้นเล็กระหว่างไม้ประกบข้างทั้ง ๒ ส่วน เพื่อที่จะเพิ่มความแข็งแรงให้กับรวงซึ่งจะช่วยให้รวงผึ้งไม่หลุดจากคอนในขณะที่นำเข้าไปสลัดน้ำผึ้งในเครื่อง
         ฝาชั้นใน ฝาชั้นในมีประโยชน์ที่เห็นได้ชัดก็คือ ป้องกันไม่ให้ผึ้งแตกตื่นบินสวนออกมาเมื่อเราเปิดฝาครอบนอกของรังผึ้งออก ฝาชั้นในยังเป็นฉนวนช่วยกั้นความร้อนจากแสงแดดในฤดูร้อน รักษาความอบอุ่นภายในรังเอาไว้ เมื่อภายนอกมีอุณหภูมิต่ำ นอกจากนี้ก็ยังช่วยในการระบายและถ่ายเทอากาศให้กับรังผึ้งด้วย สำหรับวัสดุที่ใช้ มักจะใช้แผ่นกระดาษหรือไม้อัดแข็ง โดยมีไม้ตีเป็นกรอบขนาดกว้าง x ยาว เท่ากับ ขนาดของหีบเลี้ยง คือ ขนาด ๑๖ ๑/x ๑๗ นิ้ว  เพื่อที่จะได้วางทับลงบนหีบได้พอดี ที่ตรงกลางของฝาชั้นในก็จะเจาะเป็นรูกลม ๑ รู เพื่อช่วยในการระบายอากาศ
          ฝาชั้นนอก เป็นฝาที่สวมครอบลงบนหีบเลี้ยง ทำหน้าที่กันฝนและแสงแดดให้กับรังผึ้ง ฝาชั้นนอกอาจจะใช้ไม้อัดธรรมดา ตัดขนาด ๑๖ ๑/x ๑๙ นิ้ว และที่ด้านบนของฝาชั้นนอกก็จะใช้สังกะสีปิดทับอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันเนื้อไม้ไม่ให้ผุเร็ว และยังช่วยให้รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์สะท้อนกลับ
        แผ่นฐานรวง หรือแผ่นรังเทียม ก็คือ แผ่นไขผึ้งที่พิมพ์ให้เป็นรอยตารางหกเหลี่ยมทั้งสองด้านและขนาดตารางหกเหลี่ยมนี้ จะเท่ากับขนาดของความกว้างของหลอดรวงของรวงผึ้งโพรงไทยตามธรรมชาติ ซึ่งเล็กกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง  แผ่นฐานรวงผึ้งโพรงไทย ๑ ตารางนิ้ว จะมีจำนวน ๗๐ หลอดรวงทั้งสองด้าน โดยทั่วไปแล้วความกว้าง และความยาวของแผ่นฐานรวงจะมีขนาดพอดีที่จะถูกนำมาตรึงตรงกลางของคอนหรือกรอบรวง เพื่อเป็นการเร่งเวลาให้ผึ้งงานสร้างหลอดรวง ต่อจากรอยพิมพ์ที่เป็นตารางหกเหลี่ยมได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการประหยัดแรงงานของผึ้งงานในการสร้างรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาการเก็บน้ำผึ้ง เพราะจะมีผลต่อผลิตผลน้ำผึ้งที่เก็บสะสมได้
             นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการบังคับให้ผึ้งสร้างรวงอยู่แต่เฉพาะในกรอบรวงที่มีแผ่นฐานรวงตรึงติดอยู่เท่านั้น ทำให้รวงผึ้งที่ถูกสร้างขึ้นมาภายในรังผึ้งแต่ละรวงมีความเป็นระเบียบสม่ำเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นการประหยัดแรงงาน ตลอดทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เลี้ยงผึ้ง และกับผึ้งภายในรังนั้นๆ เป็นอย่างยิ่ง แผ่นฐานรวงของผึ้งโพรงไทย จะหาซื้อได้ยากกว่าแผ่นฐานรวงของผึ้งโพรงฝรั่งซึ่งมีขนาดใหญ่ (ในเนื้อที่ ๑ ตารางนิ้ว จะมีจำนวน ๕๕ หลอดรวงทั้งสองด้าน)
         เหล็กงัดรังผึ้ง เมื่อเราจะปฏิบัติงานกับรังผึ้งรังหนึ่งๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีเหล็กงัดรังผึ้งซึ่งทำจากเหล็กเหนียวอย่างดี มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ สามารถรับน้ำหนักในการที่ใช้งัดหีบเลี้ยงผึ้งให้แยกออกจากกันได้ เหล็กงัดผึ้งโดยทั่วไปจะมีปลายแบนข้างหนึ่ง เพื่อที่จะใช้กับช่องว่างระหว่างคอนแต่ละคอน หรือระหว่างชั้นของหีบเลี้ยงแต่ละชั้น นอกจากนั้นปลายด้านแบนนี้ยังใช้ในการแซะ ขูด เศษไขผึ้ง หรือยางไม้ที่ติดอยู่ภายในรัง และยังมีประโยชน์ในการขูดเหล็กในผึ้ง ให้หลุดจากผิวหนังของเรา
ที่ถูกผึ้งต่อยได้อีกด้วย ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งของเหล็กงัดรังจะโค้งเป็นมุมฉากออกไปประมาณ ๑ นิ้ว  และมีรูอยู่  ปลายด้านนี้อาจใช้แทนค้อนในการตอกและงัดตะปู ในกรณีที่มีการตอกยึดส่วนประกอบของรังเลี้ยงผึ้งเข้าด้วยกัน ในการขนย้ายรังผึ้งจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง
      กระป๋องรมควัน เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังผึ้งมากพอๆ กับเหล็กงัดรังผึ้ง โดยทั่วไปจะประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ ๓ ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกก็ คือกระป๋องที่ทำจากโลหะน้ำหนักเบา อาจเป็นสังกะสีเนื้อดี รูปทรงกระบอก มีฝาปิดเปิดได้สะดวก ที่ฝาทำเป็นรูปกรวยคว่ำและมีรูที่ปลายกรวยเพื่อบังคับทิศทางออกของควัน ส่วนที่สองคือหม้อลม ซึ่งจะใช้เป็นที่จับกระป๋องด้วย เมื่อเราบีบหม้อลม แรงดันอากาศก็จะผ่านท่ออากาศ และเข้าไปใต้กระป๋องที่มีวัสดุเชื้อเพลิงจุดไหม้อยู่ ทำให้เกิดควันพุ่งออกมาทางรูที่ปลายกรวย ชิ้นส่วนสุดท้ายก็คือ แผ่นโลหะบุ เป็นวัสดุที่เป็นฉนวนทนความร้อนห่อหุ้มภายนอกกระป๋อง เพื่อป้องกันผู้เลี้ยงผึ้งไปสัมผัสกับกระป๋องที่กำลังร้อนจัด
          สำหรับวัสดุเชื้อเพลิง ที่จะใช้จุดให้เกิดควันในกระป๋องนั้น ก็อาจจะใช้ขี้กบไสไม้  ฟาง  หญ้าแห้ง  เศษใบไม้แห้ง  หรือเศษกระสอบป่านแห้งอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยแบ่งจุดให้เป็นเชื้อไฟที่ก้นกระป๋องสักเล็กน้อย เมื่อไฟลุกหรือติดดีแล้วจึงค่อยเติมวัสดุเชื้อเพลิงลงไปให้เต็ม อาจใช้เหล็กงัดรังผึ้งกระทุ้งอัดให้แน่นพอประมาณ เพื่อให้เกิดควันคุอยู่นาน ทำให้ไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงหรือจุดใหม่อยู่บ่อยๆ เป็นการสะดวกในขณะปฏิบัติงานในลานเลี้ยงผึ้ง 

อุปกรณ์สลัดน้ำผึ้งออกจากรวง 

          อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ในการสลัดน้ำผึ้งออกจากรวงผึ้งที่สำคัญ มีอยู่ ๒ อย่างด้วยกัน คือ
          ๑. มีดปาดฝารวง
          ๒. ถังสลัดน้ำผึ้งออกจากรวง

          มีดปาดฝารวง ในการสลัดน้ำผึ้งออกจากรวงด้วยแรงเหวี่ยง  เราจำเป็นต้องเปิดฝาหลอดรวงเสียก่อน โดยใช้มีดปาดฝารวงออก มีดที่ใช้ในการนี้ จะมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ขนาดและปริมาณของงาน  สำหรับผู้ที่เลี้ยงผึ้งรายเล็กๆ อาจใช้มีดทำครัวอย่างบางที่มีขนาดใบมีดกว้างประมาณ  ๑-๑.๕  นิ้ว และยาวประมาณ ๑๐-๑๒ นิ้ว จุ่มน้ำร้อนและเช็ดให้แห้งแล้วนำมาปาดฝารวงในขณะที่ยังร้อนอยู่ ก็จะช่วยปาดได้สะดวกพอสมควร
          แต่ในกรณีที่มีรังผึ้งเป็นจำนวนมาก ก็ควรจะใช้มีดปาดฝารวงโดยเฉพาะ ที่ตัวใบมีดเดินด้วยท่อไอน้ำร้อนเพื่อให้ความร้อนแก่ใบมีดนั้น หรือจะใช้มีดปาดรวงที่ใช้ระบบไฟฟ้าให้ความร้อน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

          ถังสลัดน้ำผึ้งออกจากรวง ถังสลัดน้ำผึ้ง โดยทั่วไป มีตั้งแต่ขนาดเล็กแบบใช้มือหมุนที่สลัดได้ครั้งละ ๒ รวง ไปจนถึงขนาดใหญ่ ที่สามารถสลัดน้ำผึ้งได้พร้อมๆ กันหลายสิบรวง ซึ่งจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวหมุน  ความเร็วของถังสลัดน้ำผึ้งประมาณ ๓๐๐ รอบ/นาที เพื่อที่จะเหวี่ยงให้น้ำผึ้งไหลกระเด็นออกจากหลอดรวง

          สิ่งสำคัญที่เราควรทราบ คือ ทุกครั้งที่ผึ้งงานสร้างรวงใหม่ มันจะต้องกินน้ำหวานเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผลโดยตรงต่อปริมาณผลิตผลน้ำผึ้งที่ได้รับ ดังนั้นเมื่อเรานำเอารวงผึ้งไปสลัดน้ำผึ้งออกเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนำรวงมาใช้ได้อีก โดยเฉพาะในช่วงเก็บน้ำผึ้ง ซึ่งนับว่าเป็นการประหยัดแรงงานผึ้ง  ผึ้งไม่ต้องสร้างรวงขึ้นมาใหม่ทุกๆ ครั้งที่มีการเก็บน้ำผึ้ง การทำเช่นนี้ช่วยให้ได้น้ำผึ้งต่อรังสูงขึ้น