วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2557

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 15 (ผึ้ง)

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 15 (ผึ้ง)

ลักษณะทั่วไปของผึ้ง 

          ลำตัวของผึ้ง แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง
          ส่วนหัว เป็นที่ตั้งของหนวด ตา และปาก
                  หนวด เป็นอวัยวะรับความรู้สึกและสัมผัส โดยเฉพาะการดมกลิ่นแทนจมูก
               ตา ผึ้งมีตาประกอบใหญ่ ๑ คู่ ช่วยให้มองเห็นได้ในระยะไกลและเป็นบริเวณกว้าง สามารถมองเห็นดอกไม้สีต่างๆ ได้ในระยะไกล ผึ้งมองเห็นสีต่างๆ ได้เกือบเหมือนคน นอกจากสีแดงซึ่งผึ้งจะเห็นเป็นสีดำ ผึ้งตัวผู้มีตาใหญ่กว่าผึ้งงานและผึ้งนางพญา
               ปาก ของผึ้งเป็นแบบกัดดูด ประกอบด้วยอวัยวะเล็กๆ หลายส่วน คือ ปากบนมีกรามแข็งแรง ๑ คู่ ด้านข้างเป็นฟัน ตรงกลางเป็นงวงทำหน้าที่ดูดน้ำหวาน ปากของผึ้งตัวผู้และนางพญาหดสั้นมากเพราะไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากผึ้งงานช่วยป้อนอาหารให้ผึ้งทั้งสองวรรณะ

        ส่วนอก เป็นส่วนรวมของกล้ามเนื้อและเป็นที่ตั้งของขาและปีก
               ขา มี ๓ คู่ ขาหลังมีอวัยวะพิเศษสำหรับเก็บเกสรเรียกว่า ตะกร้าเก็บเกสร ผึ้งตัวผู้และผึ้งนางพญาไม่มีอวัยวะนี้ เพราะไม่ต้องออกไปหาอาหาร
               ปีก มี ๒ คู่ คู่แรกใหญ่กว่าคู่หลังเล็กน้อยปีกคู่แรกและคู่หลังเกี่ยวกันด้วยตาขอเล็กๆ เรียงกันเป็นแถวเรียกว่า ฮามูไล (hamulai)

        ส่วนท้อง ของผึ้ง ประกอบด้วย ๖ ปล้องตัวผู้มี ๗ ปล้อง ที่ปลายท้องของผึ้งงานและผึ้งนางพญามีเหล็กใน แต่ผึ้งตัวผู้ไม่มีเหล็กใน ด้านข้างแต่ละปล้องมีรูหายใจ ปล้องละ ๑ คู่
              อวัยวะวางไข่ อยู่ที่ปล้องสุดท้ายในผึ้งงานและผึ้งนางพญา บางส่วนของอวัยวะวางไข่จะดัดแปลงเป็นเหล็กในมีลักษณะเป็นเข็มแหลม
              รูหายใจ เป็นรูเปิดด้านข้างส่วนอกและท้อง มีทั้งหมด ๑๐ คู่ ๓ คู่ แรกอยู่ที่ส่วนอก อีก ๗ คู่ อยู่ที่ส่วนท้อง รูหายใจจะปิดเปิดตลอดเวลาเพราะมันหายใจเข้าออกทางรูเหล่านี้ รูหายใจจะติดต่อกับท่อลมและถุงลม ผึ้งมีถุงลมใหญ่มากอยู่ภายในลำตัว ช่วยพยุงตัวขณะที่ผึ้งบิน ทำให้ผึ้งสามารถบินเร็วและบินได้ไกลด้วย
              ขนตามลำตัว ของผึ้งมีจำนวนมากเป็นขนละเอียด มีเส้นประสาทรับความรู้สึกและรับสัมผัส เช่น ส่วนขนบริเวณหน้าใช้รับความรู้สึก การเคลื่อนไหว และทิศทางลม ผึ้งมักจะบินทวนลมไปยังที่ตั้งของแหล่งอาหาร ขนที่ติดกับอกและท้องของผึ้งสามารถรับความรู้สึกเกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลก ทำให้สามารถบอกความสูงต่ำได้ใน ขณะที่บิน นอกจากนั้นขนยังรับสัมผัสการเคลื่อนไหวของศัตรู และ รับสัมผัสอาหาร คือ เกสรและน้ำหวานจากพืชได้อีกด้วย

ลักษณะของรวงรัง 

          ลักษณะรวงรัง  (comb)  ของผึ้งทุกชนิดพบว่าประกอบด้วยหลอดรวง (cells) รูปหกเหลี่ยมด้านเท่าจำนวนพันๆ หลอดรวง ขนาดของหลอดรวงขึ้นอยู่กับชนิดของผึ้ง เช่น ผึ้งหลวงตัวใหญ่ขนาดของหลอดรวงก็ใหญ่ด้วย ผึ้งมิ้มมีขนาดเล็กที่สุด ดังนั้นขนาดหลอดรวงของผึ้งมิ้มจึงเล็กที่สุดจำนวนหลอดรวงในรังผึ้งขึ้นอยู่กับขนาดของรัง เช่น ผึ้งหลวงรังใหญ่ๆ อาจจะมีจำนวนมากถึงหมื่นๆ หลอดรวงเช่นเดียวกับผึ้งเลี้ยง โดยเฉพาะผึ้งโพรงฝรั่งมีประชากรมากที่สุด รังผึ้งรังเดียวอาจจะซ้อนกันได้ถึง ๓-๔ หีบ แต่ละหีบมีรังผึ้ง ๘- ๑๐ รวง ดังนั้นจะมีประชากรผึ้งงานมากกว่าแสนตัว 


ลักษณะของหลอดรวง 

      รวงรังผึ้งเปรียบเหมือนบ้าน หลอดรวงต่างๆ คือ ห้องนั่นเอง ดังนั้นจึงมีไว้เพื่อเป็นที่อาศัยของตัวอ่อน นางพญาจะวางไข่ลงที่ฐานหลอดรวง ต่อมาตัวอ่อนหรือตัวหนอนจะเจริญในหลอดรวงเข้าดักแด้ เมื่อลอกคราบสุดท้ายตัวเต็มวัยผึ้งจะคลานออกมาจากหลอดรวง ในรวงรังผึ้งชนิดเดียวกันจะมีหลอดรวงไม่เท่ากันเพราะขนาดของผึ้งในแต่ละวรรณะไม่เท่ากัน เช่น หลอดรวงของผึ้งงานมีขนาดเล็กที่สุด ในรังผึ้งโพรงไทยหลอดรวงผึ้งงานกว้าง  ๐.๑๘ นิ้ว ส่วนหลอดรวงผึ้งตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าคือกว้าง ๐.๒๑ นิ้ว  หลอดรวงของผึ้งนางพญามีลักษณะพิเศษ คือ หลอดรวงจะใหญ่ที่สุด เป็นหลอดยาวอยู่ทางด้านล่างของรวงในลักษณะที่ห้อยหัวลง ผึ้งทุกวรรณะเมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะไม่เข้าไปอยู่ในหลอดรวงอีก แต่จะอาศัยเกาะห้อมล้อมรอบๆ รวงรัง  หลอดรวงตัวอ่อนนี้อาจจะใช้สำหรับเก็บน้ำผึ้งและเกสรได้ด้วย โดยเฉพาะในฤดูดอกไม้บานปกติ หลอดรวงเก็บน้ำผึ้งจะอยู่บนสุด เราเรียกว่า หัวรวงหรือหัวน้ำผึ้ง ต่ำลงมาเป็นหลอดรวงเก็บเกสรและหลอดรวงตัวอ่อน

       การสร้างหรือซ่อมแซมรัง  เป็นหน้าที่ของผึ้งงาน โดยใช้ไขผึ้งจากต่อมไขผึ้ง ๔ คู่ ทางด้านล่างส่วนท้องของผึ้งงานที่มีอายุ ๑๒-๑๘ วัน ไขผึ้งจะถูกผลิตออกมาเป็นแผ่นๆ ในการสร้างหรือซ่อมแซมรัง  ผึ้งงานจะเขี่ยแผ่นไขผึ้งออกมาจากท้อง แล้วเอามาเคี้ยวผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลงแล้วจึงนำไปเชื่อมต่อๆ กันเป็นหลอดรวงรูปหกเหลี่ยมหลายๆ อัน ก่อให้เกิดเป็นรวงรังขึ้น

วงจรชีวิตและสังคมผึ้ง

      ไม่มีผึ้งตัวหนึ่งตัวใด สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลานาน โดยขาดความสัมพันธ์กับผึ้งวรรณะอื่นภายในสังคมเดียวกันเพราะผึ้งเป็นแมลงสังคมที่มีวิวัฒนาการสูง มีระบบสังคมมาเป็นเวลาช้านานประมาณถึง ๓๐ ล้านปีผึ้งแต่ละรังเปรียบเสมือนครอบครัวหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ๓ วรรณะ คือ ผึ้งนางพญาหนึ่งตัว ผึ้งตัวผู้หลายร้อยตัว และผึ้งงานอีกจำนวนเป็นหมื่นตัว โดยเฉพาะผึ้งเลี้ยงอาจจะมีผึ้งงานได้หลายหมื่นตัว

   รังผึ้งรังหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่งๆ จะดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีระเบียบในระบบสังคมที่มีนางพญาเป็นศูนย์กลาง ทำหน้าที่ผสมพันธุ์สร้างประชากร ปกตินางพญาผึ้งโพรงไทยจะวางไข่ได้วันละ ๑,๐๐๐ ฟอง นางพญาผึ้งโพรงฝรั่งสามารถวางไข่ได้ถึงวันละ ๓,๐๐๐ฟองโดยมีผึ้งงานคอยรับใช้ ทำความสะอาด ให้อาหารและนำของเสียไปทิ้ง

       ผึ้งนางพญา มีลักษณะตัวใหญ่กว่าผึ้งงานและลำตัวยาวกว่าผึ้งตัวผู้ ปกติจะมีอายุ ๑-๒ ปี แต่บางตัวอาจมีอายุนานถึง ๓ ปี

       ผึ้งงาน เป็นผึ้งเพศเมีย มีขนาดเล็กที่สุดเนื่องจากในระยะที่เป็นตัวอ่อนได้รับอาหารพิเศษคือนมผึ้งหรือรอยัลเยลลี (royal jelly) เพียง ๓ วันหลังจากนั้นตัวอ่อนผึ้งงานที่มีอายุมากขึ้นจะได้กินแต่เกสรและน้ำผึ้ง ทำให้ขบวนการพัฒนาแตกต่างไปจากผึ้งนางพญามาก ในขณะที่ผึ้งนางพญาได้กินนมผึ้งตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอายุ ๑ วัน และได้กินต่อไปจนตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เพศเมีย ๒ วรรณะนี้  ผิดแผกแตกต่างกันทั้งลักษณะภายนอก และภายใน ตลอดจนภารกิจต่างๆ ผึ้งงานมีหน้าที่หลักในการทำงาน เช่น ทำความสะอาดรัง เลี้ยงดูป้อนอาหารให้ผึ้งตัวอ่อน  สร้างและซ่อมแซมรังเป็นทหารเฝ้ารังป้องกันศัตรูและหาอาหาร  ผึ้งงานต้องรับภาระดังกล่าวเท่ากันทุกตัว  ไม่มีการเอาเปรียบแก่งแย่งกันหรือหลบงานเลย ทุกตัวรับผิดชอบงานของตนเองโดยไม่มีใครบังคับ และไม่ต้องสั่งสอนกัน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าผึ้งงาน คือหุ่นยนต์ที่มีชีวิตตัวน้อยๆ ทำงานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้นผึ้งงานจึงมีอายุสั้นเพียง ๖-๘ สัปดาห์เท่านั้น

    ผึ้งตัวผู้ มีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนและสั้นกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ไม่มีเหล็กใน มีลิ้นสั้นหาอาหารเองไม่ได้ แต่จะรับอาหารจากผึ้งงานเท่านั้นผึ้งตัวผู้ไม่มีหน้าที่ทำงานภายในรัง ดังนั้นจึงมีหน้าที่ผสมพันธุ์อย่างเดียว เมื่อผสมพันธุ์ ในอากาศเสร็จจะตกลงมาตาย เมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ ผึ้งตัวผู้ที่ยังไม่มีโอกาส ผสมพันธุ์จะถูกผึ้งงานปล่อยให้อดตายด้วย เราจะพบผึ้งตัวผู้ปรากฏในรังเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น หลังจากผสมพันธุ์กับนางพญาแล้ว ผึ้งตัวผู้จะตายทันที 

พฤติกรรมและภาษาผึ้ง 

           พฤติกรรม คือการแสดงออกในลักษณะท่าทางเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ผึ้งเป็นแมลงสังคมที่มีพฤติกรรมแสดงออกมากกว่าแมลงอื่นๆ พฤติกรรมเหล่านี้ ได้แก่ ภาษาผึ้ง การผสมพันธุ์ การวางไข่ และการแยกรัง เป็นต้น

       ภาษาผึ้ง เป็นภาษาใบ้ชนิดหนึ่ง เป็นอาการที่แสดงออกของผึ้ง เพื่อใช้บอกแหล่งอาหารให้สมาชิกในรังทราบและพากันบินไปหาอาหารนั้นทันที
          การเต้นรำบอกแหล่งอาหารของผึ้งมีอยู่ ๒ แบบ คือ การเต้นรำแบบวงกลมและการเต้นรำแบบส่ายท้อง

พิษของยาฆ่าแมลงต่อผึ้ง 
        ยาฆ่าแมลงก่อให้เกิดปัญหาความเป็นพิษอย่างรุนแรงต่อผึ้งมากที่สุด ผึ้งในธรรมชาติตายไปมากมายจนนับจำนวนไม่ได้เพราะยาฆ่าแมลงที่ใช้ในประเทศไทย  เนื่องจากคนใช้ยาฆ่าแมลงไม่เคยคิดเลยว่ายาฆ่าแมลงที่ใช้นั้นมีพิษต่อผึ้งที่มีประโยชน์ของเรา  ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ ผึ้งหลวงซึ่งเคยมีเป็นจำนวนมากในชนบท ในสวนและในไร่นา ปัจจุบันเหลือผึ้งหลวงมาเกาะทำรังน้อยลงทุกปี  ผึ้งเลี้ยงในประเทศไทยนั้นตายลงเพราะพิษยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจ ผู้เลี้ยงผึ้ง ๒๐ รายในจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่ามีผู้เคยประสบปัญหาผึ้งพันธุ์ที่เลี้ยงได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงตายถึง ๑๘ ราย คิดเป็นร้อยละ ๙๐

       ปัญหาความเป็นพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีต่อการเลี้ยงผึ้งพันธุ์มีทางแก้ไขได้ ถ้าเกษตรกรและผู้เลี้ยงผึ้งให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันและปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิชาการเลี้ยงผึ้งจากกรมส่งเสริมการเกษตร

       อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งเป็นของใหม่ในประเทศไทย  ดังนั้นผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องพยายามสนใจและทำความเข้าใจในเรื่องสารเคมีที่เป็นพิษต่อผึ้ง  เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขให้ทันท่วงที

         อย่างไรก็ดี อันตรายจากสารเคมีที่มีพิษต่อผึ้งในประเทศไทยยังมีปัญหาน้อยมากเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ เนื่องจากเกษตรกรผู้ใช้สารเคมียังไม่นิยมการฉีดพ่นสารเคมีด้วยเครื่องบิน ดังนั้น ถ้าผู้เลี้ยงผึ้งปฏิบัติตามคำแนะนำและหาวิธีการป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่มีพิษต่อผึ้งได้อย่างถูกต้อง อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มว่าจะพัฒนามากขึ้นตามลำดับนั้น คงจะมีอนาคตแจ่มใสมากขึ้น 

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้ง

          ผึ้งเป็นแมลงที่มีประโยชน์แก่มนุษย์ ทั้งในด้านช่วยเพิ่มผลิตผลของพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะการผสมให้ผลไม้ ผลไม้ในประเทศไทยที่ผึ้งสามารถผสมเกสรได้ดี คือ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ มะม่วง ทุเรียน ชมพู่ ส้ม และมะนาว เป็นต้นนอกจากนี้  ผึ้งยังเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรพืชตระกูลแตง เช่น แตงโม แตงกวา แตงไทย โดย เฉพาะแตงน้ำผึ้ง (honey dew) หรือแตงต่างประเทศที่ราคาแพงนั้นเหมาะสมมากที่จะใช้ผึ้งช่วยผลิตเมล็ดพันธุ์ในระดับอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ของผึ้ง ที่คุณค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ น้ำผึ้ง เกสร ไขผึ้ง นมผึ้ง พรอพอลิส และพิษของผึ้ง ส่วนการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยได้ผลิตผล เพียง ๓ ชนิดเท่านั้น คือ น้ำผึ้ง เกสร และไขผึ้ง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้จาก ผึ้งโพรงฝรั่งอีก คือ นมผึ้ง และพรอพอลิส 
การเลือกสถานที่สำหรับเลี้ยงผึ้ง

        การเลี้ยงผึ้งให้ได้ผลิตผลน้ำผึ้งและเกสรนั้น ผู้เลี้ยงในระดับอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเลือกหาสถานที่ ตลอดจนสภาพบริเวณที่ตั้งรังผึ้งให้เหมาะสม เพื่อที่จะได้ผลิตภัณฑ์ผึ้งมากที่สุด ความสำเร็จของการเลี้ยงผึ้งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เลี้ยงในการเลือกสถานที่เลี้ยงผึ้ง ที่ให้ผึ้งเข้าไปเก็บน้ำหวานและเกสรดอกไม้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาปัจจัยที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ 

ลักษณะทำเลที่ตั้งรังผึ้ง 

         สถานที่ที่เหมาะต่อการตั้งรังผึ้งควรให้อยู่ใกล้กับแหล่งพืชที่เป็นอาหารของผึ้งให้มากที่สุดและมีดอกไม้บานตลอดปี ควรจะเป็นลานโล่งใกล้กับแหล่งน้ำ แต่น้ำไม่ท่วม สถานที่เลี้ยงผึ้งนี้นิยมเรียกกันว่า "ลานเลี้ยงผึ้ง" การเลือกลานเลี้ยงผึ้ง นับว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ทีเดียว  ถ้าเลือกลานเลี้ยงผึ้งไม่ดี จะนำไปสู่ความหายนะได้ทันที เช่น เลือกลานเลี้ยงผึ้งที่ใกล้สวนผลไม้ที่ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเป็นประจำผึ้งจะได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงตายได้อย่างรวดเร็วบางครั้งผู้เลี้ยงผึ้งเลือกลานเลี้ยงผึ้งใกล้ริมแม่น้ำ โดยมิได้ศึกษาเรื่องน้ำท่วมมาก่อนดังนี้  พอถึงฤดูฝนเกิดน้ำหลากไหลพัดพารังผึ้งจมน้ำหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ลานเลี้ยงผึ้งควรอยู่ในสวนผลไม้หรือที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นฉากกำบังลมและแดดเพราะว่าถ้าลมแรงมากไปจะปะทะการบินของผึ้งในการบินออกหาอาหาร ถ้าร้อนมากไปผึ้งจะต้องเสียพลังงานเป็นจำนวนมากเพื่อลดความร้อนในรัง



        ลานผึ้งไม่ควรอยู่ในแหล่งชุมชนหรืออยู่ติดกับถนนที่มีแสงจากไฟฟ้า โดยเฉพาะผึ้งโพรงจะออกมาเล่นไฟในตอนหัวค่ำและเช้ามืด ผึ้งที่ออกมาเล่นไฟนี้อาจจะตายได้ เพราะบินจนหมดแรง หรือถูกสัตว์พวกจิ้งจก ตุ๊กแก กบ และคางคกจับกิน ลานผึ้งที่อยู่ในที่ชุมชนติดทางเดินเท้า ผึ้งอาจจะบินไปชนและต่อยคนที่เดินผ่านไปมาได้

        อย่างไรก็ตามควรเลือกลานผึ้งที่อยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีการคมนาคมสะดวก เพราะมีความจำเป็นต้องขนย้ายรังผึ้งไปในแหล่งที่มีดอกไม้บาน ในบางครั้ง ตลอดจนสะดวกต่อการขนย้ายอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้งในการจัดจำหน่ายอีกด้วย 

ชนิดและปริมาณพืชอาหาร 
          ผึ้งและดอกไม้ซึ่งเป็นพืชอาหารของผึ้ง เป็นของคู่กันในการดำรงชีวิต  ผึ้งจะขาดน้ำหวานและเกสรดอกไม้ไม่ได้  ในเวลาเดียวกันพืชดอกไม้ย่อมต้องการให้ผึ้งช่วยผสมพันธุ์ด้วย  น้ำหวานเป็นส่วนที่หลั่งออกมาจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้ผึ้งงานจะบินไปดูดน้ำหวานจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้เพื่อนำกลับมาบ่มให้เข้มข้นจนกลายเป็นน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ผึ้ง สำหรับเกสรของดอกไม้นั้นคือ เซลล์สืบพันธุ์ของพืชซึ่งเป็นอาหารประเภทโปรตีนช่วยให้ผึ้งเจริญเติบโตจนถึงวัยสืบพันธุ์   ผึ้งงานต้องการโปรตีนเพื่อผลิตนมผึ้งให้กับผึ้งตัวอ่อน (อายุ ๑-๓ วัน) และผึ้งนางพญา

        ดังนั้นผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องรู้จักแหล่งและชนิดของพืชอาหารของผึ้ง เพราะว่าดอกไม้จากพืช บางชนิดให้น้ำหวานมาก เช่น สาบเสือ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ และพืชบางชนิดให้เกสรมาก เช่น ดอกข้าวโพด ดอกไมยราบ แต่ดอกไม้บางชนิดให้ทั้งน้ำหวานและเกสรคือ ดอกนุ่น และดอกทานตะวันเป็นต้น (เพื่อศึกษาข้อมูลเรื่องพืชอาหารผึ้งเพิ่มเติม โปรดดูตารางแสดงรายชื่อพืชที่เป็นอาหารของผึ้งที่เลี้ยงในประเทศไทย)

         นอกจากนั้นผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องพิจารณาปริมาณการกระจายของดอกไม้ในท้องที่นั้นด้วยควรเลือกพื้นที่ที่ปริมาณพืชอาหารออกดอกหนาแน่นและบานสะพรั่งติดต่อกันเป็นช่วงระยะเวลานานๆ เช่น ในสวนลำไย สวนเงาะ ไร่ข้าวโพด ไร่นุ่น หรือไร่ทานตะวันที่มีเนื้อที่เป็นพันๆ ไร่ เป็นต้น การรู้ระยะเวลาดอกไม้บานเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะผู้เลี้ยงจะได้จัดการเตรียมผึ้งเข้าไปเก็บน้ำผึ้งได้อย่างถูกต้อง

ศัตรูผึ้ง 

          บริเวณลานเลี้ยงผึ้งที่ดีควรจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยจากศัตรูผึ้งที่จะเข้ามารบกวนหรือทำลายรังผึ้ง ดังนั้นจึงควรสำรวจเสียก่อนทุกครั้งในลานผึ้ง  ก่อนที่จะนำผึ้งเข้าไปเลี้ยง

       ผึ้งมีศัตรูธรรมชาติเช่นเดียวกับแมลงอื่นๆ ศัตรูเหล่านี้ได้แก่ ไร  ตัวต่อ และมด ซึ่งจัดเป็นศัตรูที่สำคัญของผึ้งทุกชนิด โดยเฉพาะผึ้งโพรงฝรั่งซึ่งเรานำมาเลี้ยงจากต่างประเทศจะมีศัตรูรบกวน และรุนแรงกว่าผึ้งโพรงพื้นเมืองของประเทศไทย

       ไร เป็นสัตว์ขนาดเล็กที่มี ๘ ขาซึ่งไม่ใช่แมลง มองแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไรดูดเลือดผึ้งเป็นอาหารโดยเฉพาะ  ชอบดูดเลือดผึ้งในระยะดักแด้มากที่สุด ถ้ามีไรเป็นจำนวนมากๆ  ผึ้งโพรงฝรั่งไม่สามารถเจริญเป็นตัวเต็มวัยได้  ผึ้งโพรงไทยต้านทานไรได้ดีกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง

       ตัวต่อ เป็นแมลงที่เป็นศัตรูสำคัญของผึ้งอีกชนิดหนึ่ง สามารถจับผึ้งกินเป็นอาหารได้ตาม บริเวณดอกไม้และที่หน้ารังผึ้ง  ถ้าผึ้งอ่อนแอลงมากๆ ตัวต่อจะยกพวกเข้าโจมตีผึ้งให้เสียหายได้ทั้งรัง แต่ผึ้งโพรงไทยสามารถต่อสู้กับตัวต่อได้ดีเช่นกัน ถ้าเราดูแลรักษาให้ผึ้งมีประชากรมากๆแข็งแรงอยู่เสมอ

         มดแดง ที่ชอบสร้างรังบนต้นมะม่วงและต้นผลไม้ต่างๆ เป็นศัตรูที่สำคัญของผึ้งทุกชนิด มดแดงจะเฝ้าคอยจับผึ้งตามดอกไม้เพื่อกินผึ้งเป็นอาหาร บางครั้งมดแดงจะบุกโจมตีผึ้งทั้งรัง ทำให้ผึ้งหนีรังไปในที่สุดเพราะไม่สามารถสู้กับมดแดงได้  ดังนั้นก่อนตั้งรังผึ้งทุกครั้งต้องกำจัดมดแดงให้หมด

         นอกจากศัตรูทั้ง ๓ ชนิดแล้ว ยังมีหนอนผีเสื้อกินไขผึ้ง ถึงแม้ว่าหนอนกินไขผึ้งจะไม่ได้เป็นศัตรูโดยตรงกับผึ้งแต่หนอนกินไขผึ้งจะเข้าทำลายกินไขผึ้ง ทำให้ผึ้งหนีรังไปในที่สุด โดยเฉพาะผึ้งโพรงที่หนีรังอยู่เสมอ เพราะโดนหนอนชนิดนี้รบกวน การทำความสะอาดภายในรังบ่อยๆ ตลอดจนการบำรุงรักษาผึ้งให้แข็งแรง จะลดการระบาดของหนอนผีเสื้อชนิดนี้ได้

          สำหรับศัตรูอื่นๆ ที่สามารถรบกวนและกินผึ้งเป็นอาหารได้ คือ แมงมุมหลายชนิดที่ชอบชักใยจับผึ้งบริเวณหน้ารัง  กิ้งก่า  จิ้งจก  คางคก อึ่งอ่าง และกบ  ชอบดักกินผึ้งหน้ารังเช่นกัน แมลงปอสามารถจับผึ้งกินในอากาศได้ นอกจากนั้นยังมีนกหลายชนิดเช่น นกนางแอ่น และ นกแซงแซว โดยเฉพาะนกจาบคาในฤดูหนาวจะบินมาเป็นฝูงเพื่อโฉบกินผึ้ง 

วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเลี้ยงผึ้ง 

         ผู้เลี้ยงผึ้งที่ดีจะต้องพิถีพิถันเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์เป็นอย่างมาก วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการเลี้ยงผึ้งควรจะมีคุณภาพและได้ มาตรฐานซึ่งจะมีผลถึงความคล่องตัวในการปฏิบัติงานกับรังผึ้ง ทั้งยังสะดวกในการประกอบชิ้นส่วนแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน และง่ายต่อการดูแลรักษาวัสดุและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพดี อาจทำให้เราต้องลงทุนสูงขึ้นเล็กน้อยในระยะแรกๆ แต่ก็ให้ผล คุ้มค่าในระยะยาว วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเลี้ยงผึ้งที่สำคัญมีดังนี้
          ชุดหีบเลี้ยงผึ้งโพรงไทย มักเป็นไม้ที่มีน้ำหนักเบา อบแห้งสนิท ไม่ยืด ไม่หด และไม่บิดเบี้ยว เหตุที่จำเป็นต้องใช้ไม้เบาเพราะทุ่นแรงในการยกลง ขณะปฏิบัติงาน ผู้เลี้ยงผึ้งทางภาคเหนือของประเทศไทยเรานิยมใช้ไม้สัก ซึ่งมีความเบาคงทนถาวรและไม่บิดตัว ชุดหีบเลี้ยงผึ้งโพรงไทยนั้น คล้ายกับชุดหีบเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่ง ประกอบไปด้วย ส่วนประกอบต่างๆ ที่สำคัญต่อไปนี้คือ
         ฐานรัง ฐานรังจะต้องมีขนาดที่รองรับตัวหีบเลี้ยงได้ โดยจะต้องมีขนาดกว้างเท่ากับหีบมาตรฐาน แต่มีความยาวยื่นออกมาทางด้านหน้าให้ยาวกว่าตัวหีบประมาณ ๒ นิ้ว เพื่อเป็นลานบินของผึ้ง ฐานรังจึงมีขนาดกว้าง x ยาว เท่ากับ ๑๖ ๑/x ๑๙ นิ้ว หน้าไม้ที่นำมาประกอบฐานรังเมื่อไสกบแล้วควรหนา ๑ ๗/นิ้ว ที่ด้านบน ส่วนหน้าของฐานรังมีไม้สอดอยู่ ไม้นี้จะเจาะหรือบากเอาไว้สองด้าน ให้มีขนาดเล็กและใหญ่ ไม้ ส่วนนี้เรียกว่า ไม้ลดขนาดปาก ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เลี้ยงผึ้งที่จะพลิกแท่งไม้ส่วนนี้กลับไปมา เพื่อปิด ลด หรือ ขยายปากทางเข้าออกรังผึ้งได้ตามต้องการ
         หีบมาตรฐาน หีบมาตรฐานมีขนาดที่จะบรรจุคอนได้ ๑๐ คอนด้วยกัน  แต่ผู้เลี้ยงผึ้งนิยมใส่เพียง ๙ คอน หีบมาตรฐานของผึ้งโพรงไทยนั้นสั้นกว่าหีบมาตรฐานของผึ้งโพรงฝรั่ง เพื่อความสะดวกในการยกคอนขึ้นลง ขนาดของหีบมาตรฐานสูง x กว้าง x ยาว เท่ากับ ๙ ๑/x ๑๖ ๑/x ๑๗ นิ้ว ที่ผนังด้านในของส่วนความกว้าง ส่วนขอบด้านบนทั้งสองด้าน ก็จะเซาะเป็นร่องบ่า เพื่อรองรับคอนหรือกรอบรวง หีบมาตรฐานนี้หีบหนึ่งเมื่อนำไปใช้  ถ้ารวงมีน้ำผึ้งอยู่เต็ม  ๙ - ๑๐ รวง เมื่อรวมกับน้ำหนักของหีบแล้ว  ก็จะหนักประมาณ ๒๐  - ๒๕ กิโลกรัม  สำหรับรังผึ้งโพรงฝรั่งที่ยังสมบูรณ์และอยู่ในสภาพที่ดี เพื่อความสะดวกผู้เลี้ยงที่เคยเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งมาก่อน สามารถนำหีบมาตรฐานของผึ้งโพรงฝรั่งมาเลี้ยงผึ้งโพรงไทยได้ทันที โดยทำคานกั้นภายในหีบให้สั้นลงเหลือ ๑๗ นิ้ว เพื่อรับกับคอนของผึ้งโพรงไทยซึ่งมีขนาดสั้นกว่าได้  (ขนาดของหีบมาตรฐานผึ้งโพรงฝรั่งเท่ากับ ๙ ๑/x ๑๖ ๑/ x ๒๐ นิ้ว)
         คอนหรือกรอบรวง ชิ้นส่วนที่สำคัญนอกเหนือจากหีบเลี้ยงก็คือคอน หรือบางคนอาจเรียกว่ากรอบรวง คอนเป็นอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยไม้ ๔ ส่วนด้วยกันคือ คานบน ๑ ส่วน ไม้ประกบข้าง ๒ ส่วน และคานล่างอีก ๑ ส่วน เมื่อต่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ก็เป็นที่ที่ผึ้งสร้างรวงรัง ขนาดของคอนหรือกรอบรวงที่เลือกใช้นั้น ก็จะต้องสัมพันธ์กับขนาดของหีบเลี้ยงด้วย  ความยาวจะต้องมีขนาดมาตรฐานเท่ากับหีบมาตรฐานคือยาว ๑๖ ๑/นิ้ว โดยเว้นที่ปลายด้านละ ๓/นิ้ว ไว้เพื่อเป็นที่บ่ารองรับน้ำหนักวางพาด หรือแขวนอยู่ได้ ส่วนความสูงของคอนนั้น ขึ้นอยู่กับความสูงของหีบที่ใช้  คือถ้าใช้กับหีบเลี้ยงมาตรฐาน ซึ่งมีความสูง ๙ ๑/นิ้ว เพื่อที่จะให้คอนแขวนอยู่ในหีบได้พอดีแล้ว คอนที่ใช้จึงควรจะมีความสูงเท่ากับ ๘ ๑/นิ้ว เพื่อให้แผ่นฐานรวงยึดติดกับคอนอย่างเหนียวแน่นพอสมควร ที่ตรงกลางของด้านล่างของคอนบนและตรงกลางด้านในของคอนล่าง เราจึงจำเป็นต้องเซาะให้เป็นร่องยาวตลอดแนวเพื่อยึดแผ่นฐานรวงให้ติดอยู่ และเจาะรูเล็กๆ ที่ไม้ประกอบด้านข้างทั้ง ๒ ส่วน จำนวน ๓-๔ รู  ขึงลวดเหนียวเส้นเล็กระหว่างไม้ประกบข้างทั้ง ๒ ส่วน เพื่อที่จะเพิ่มความแข็งแรงให้กับรวงซึ่งจะช่วยให้รวงผึ้งไม่หลุดจากคอนในขณะที่นำเข้าไปสลัดน้ำผึ้งในเครื่อง
         ฝาชั้นใน ฝาชั้นในมีประโยชน์ที่เห็นได้ชัดก็คือ ป้องกันไม่ให้ผึ้งแตกตื่นบินสวนออกมาเมื่อเราเปิดฝาครอบนอกของรังผึ้งออก ฝาชั้นในยังเป็นฉนวนช่วยกั้นความร้อนจากแสงแดดในฤดูร้อน รักษาความอบอุ่นภายในรังเอาไว้ เมื่อภายนอกมีอุณหภูมิต่ำ นอกจากนี้ก็ยังช่วยในการระบายและถ่ายเทอากาศให้กับรังผึ้งด้วย สำหรับวัสดุที่ใช้ มักจะใช้แผ่นกระดาษหรือไม้อัดแข็ง โดยมีไม้ตีเป็นกรอบขนาดกว้าง x ยาว เท่ากับ ขนาดของหีบเลี้ยง คือ ขนาด ๑๖ ๑/x ๑๗ นิ้ว  เพื่อที่จะได้วางทับลงบนหีบได้พอดี ที่ตรงกลางของฝาชั้นในก็จะเจาะเป็นรูกลม ๑ รู เพื่อช่วยในการระบายอากาศ
          ฝาชั้นนอก เป็นฝาที่สวมครอบลงบนหีบเลี้ยง ทำหน้าที่กันฝนและแสงแดดให้กับรังผึ้ง ฝาชั้นนอกอาจจะใช้ไม้อัดธรรมดา ตัดขนาด ๑๖ ๑/x ๑๙ นิ้ว และที่ด้านบนของฝาชั้นนอกก็จะใช้สังกะสีปิดทับอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันเนื้อไม้ไม่ให้ผุเร็ว และยังช่วยให้รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์สะท้อนกลับ
        แผ่นฐานรวง หรือแผ่นรังเทียม ก็คือ แผ่นไขผึ้งที่พิมพ์ให้เป็นรอยตารางหกเหลี่ยมทั้งสองด้านและขนาดตารางหกเหลี่ยมนี้ จะเท่ากับขนาดของความกว้างของหลอดรวงของรวงผึ้งโพรงไทยตามธรรมชาติ ซึ่งเล็กกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง  แผ่นฐานรวงผึ้งโพรงไทย ๑ ตารางนิ้ว จะมีจำนวน ๗๐ หลอดรวงทั้งสองด้าน โดยทั่วไปแล้วความกว้าง และความยาวของแผ่นฐานรวงจะมีขนาดพอดีที่จะถูกนำมาตรึงตรงกลางของคอนหรือกรอบรวง เพื่อเป็นการเร่งเวลาให้ผึ้งงานสร้างหลอดรวง ต่อจากรอยพิมพ์ที่เป็นตารางหกเหลี่ยมได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการประหยัดแรงงานของผึ้งงานในการสร้างรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาการเก็บน้ำผึ้ง เพราะจะมีผลต่อผลิตผลน้ำผึ้งที่เก็บสะสมได้
             นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการบังคับให้ผึ้งสร้างรวงอยู่แต่เฉพาะในกรอบรวงที่มีแผ่นฐานรวงตรึงติดอยู่เท่านั้น ทำให้รวงผึ้งที่ถูกสร้างขึ้นมาภายในรังผึ้งแต่ละรวงมีความเป็นระเบียบสม่ำเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นการประหยัดแรงงาน ตลอดทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เลี้ยงผึ้ง และกับผึ้งภายในรังนั้นๆ เป็นอย่างยิ่ง แผ่นฐานรวงของผึ้งโพรงไทย จะหาซื้อได้ยากกว่าแผ่นฐานรวงของผึ้งโพรงฝรั่งซึ่งมีขนาดใหญ่ (ในเนื้อที่ ๑ ตารางนิ้ว จะมีจำนวน ๕๕ หลอดรวงทั้งสองด้าน)
         เหล็กงัดรังผึ้ง เมื่อเราจะปฏิบัติงานกับรังผึ้งรังหนึ่งๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีเหล็กงัดรังผึ้งซึ่งทำจากเหล็กเหนียวอย่างดี มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ สามารถรับน้ำหนักในการที่ใช้งัดหีบเลี้ยงผึ้งให้แยกออกจากกันได้ เหล็กงัดผึ้งโดยทั่วไปจะมีปลายแบนข้างหนึ่ง เพื่อที่จะใช้กับช่องว่างระหว่างคอนแต่ละคอน หรือระหว่างชั้นของหีบเลี้ยงแต่ละชั้น นอกจากนั้นปลายด้านแบนนี้ยังใช้ในการแซะ ขูด เศษไขผึ้ง หรือยางไม้ที่ติดอยู่ภายในรัง และยังมีประโยชน์ในการขูดเหล็กในผึ้ง ให้หลุดจากผิวหนังของเรา
ที่ถูกผึ้งต่อยได้อีกด้วย ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งของเหล็กงัดรังจะโค้งเป็นมุมฉากออกไปประมาณ ๑ นิ้ว  และมีรูอยู่  ปลายด้านนี้อาจใช้แทนค้อนในการตอกและงัดตะปู ในกรณีที่มีการตอกยึดส่วนประกอบของรังเลี้ยงผึ้งเข้าด้วยกัน ในการขนย้ายรังผึ้งจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง
      กระป๋องรมควัน เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังผึ้งมากพอๆ กับเหล็กงัดรังผึ้ง โดยทั่วไปจะประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ ๓ ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกก็ คือกระป๋องที่ทำจากโลหะน้ำหนักเบา อาจเป็นสังกะสีเนื้อดี รูปทรงกระบอก มีฝาปิดเปิดได้สะดวก ที่ฝาทำเป็นรูปกรวยคว่ำและมีรูที่ปลายกรวยเพื่อบังคับทิศทางออกของควัน ส่วนที่สองคือหม้อลม ซึ่งจะใช้เป็นที่จับกระป๋องด้วย เมื่อเราบีบหม้อลม แรงดันอากาศก็จะผ่านท่ออากาศ และเข้าไปใต้กระป๋องที่มีวัสดุเชื้อเพลิงจุดไหม้อยู่ ทำให้เกิดควันพุ่งออกมาทางรูที่ปลายกรวย ชิ้นส่วนสุดท้ายก็คือ แผ่นโลหะบุ เป็นวัสดุที่เป็นฉนวนทนความร้อนห่อหุ้มภายนอกกระป๋อง เพื่อป้องกันผู้เลี้ยงผึ้งไปสัมผัสกับกระป๋องที่กำลังร้อนจัด
          สำหรับวัสดุเชื้อเพลิง ที่จะใช้จุดให้เกิดควันในกระป๋องนั้น ก็อาจจะใช้ขี้กบไสไม้  ฟาง  หญ้าแห้ง  เศษใบไม้แห้ง  หรือเศษกระสอบป่านแห้งอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยแบ่งจุดให้เป็นเชื้อไฟที่ก้นกระป๋องสักเล็กน้อย เมื่อไฟลุกหรือติดดีแล้วจึงค่อยเติมวัสดุเชื้อเพลิงลงไปให้เต็ม อาจใช้เหล็กงัดรังผึ้งกระทุ้งอัดให้แน่นพอประมาณ เพื่อให้เกิดควันคุอยู่นาน ทำให้ไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงหรือจุดใหม่อยู่บ่อยๆ เป็นการสะดวกในขณะปฏิบัติงานในลานเลี้ยงผึ้ง 

อุปกรณ์สลัดน้ำผึ้งออกจากรวง 

          อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ในการสลัดน้ำผึ้งออกจากรวงผึ้งที่สำคัญ มีอยู่ ๒ อย่างด้วยกัน คือ
          ๑. มีดปาดฝารวง
          ๒. ถังสลัดน้ำผึ้งออกจากรวง

          มีดปาดฝารวง ในการสลัดน้ำผึ้งออกจากรวงด้วยแรงเหวี่ยง  เราจำเป็นต้องเปิดฝาหลอดรวงเสียก่อน โดยใช้มีดปาดฝารวงออก มีดที่ใช้ในการนี้ จะมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ขนาดและปริมาณของงาน  สำหรับผู้ที่เลี้ยงผึ้งรายเล็กๆ อาจใช้มีดทำครัวอย่างบางที่มีขนาดใบมีดกว้างประมาณ  ๑-๑.๕  นิ้ว และยาวประมาณ ๑๐-๑๒ นิ้ว จุ่มน้ำร้อนและเช็ดให้แห้งแล้วนำมาปาดฝารวงในขณะที่ยังร้อนอยู่ ก็จะช่วยปาดได้สะดวกพอสมควร
          แต่ในกรณีที่มีรังผึ้งเป็นจำนวนมาก ก็ควรจะใช้มีดปาดฝารวงโดยเฉพาะ ที่ตัวใบมีดเดินด้วยท่อไอน้ำร้อนเพื่อให้ความร้อนแก่ใบมีดนั้น หรือจะใช้มีดปาดรวงที่ใช้ระบบไฟฟ้าให้ความร้อน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

          ถังสลัดน้ำผึ้งออกจากรวง ถังสลัดน้ำผึ้ง โดยทั่วไป มีตั้งแต่ขนาดเล็กแบบใช้มือหมุนที่สลัดได้ครั้งละ ๒ รวง ไปจนถึงขนาดใหญ่ ที่สามารถสลัดน้ำผึ้งได้พร้อมๆ กันหลายสิบรวง ซึ่งจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวหมุน  ความเร็วของถังสลัดน้ำผึ้งประมาณ ๓๐๐ รอบ/นาที เพื่อที่จะเหวี่ยงให้น้ำผึ้งไหลกระเด็นออกจากหลอดรวง

          สิ่งสำคัญที่เราควรทราบ คือ ทุกครั้งที่ผึ้งงานสร้างรวงใหม่ มันจะต้องกินน้ำหวานเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผลโดยตรงต่อปริมาณผลิตผลน้ำผึ้งที่ได้รับ ดังนั้นเมื่อเรานำเอารวงผึ้งไปสลัดน้ำผึ้งออกเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนำรวงมาใช้ได้อีก โดยเฉพาะในช่วงเก็บน้ำผึ้ง ซึ่งนับว่าเป็นการประหยัดแรงงานผึ้ง  ผึ้งไม่ต้องสร้างรวงขึ้นมาใหม่ทุกๆ ครั้งที่มีการเก็บน้ำผึ้ง การทำเช่นนี้ช่วยให้ได้น้ำผึ้งต่อรังสูงขึ้น 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น