วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 1 (ปลา)

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 1 (ปลา)




   ประเทศไทย มีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เป็นอาหารประเทศหนึ่งในโลก นับตั้งแต่โบราณกาลตลอดมา ประเทศของเรามีผักปลาและอาหารอย่างบริบูรณ์ จะเห็นได้จากข้อความที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ซึ่งปรากฏบนศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในสมัยเจ็ดร้อยปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาก็เป็นชาวประมงโดยปริยาย จับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ เป็นต้น เพื่อใช้บริโภคกันในครอบครัว ส่วนที่เหลือก็นำไปแลกเปลี่ยนหรือขาย ทำให้เขาเหล่านั้นดำรงชีพอยู่ด้วยความสงบมีสันติสุขโดยทั่วไป ส่วนประชาชนซึ่งอยู่ตามจังหวัดชายทะเล ๒๓ จังหวัดของประเทศของเรา ส่วนใหญ่ยังดำรงชีพอยู่ด้วยการทำการประมง เมื่อ ๖๐ ปีก่อน การประมงทะเลของประเทศเราเป็นการประมงแบบชายฝั่ง ชาวประมงจับปลาด้วยเครื่องมือประจำที่ชนิดต่างๆ เช่น ลอบ โพงพาง หรือโป๊ะ เป็นต้น ในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา ภายหลังที่ได้มีการพัฒนาการประมงโดยทั่วไป ชาวประมงของประเทศรู้จักใช้เครื่องมือจับปลาที่ทันสมัยขึ้น เป็นเครื่องมือเคลื่อนที่ เช่น อวนลอย และ อวนล้อมจับชนิดต่างๆ และในรอบยี่สิบห้าปีที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้อวนลากทำการประมงในทะเล ทำให้กิจการประมงของประเทศเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปริมาณปลาที่จับได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายทำให้บังเกิดผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศของเรา ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศของเรา

ต้นกำเนิดของปลา
            นักวิทยาศาสตร์สามารถสืบหาค้นคว้าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของปลาได้ โดยการตรวจดูซากปลาโบราณที่ปรากฏในหินชั้นต่างๆ และสามารถจะคำนวณอายุความเก่าได้ นักวิทยาศาสตร์ได้ลงความเห็นว่า ปลาจำพวกแรกที่เป็นบรรพบุรุษของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ ปลาที่ไม่มีขากรรไกร (Agnatha) ซึ่งประกอบด้วยปลาที่เรียกว่า ออสตราโคเดิร์ม (ostracoderms) ปลาจำพวกนี้มีเหงือกอยู่ในถุงกล้ามเนื้อซึ่งหดและขยายตัวได้เวลาหายใจ ปลาออสตราโคเดิร์มมี ๒จำพวก คือพวกที่ว่ายน้ำได้ และพวกที่หากินบนพื้นท้องน้ำ พวกหลังนี้มีเกราะหุ้มส่วนหน้าของลำตัว(cephalaspida) ปลาโบราณเริ่มมีอยู่ในยุคซีลูเรียน (Silurian) และดีโวเนียน (Devonian) คือประมาณ ๔๐๐ ล้านกว่าปีมาแล้ว
                ต่อมานานเข้าปลาจำพวกแรกนี้ก็มีวิวัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพื่อความเหมาะสมในการดำรงชีวิต วิวัฒนาการของมันแบ่งออกเป็น ๒ สาย สายที่หนึ่งเป็นปลาปากกลม ซึ่งยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ สายที่สองเป็นปลาโบราณที่มีขากรรไกร (placoderms) ซี่งมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นปลาจำพวกกระดูกอ่อน คือ พวกฉลามและกระเบน (Chondrichthyes) และพวกปลากระดูกแข็ง (Osteichthyes)

การรับความรู้สึกของปลา 
  • การรับกลิ่น
  • สายตา
  • การรับฟัง
  • การรับรส
  • การรับความสัมผัส
การรับกลิ่น 
          ปลามีจมูกสำหรับรับกลิ่นเช่นเดียวกับสัตว์บก แต่มิได้ใช้หายใจ จึงไม่มีท่อติดต่อกับคอหอย ปลาฉลามมีจมูกไวมาก สามารถรับกลิ่นเลือดได้ในระยะไกล 
สายตา 
          ตาปลามีลักษณะคล้ายคลึงกับตาของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังประเภทอื่นๆ แต่มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพื่อช่วยให้มันสามารถมองได้ในน้ำ ผนังภายนอกของตาปลาแบนกว่าของสัตว์บกแต่เลนส์ของตาปลากลมกว่า และเวลาใช้มอง เลนส์จะไม่เปลี่ยนรูปร่างเหมือนตาของสัตว์ชั้นสูงแต่จะเลื่อนเข้าเลื่อนออกจนภาพชัด ปลาส่วนใหญ่มีสายตาสั้น จากผลของการทดลองปรากฏว่าปลาสามารถจำสีต่างๆ ได้ ในจำพวกปลาที่อาศัยในน้ำขุ่น ตามีขนาดเล็กลง ปลาที่อาศัยอยู่ในถ้ำมีตาเป็นจุดเล็กๆ เท่านั้นหรือไม่มีเลยโดยถูกคลุมอยู่ใต้ผิวหนังก็ได้
 การรับฟัง 
          หูของปลาไม่มีส่วนนอกและส่วนกลางเหมือนสัตว์ชั้นสูง ดังนั้น ปลาจึงมีแต่เพียงหูส่วนใน ใช้เป็นอวัยวะสำหรับช่วยการทรงตัว ปลาน้ำจืดจำพวกปลาไน ปลาตะเพียน และปลาดุกกระเพาะลมมีส่วนติดต่อกับส่วนหูโดยชิ้นกระดูกเล็กๆ ซึ่งสามารถทำให้ปลาจำพวกนี้รับความสั่นสะเทือนในน้ำได้ดี นอกจากนี้ปลาส่วนใหญ่ยังมีเส้นข้างตัว (lateral line system) สามารถรับความสั่นสะเทือนในน้ำได้

การรับรส 
          ปลาหลายชนิดสามารถรับรสต่างๆ ได้ เช่น ปลาพวกตะเพียน แต่หน้าที่การรับรสอาจทำโดยอวัยวะพิเศษ ซึ่งอยู่บนหนวด (barbels) หรือบนหัวและตัวปลา โดยบริเวณเหล่านี้จะมีปุ่มรับรส (taste bud)
การรับความสัมผัส 
          ปลารับสัมผัสได้ดีมาก อวัยวะรับสัมผัสมีอยู่บนส่วนต่างๆ ของตัวปลา เช่น ตามผิวหนัง ตามผิวของหนวด (barbels of feelers) หรือครีบ สำหรับปลาที่หากินบนพื้นท้องน้ำใช้อวัยวะดังกล่าวในการหาอาหารโดยการคลำ

ช่วงชีวิตของปลา 
          จากหลักฐานที่ปรากฏในรายงานทางวิชาการพบว่า ปลาจีนบางชนิดที่เลี้ยงไว้ในบ่อมีอาย มากกว่า ๒๐ ปี แต่ไม่เกิน ๕๐ ปี ปลาทะเลหลายชนิดในเขตอบอุ่น เช่น ปลาแฮร์ริง (herring)ในทะเลเหนืออาจมีอายุถึง ๒๐ ปี ปลาบึกในแม่น้ำโขง (Pangasianodon gigas) อาจมีอายุมากกว่า๑๕ ปี ปลาเขตร้อนเช่นในบ้านเราส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตเร็วมาก และมีช่วงชีวิตสั้น เช่นปลาทูในบ้านเราอาจมีช่วงชีวิตอย่างมากเพียง ๓ ปี เท่านั้น ทั้งนี้ เพราะปลาส่วนใหญ่ถูกจับโดยการประมงเสียก่อนที่จะมีอายุถึง ๓ ปี

การเจริญเติบโตของปลา
          ถ้าปลามีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ อัตราการเจริญเติบโตก็จะเป็นไปตามปกติ และปลาก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในระยะแรกขณะที่ปลายังเล็ก อาหารที่ปลากินเข้าไปส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ใช้ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอแต่ส่วนใหญ่จะใช้ในการเจริญเติบโตเสริมสร้างเนื้อเยื่อของปลา จนกระทั่งปลาเจริญเติบโตเกือบเต็มวัย อาหารส่วนใหญ่จึงเริ่มใช้ในการเสริมสร้างอวัยวะเพศ เพื่อให้ปลาสามารถสืบพันธุ์ได้ต่อไป ถึงแม้ว่าปลาโตเต็มวัยและพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้แล้ว การเจริญเติบโตก็ยังมีอยู่แต่อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าที่เป็นมาดังนั้น การเจริญเติบโตของปลาจึงแตกต่างไปจากสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เช่น นก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
      นักวิทยาศาสตร์สามารถทำนายอายุของปลา และหาอัตราการเจริญเติบโตได้โดยใช้วิธีการต่างๆ หลายวิธีด้วยกัน เช่น ทำการวิเคราะห์วงปีบนเกล็ดหรือส่วนกระดูกอื่นๆ เช่น ชิ้นกระดูกแก้ม(opercular bones) กระดูกในกล่องหู (otoliths) ข้อกระดูกสันหลัง เป็นต้น ถ้าหากไม่ปรากฏวงปีบนส่วนแข็งของปลา นักวิทยาศาสตร์อาจใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบของความยาวของปลา โดยทำการสุ่มตัวอย่างวัดปลาในประชากรเดียวกันตลอดปี เพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบของความยาว นอกจากนี้ เรายังสามารถประเมินอัตราการเจริญเติบโตของปลา โดยทำการติดเครื่องหมายปลาแล้วเลี้ยงไว้ในบ่อหรือกระชัง เพื่อตรวจดูความเจริญเติบโตเป็นระยะๆ
          ในการประเมินอัตราการเจริญเติบโตของปลาทูในอ่าวไทย โดยหน่วยงานอนุรักษ์ปลาผิวน้ำสถานวิจัยประมงทะเล กรมประมง ได้พบว่าปลาทูในอ่าวไทยมีการเจริญเติบโตสูงมากในระยะเวลาเพียง ๗ เดือนหลังจากที่ไข่ได้ฟักตัวออกมาเป็นลูกปลาแล้ว โดยในปีแรกปลาก็อาจจะมีความยาวถึง ๑๕ เซนติเมตร และก็สามารถทำการสืบพันธุ์ได้

รูปร่างและลักษณะทั่วๆ ไปของปลา


1. สีบนตัวปลา
2. ขนาดและรูปร่าง
3. ผิวหนังและเกล็ดปกคลุมร่างกาย

1. สีบนตัวปลา 
          ปลามีสีสวยงามไม่แพ้สัตว์บกพวกนกหรือผีเสื้อ เราจึงนิยมเลี้ยงปลาไว้ดูเล่นในตู้กระจก หรืออ่างน้ำ ในประเทศเยอรมนี ซึ่งแม้จะอยู่ในเขตอบอุ่น ก็มีอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นล่ำเป็นสันมาก สามารถเพาะปลาสวยงามชนิดต่างๆ ที่เป็นปลาจากเขตร้อน ส่งไปขายให้สหรัฐอเมริกามีมูล-ค่าเท่ากับฝ้ายที่ประเทศต้องสั่งซื้อมาจากสหรัฐฯ เพื่อนำมาทอใช้ในประเทศของตน
          ธรรมชาติไม่ได้สร้างสีสันของปลาเพียงเพื่อให้มีความสวยงามเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ปลาสามารถหลบซ่อนเหยื่อหรือปรับตัวให้กลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายจากศัตรู หรือเป็นสื่อช่วยกระตุ้นในฤดูที่มีการสืบพันธุ์(nuptial dress) อีกด้วย
          โดยทั่วไปปลามักมีสีเงินและสีฟ้าหรือน้ำเงิน บ้างก็มีสีเขียว สีเทาหรือสีน้ำตาล ปลาทะเลบางจำพวก เช่น ปลาตามโขดหินกองหรือปะการัง มีสีสันสลับสดใสน่าดูมาก เช่น สีเหลืองสีแดง สีม่วง หรือสีน้ำเงินแก่ เป็นต้น นอกจากมีสีต่างๆ เป็นสีพื้น ปลาหลายชนิดยังมีจุดหรือแถบสีอยู่ประปรายโดยทั่วไปในปลาหลายชนิด ปลาเพศผู้และเพศเมียมีสีไม่เหมือนกัน เช่น
           ปลากินยุง (Poecilia) หรือปลากัด (Betta spp.) ปลาเพศผู้มีสีสวยงามมากกว่าเพศเมีย นอกจากนี้ปลาบางชนิด เช่น ปลาจำพวกกะพงทะเล เมื่อยังมีขนาดเล็กจะมีจุดหรือแถบสีชัดเจนแต่เมื่อปลาโตมากขึ้น จุดหรือแถบสีนั้นก็จะเลือนราง หรือหายไปกลายเป็นสีอื่นสีต่างๆ ทั้งหมดที่เราเห็นอยู่บนตัวปลา เกิดจากการปะปนของเซลล์สร้างสีสองสามชนิดเท่านั้น สีนอกจากนั้นอาจเกิดจากการสะท้อนของแสงในน้ำ (apparent color) ตามปกติปลามีเซลล์สร้างสีดำ (melanophores) ซึ่งมีอนุภาคของสารเมลา-นิน (melanin) อยู่เป็นจำนวนมากแสงสะท้อนจากอนุภาคเมลานินเหล่านี้ ผ่านผลึกของกัวนิน (guanin) ซึ่งเป็นของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมากับเมือกที่เกาะอยู่ตามผิวหนัง ซึ่งอยู่เหนือชั้นที่มีเซลล์สร้างสีดำ ทำให้เราเห็นปลามีสีเขียว สีฟ้า หรือสีน้ำเงิน แล้วแต่ปริมาณและสัดส่วนของเมลานินและกัวนินในปลาบางชนิด จุดสีหรือรงควัตถุ(pigment) จากเซลล์สร้างสีเหลืองผสมกับเมลานินและสารที่เรียกว่า อิร์ริดิโอไซต์ (irridiocytes) ทำให้เกิดเป็นสีเขียวขึ้นมาได้สีแดงเกิดจากจุดสีที่สร้างด้วยเซลล์สีแดง (erythophres)สีชมพู สีม่วง และสีคล้ายดอกกล้วยไม้ที่ปรากฏบนตัวปลาเกิดจากการผสมเป็นสัดส่วนต่างๆ ของจุดสีจากเซลล์สร้างสีดังกล่าวและจากแสงสะท้อนจากน้ำมายังนัยน์ตาของเรา
          เซลล์สร้างจุดสีเหล่านี้สามารถหดหรือขยายตัวได้โดยรวดเร็ว การหดหรือขยายตัวเกิดขึ้นจากการกระตุ้นโดยระบบประสาท อันเกี่ยวเนื่องอย่างมากในการเห็นของปลา และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีรวิทยาภายในตัวปลาเอง ดังนั้น ปลาจึงสามารถเปลี่ยนสีและลวดลายให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีมาก
          มนุษย์เราสามารถปรับปรุงให้ปลาเปลี่ยนรูปร่างและสีสันได้ โดยการคัดเลือกพันธุ์ (selective breeding) และผสมข้ามพันธุ์ (cross breeding) การคัดเลือกและผสมข้ามพันธุ์ปลาได้ทำกันมาเป็นเวลานานกว่า ๑,๐๐๐ ปีแล้ว นักเพาะพันธุ์ปลาชาวจีนและญี่ปุ่นสามารถทำให้เกิดปลาแบบใหม่ขึ้นได้โดยวิธีการดังกล่าว เช่น การทำให้เกิดพันธุ์ปลาเงินปลาทองหัวสิงโต ปลาเงินปลาทองที่มีครีบยาวและสวยงาม ปลาแฟนซีคาร์พ ฯลฯ นักเพาะพันธุ์ปลาสวยงามในปัจจุบัน ก็ยังใช้วิธีการดังกล่าวอยู่ เช่นในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาสวยงามของไทยและสิงคโปร์ ทำให้เกิดปลาที่มีรูปร่างและสีสันตามความต้องการของตลาด ซึ่งบังเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

2. ขนาดและรูปร่าง 
          ปลาทั่วๆ ไปก็เหมือนกับสัตว์บกที่เราเห็นทั้งหลาย คือ เป็นสัตว์ที่มีลักษณะด้านซีกซ้ายของลำตัวเหมือนกับทางซีกขวา ซึ่งทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า bilaterally symmetrical shape ปลาจำพวกต่างๆ มีขนาดและรูปร่างไม่เหมือนกัน ปลาที่มีขนาดเล็กที่สุดเห็นจะได้แก่ ปลาจำพวกปลาบู่ในประเทศฟิลิปปินส์ มีชื่อว่า "มิสติคธีสลูซอเนนซิส" (Mistichthys luzonensis) ปลาชนิดนี้เมื่อโตเต็มวัยและสามารถสืบพันธุ์ได้ จะมีขนาดความยาวเพียง ๑.๒ เซนติเมตร ปลาทู (Rastrelligerspp.) ที่พบในตลาดบ้านเรามีขนาดเฉลี่ยตั้งแต่ ๑๐.๕ เซนติเมตร ถึงประมาณ ๒๓ เซนติเมตรปลาอินทรี comberomorus spp.) ที่จับได้ในอ่าวไทยมีขนาดความยาวประมาณ ๒๐ ถึง ๙๐ เซนติเมตรปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่พบเห็นกัน ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) ซึ่งอาจมีความยาวถึง ๒๐-๒๒ เมตร และหนักประมาณ ๒๕ ตัน
          รูปร่างของปลาโดยทั่วไปแตกต่างกันไปตามชนิดของปลา ปลาส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นแบบกระสวย (fusiform) ซึ่งเป็นลักษณะของปลาที่ว่ายน้ำเร็ว และปลาพวกนี้มักอยู่รวมกันเป็นฝูง เช่นปลาทู ปลาโอ หรือปลาทูนาในมหาสมุทร เมื่อตัดปลาในแนวตั้งฉากกับแกนยาวของลำตัวจะเห็นหน้าตัดเป็นรูปกลมหรือรูปไข่ รูปแบบนี้เป็นรูปลักษณะของปลาส่วนใหญ่ ปลาจำพวกอื่นๆ รูปร่างอาจจะผิดแผกไปจากแบบที่ได้กล่าวไว้ เช่น มีรูปกลมเหมือนลูกโลก (globiform) ได้แก่ ปลาปักเป้าบางชนิดมีรูปยาวคล้ายงู (anguilliform) เช่น ปลาไหลทะเล (Muraenesox spp.) หรือปลาไหลน้ำจืด(Fluta alba) ที่มีในบ้านเราปลาบางจำพวกอาจมีรูปแบนข้าง (compressed form) เช่น ปลาผีเสื้อหรือปลาจะละเม็ด (Pampus spp.) บางชนิดอาจจะแบนมากและลำตัวยาวคล้ายแถบผ้า เช่น ปลาดาบเงิน (Trichiurus lepturus) บางพวกอาจมีรูปร่างแบบแบนลง (depressed form) เช่น ปลากระเบนปลาคางคก เป็นต้น

3. ผิวหนังและเกล็ดปกคลุมร่างกาย 
          ปลามีผิวหนังเรียบอ่อนนุ่มคลุมตลอดลำตัว และมีต่อมขับเมือกโดยทั่วไป เมือกที่ขับออกมามีประโยชน์ช่วยทำให้การเสียดสีและความฝืดลดลงในขณะที่ปลาว่ายน้ำ ปลาบางจำพวก เช่นปลาไหลนา ปลากด ปลาแขยง และปลาดุก เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ดปกคลุม จึงมีเมือกมาก แต่ปลาส่วนใหญ่มีเกล็ดปกคลุมทั่วตัว
          เกล็ดของปลามีหลายแบบด้วยกัน ในปลาจำพวกปลากระดูกอ่อน เช่น ฉลามและกระเบนถ้าเราเอามือลูบจากทางหางไปส่วนหัวจะรู้สึกสากๆ ที่ทำให้รู้สึกสาก เพราะมือเราสัมผัสกับเกล็ดเล็กๆ ที่ปกคลุมรอบตัว เกล็ดของปลาดังกล่าวเป็นเกล็ดแบบแพลคอยด์ (placoid scales) ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟัน (ฟันของปลาฉลามก็คือส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากเกล็ดนั่นเอง) เกล็ดแบบนี้มีปลายเป็นหนามยื่นไปทางท้าย
           ปลาน้ำจืดจำพวกการ์ (gars) ในทวีปอเมริกาเหนือ มีเกล็ดหนาๆ เรียงติดกันแต่ไม่ซ้อนกันเกล็ดเหล่านี้มีสารเคมีจำพวกแกโนอีน (ganoine) อยู่ด้วย เราจึงเรียกเกล็ดชนิดนี้ว่าแกนอยด์ (ganoidscales) ในปลาโบราณบางชนิดซึ่งพบกลายเป็นซากติดอยู่ในหิน หรือเรียกว่า ซากดึกดำบรรพ์ (fossil)เป็นปลาจำพวกที่มีอวัยวะคล้ายปอดสำหรับหายใจ มีเกล็ดพิเศษปกคลุมร่างกายเรียกว่า คอสมอยด์(cosmoid scales) มีลักษณะคล้ายเกล็ดแกนอยด์ แต่สารเคมีที่อยู่ในเกล็ดเป็นจำพวกคอสมีน (cos-mine)
           ปลาส่วนใหญ่ในปัจจุบัน นอกจากปลาจำพวกฉลาม และกระเบน มีเกล็ดแบบไซคลอยด์ (cycloid)และทีนอยด์ (ctenoid) แล้ว ยังมีปลากระดูกแข็ง (Teleosts) ที่มีโครงครีบเป็นก้านอ่อน เช่นปลาหลังเขียว (Sardinella spp.) ปลานวลจันทร์ทะเล (Chanos chanos) และปลาตะเพียน (carps)มีเกล็ดแบบไซคลอยด์ ซึ่งถ้าเรานำมาตรวจดูโดยแว่นขยายจะเห็นรอยบนเกล็ดปรากฏเป็นวงๆ ได้ชัดเจน วงเหล่านี้เราเรียกว่า "เซอร์คูไล" (circuli) สำหรับปลาที่อยู่ในเขตร้อนและเขตหนาว ระยะระหว่างวงแต่ละวงจะเห็นชัดเจนไม่เหมือนกัน ในหนึ่งรอบปีของอายุของปลา วงเหล่านี้บนเกล็ดอาจจะอยู่ชิดกันตอนหนึ่งและอีกตอนหนึ่งห่างกัน ทำให้เกิดเห็นเป็นวงปี (annuli) ขึ้นบนเกล็ด ทั้งนี้เพราะการเจริญเติบโตของปลาในเขตหนาวส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตดีเฉพาะในฤดูที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ คือในฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น นักชีวประมงจึงใช้ประโยชน์จากเกล็ดในการทำนายอายุของปลาได้
           ปลากระดูกแข็งที่มีโครงครีบเป็นหนาม (spines) ส่วนใหญ่มีเกล็ดแบบทีนอยด์ หรือไซคลอยด์ เกล็ดทีนอยด์เป็นเกล็ดคล้ายเกล็ดไซคลอยด์ แต่ตรงขอบท้ายเกล็ดที่มองเห็นจากภายนอกมีหนามเล็กแหลมอยู่ทั่วไป ตัวอย่างปลาที่มีเกล็ดแบบทีนอยด์ ได้แก่ ปลากะพง (Lutianusspp.) ในทะเล และปลาเสือ (Toxotes chatarcus) ตามแม่น้ำในภาคกลางของประเทศไทย เฉพาะปลาชนิดหลังมีวิธีการหาอาหารแปลกกว่าปลาทั้งหมดเพราะมีความไวและสายตาดี จึงสามารถใช้ปากพ่นน้ำให้ถูกตัวแมลงที่เกาะอยู่สูงถึง ๑.๕๐ เมตร จากผิวน้ำร่วงลงน้ำแล้วกินได้
          เกล็ดของปลากระดูกแข็งทั้งหลายไม่ได้เรียงกันเหมือนปลาฉลาม แต่ซ้อนกันแบบเราเอากระเบื้องมุงหลังคาบ้าน
          ในปลาบางจำพวกอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของเกล็ด เช่น เชื่อมติดกันเป็นแผ่นห่อหุ้มตัวปลา พบในปลาข้างใส (Centriscus spp.) หรือปลาเขาวัว ส่วนปลาปักเป้าเกล็ดจะเปลี่ยนเป็นหนามแหลม
           ปลาบางจำพวก เช่น ปลากระเบน ปลาดุกทะเล หรือปลาหัวโขนบริเวณผิวหนังบางส่วนจะมีต่อมขับสารมีพิษ ต่อมเหล่านี้โดยมากจะอยู่ใกล้กับโคนก้านครีบแข็งหรือเงี่ยง ถ้าอวัยวะเหล่านี้ทิ่มตำเข้า พิษจะถูกขับเข้าสู่แผลจะทำให้เกิดความเจ็บปวดอาจเกิดเป็นแผลเน่า และมีอันตรายถึงตายได้
           ปลาที่อาศัยอยู่ในที่ลึกในมหาสมุทร มีหลายชนิดที่มีอวัยวะเรือง แสงอยู่บนลำตัวหรือหัวอวัยวะเหล่านี้มีประโยชน์แก่ปลา เพราะทำหน้าที่ล่อ เหยื่อให้เข้ามาหา ช่วยในการมองเห็น ช่วยป้องกันศัตรู และช่วยในการรวมกลุ่ม ต่อมเรืองแสงเป็นอวัยวะพิเศษที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยวิวัฒนาการมาจากต่อมขับเมือกซึ่งอาจเป็นแสงที่ปลาทำขึ้นเองหรือมาจากสิ่งมีชีวิตอื่นก็ได้

การเคลื่อนไหวและทรงตัวในน้ำของปลา 

          ปลาแหวกว่ายดำน้ำ หรือผุดจากระดับลึกขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็วได้ ก็โดยอาศัยครีบและกล้ามเนื้อลำตัวเป็นสำคัญปลาที่ว่ายน้ำเร็ว เช่น ปลาทู หรือปลาทูนา มีการโบกพัดของหาง และการยืดและหดของกล้ามเนื้อข้างลำตัวสลับสัมพันธ์กันไปดีมาก ทำให้ปลาเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้โดยรวดเร็ว
          ครีบต่างๆ ของปลา นอกจากจะมีส่วนที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของปลาแล้ว ยังมีหน้าที่พยุงและรักษาการทรงตัวของปลาในน้ำ เวลาปลาว่ายน้ำเร็วครีบต่างๆ จะหุบลงหรือยุบลงทอดแนบตามตัวของปลา ทั้งนี้เพื่อให้ลู่ตามน้ำ และความต้านทานน้อยลง ครีบหางทำหน้าที่เปรียบเสมือนหางเสือของเรือ เมื่อต้องการจะหยุด ครีบอกและครีบท้องจะกางออกต้านน้ำ ครีบอื่นก็จะแผ่ออกทำหน้าที่ทรงตัวพร้อมกัน
          ครีบต่างๆ ของปลาแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆคือ ครีบคู่ (paired fins) และครีบเดี่ยว (median fins) สำหรับครีบคู่ในปลาส่วนใหญ่มีสองคู่ด้วยกัน คือ ครีบอก (pectoral fins)และครีบท้อง (pelvic หรือ abdominal fins) ซึ่งครีบทั้งสองเปรียบได้เหมือนขาหน้าและขาหลังของสัตว์สี่เท้าบนบก ครีบอกตั้งอยู่ถัดจากกระพุ้งแก้มของปลา โดยอาจอยู่สองข้างของลำตัวทั้งซ้ายและขวาหรืออยู่ค่อนมาทางด้านล่างของลำตัวแล้วแต่จำพวกของปลา ที่ตั้งของครีบท้องมักมีส่วนสัมพันธ์กับตำแหน่งที่ตั้งของครีบอก ในปลากระดูกแข็งชั้นต่ำคือปลาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากแบบปกติทั่วไปมากนัก เช่น ปลาหลังเขียวปลาเข็ม ตำแหน่งของครีบท้องจะอยู่ชิดส่วนสันท้องทางด้านหน้าของรูทวาร (anus) ส่วนตำแหน่งของครีบอกจะอยู่ต่ำหรือค่อนมาทางด้านล่างของลำตัว ในปลากระดูกแข็งชั้นสูงคือปลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง และลักษณะไปจากแบบทั่วไปไม่ว่าน้อยหรือมาก ตำแหน่งของครีบท้องจะอยู่ตรงบริเวณหน้าอกของปลา (thoracic position) ใต้ครีบอกซึ่งอยู่ถัดสูงขึ้นไปข้างลำตัว เช่น ปลาทู ปลาม้า หรืออยู่เลยค่อนไปทางข้างหน้าของครีบอก คืออยู่ที่ตรงบริเวณคอหอยของปลา (jugular position)เช่น ปลาจำพวกปลาบู่ เป็นต้น
          ครีบอกของปลาจำพวกปลากระเบนมีความสำคัญในการเคลื่อนไหวในน้ำเป็นอย่างมาก แต่ในปลาหลายชนิดครีบคู่มีหน้าที่เฉพาะเพื่อการทรงตัวในน้ำ ปลาบางจำพวก เช่น ปลาในวงศ์ปลานกกระจอก (Exocoetidae) ครีบอกมีขนาดใหญ่มากใช้ช่วยพยุงตัวให้ปลาถลาขึ้นพ่นน้ำร่อนไปได้ไกลๆ
          ปลาบางชนิด เช่น ปลาไหลนา ครีบคู่เสื่อมหายไป เพราะการเคลื่อนไหวของปลาไหล ใช้การยืดหดของกล้ามเนื้อลำตัวแทนทั้งหมด ทำให้ปลาเคลื่อนที่ได้เหมือนงูเลื้อย ปลาบางชนิดไม่มีครีบท้อง เช่น ปลาจะละเม็ด ปลาดาบเงิน ปลาปักเป้าเป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าในบรรดาครีบทั้งหลาย ครีบท้องมีประโยชน์น้อยที่สุดในการพยุงตัวและการทรงตัวของปลา จึงเห็นได้ชัดว่ามีขนาดเล็กกว่าครีบอื่น
          ดังได้กล่าวมาแล้ว นักอนุกรมวิธานปลาจึงพอจะใช้ตำแหน่งของครีบคู่ ในการจำแนกกลุ่มของปลาออกเป็นปลาจำพวกที่มีโครงครีบซึ่งเป็นก้านอ่อน (soft-rayed fish) และปลาที่มีโครงครีบซึ่งมีก้านเป็นหนาม (spiny-rayed fish)
          ครีบเดี่ยว ได้แก่ ครีบหลัง (dorsal fin) ครีบหาง (caudalfin) และครีบทวาร (anal fin)
          ครีบหลังอาจมีเพียงครีบเดียว หรือมากกว่าหนึ่งครีบก็ได้ ในปลาบางชนิดครีบหลังอันที่ ๒ อาจจะเป็นครีบไขมัน(adipose fin) หรืออาจประกอบด้วยครีบฝอย (finlets) ก็มี ในปลากระดูกแข็งชั้นต่ำ ครีบหลังจะมีก้านครีบอ่อนประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ เรียงต่อกันเป็นข้อๆ ตอนปลายของก้านแตกออกเป็นแฉกๆ  ปลาจำพวกนี้ได้แก่ ปลาโคก (gizzard shad)ปลาอกแลหรือหลังเขียว (sardine) ฯลฯ
          ในปลากระดูกแข็งชั้นสูงขึ้นมา ครีบหลังตอนแรกก้านครีบจะเป็นหนามแข็ง ส่วนครีบหลังอันถัดมาเป็นก้านครีบอ่อน เช่น ในปลาจำพวกกะพง (Snappers) ส่วนปลาทู ปลาลัง ยังมีครีบฝอย (finlets) จำนวน ๕ ครีบอยู่ถัดไปทางโคนหาง กับอีก ๕ ครีบอยู่ตรงกันข้ามทางด้านท้องท้ายครีบทวาร
          ครีบที่เป็นหนามทำให้ครีบแข็งแรงขึ้น และอาจใช้ในการป้องกันศัตรูได้ด้วย ในปลาบางจำพวก เช่น ปลาดุก (Clarias spp.) มีครีบหลังและครีบทวารยาว การโบกพัดของครีบยังทำให้ปลาเดินหน้าและถอยหลังได้ อย่างไรก็ดี ในปลาบางชนิด เช่น ปลาติด (sucker fish) ครีบหลังอันแรกซึ่งอยู่บนหัวจะมีวิวัฒนาการไปเป็นอวัยวะที่ใช้ยึดเกาะติด ดังนั้น ปลาพวกนี้จึงอาศัยเกาะติดปลาใหญ่ๆ เช่น ปลาฉลาม ได้ และคอยรับเศษอาหารที่หลงเหลือจากปลาใหญ่เหล่านั้น
          ครีบหางมีความสำคัญมากในการเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนทิศทางในการเคลื่อนที่ ปลาที่ว่ายน้ำเร็วมักจะมีส่วนตัด (cross section) ของคอดหาง (caudal peduncle) เป็นรูปกลม เช่น ปลาฉลาม ครีบหางในปลากระดูกแข็งชนิดต่างๆ มีรูปร่างแตกต่างกันไป ปลาจำพวกที่ว่ายน้ำเร็ว หรือปลาฝูงในมหาสมุทร เช่น ปลาทูนา ครีบหางจะกว้างแต่เว้าลึกมีรูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ปลาทูมีครีบหางเป็นแฉกรูปส้อม ปลาที่ว่ายน้ำช้าอาจมีครีบหางเป็นรูปพัด หรือรูปหางตัดหรือรูปกลมแล้วแต่ชนิดของปลา ปลาฉลามซึ่งเป็นปลาจำพวกที่มีกระดูกอ่อนมีลักษณะของครีบหางผิดแผกไปจากปลาจำพวกกระดูกแข็ง กล่าวคือ แกนหางงอนขึ้นไปทางส่วนบนของครีบหางทำให้ส่วนบนของครีบหางยาวกว่าส่วนล่าง (heterocercal tail) นี่เป็นลักษณะที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปลาฉลามกับปลาโบราณบางพวกที่พบกลายเป็นซากหิน ส่วนหางของปลากระเบนหลายชนิดมีลักษณะเป็นแส้ยาว
          ครีบทวารมีส่วนช่วยในการพยุงตัว และในการเคลื่อนไหวของปลาเหมือนกัน เช่น ในปลากรายและปลาสลาดหรือฉลาดมีครีบทวารยาวมาก การพัดโบกของครีบทวารจะทำให้ปลาว่ายไปข้างหน้าหรือถอยหลังได้ จะเห็นได้ว่าในปลาจำพวกนี้ ครีบอกมีขนาดเล็ก ส่วนครีบท้องยิ่งเล็กมากจนไม่น่าใช้ประโยชน์ได้

การสืบพันธุ์ของปลา 
  • พวกที่ปลาตัวแม่วางไข่ในน้ำ
  • ปลาที่วางไข่ติดบนสาหร่ายหรือพืชน้ำ
  • ปลาจำพวกที่พ่อหรือแม่ปลาทำรังเพื่อวางไข่
  • พวกที่เก็บรักษาไข่ไว้ในปากหรือตามร่างกาย
  • ปลาที่ออกลูกเป็นตัว
  • การออกไข่ของปลาทะเล
พวกที่ปลาตัวแม่วางไข่ในน้ำ 
          พวกที่ปลาตัวแม่วางไข่ในน้ำ แล้วปลาตัวพ่อฉีดน้ำเชื้อออกมา และไข่ได้รับการผสมจากน้ำเชื้อทันที หลังจากนั้นแล้วปลาพ่อแม่ไม่ดูแลรักษาไข่เลย ปลาจำพวกนี้ ได้แก่ ปลาทะเลส่วนใหญ่ เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลาอินทรี ฯลฯ เป็นต้น ไข่ที่แม่ปลาเหล่านี้วางมักมีขนาดเล็กมีเป็นจำนวนมากและเป็นไขประเภทลอยน้ำโดยมีลักษณะโปร่งใส

ปลาที่วางไข่ติดบนสาหร่ายหรือพืชน้ำ 
          ปลาที่วางไข่ติดบนสาหร่ายหรือพืชน้ำ ได้แก่ ปลาน้ำจืดเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปลาไนปลาจีน ฯลฯ

ปลาจำพวกที่พ่อหรือแม่ปลาทำรังเพื่อวางไข่ 
          ปลาจำพวกที่พ่อหรือแม่ปลาทำรังเพื่อวางไข่ แต่ไม่อาจดูแลระวังและรักษาไข่ต่อไปได้ เช่น ปลาแซลมอน หรืออาจจะดูแลรักษาจนกระทั่งไข่ฟักออกมาเป็นตัว เช่น ปลากัด ปลาสลิด ปลากระดี่ โดยตัวผู้ก่อหวอดแล้วอมไข่ไปพ่นเก็บไว้ที่หวอด และดูแลรักษาจนไข่ฟักออกมาเป็นตัว

พวกที่เก็บรักษาไข่ไว้ในปากหรือตามร่างกาย 
          พวกที่เก็บรักษาไข่ไว้ในปากหรือตามร่างกาย เช่น ปลาอมไข่ (Apogonidae) ปลากดทะเล (Tachysuridae) ตัวผู้ รวมทั้งปลาหมอเทศ หรือปลานิล (Tilapia spp.) ตัวเมีย ปลาม้าน้ำตัวผู้มีถุงเก็บไข่ไว้ที่หน้าท้อง
ปลาที่ออกลูกเป็นตัว 
            ปลาที่ออกลูกเป็นตัว เช่น ปลากินยุง และปลาเข็ม เป็นต้น

การออกไข่ของปลาทะเล 

           สำหรับปลาทะเลส่วนใหญ่ซึ่งออกไข่เป็นจำนวนมากและไม่ดูแลรักษา ไข่มักเป็นไข่แบบลอยน้ำ (pelagic eggs) และมีขนาดเล็ก เมื่อตรวจดูด้วยแว่นขยายจะเห็นว่าไข่ส่วนมากมีรูปกลมมีเปลือกหุ้มโดยรอบ เรียบและโปร่งใส ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายจากการทำลายของศัตรูในขณะที่ตัวอ่อนกำลังเจริญเติบโตอยู่ภายในไข่ พวกนี้ลอยน้ำได้เนื่องจากมีจุดน้ำมันอยู่ในไข่ ทำให้มีความถ่วงจำเพาะใกล้เคียงหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ไข่ปลาบางชนิดมีช่องระหว่างเปลือกไข่และตัวอ่อนภายในไข่กว้างเพื่อช่วยให้ไข่ลอยน้ำได้ ปลาบางชนิดมีเมือกหุ้มรอบเปลือกไข่ ปลานกกระจอกซึ่งร่อนเหนือน้ำไปได้ไกลๆ มีไข่ที่มีสายยื่นยาวออกมาจากเปลือกไข่หลายสายเพื่อช่วยให้ไข่จมช้าลง ไข่ของปลาน้ำจืดส่วนใหญ่เป็นแบบจมลงสู่พื้นท้องน้ำ (demersal eggs) หรือเกาะติดกับพืชน้ำหรือสาหร่าย หากเป็นไข่แบบจมที่อยู่ในบริเวณที่ไม่มีออกซิเจนมากนักไข่มักมีสีเหลืองจัด เพราะจะมีสารคาเรตินอยด์ (caretinoid) ซึ่งช่วยในการถ่ายเทอากาศของไข่
           การเจริญเติบโตของไข่ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม เช่น ก๊าซละลายในน้ำ ศัตรูหรืออุณหภูมิแต่สาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ อุณหภูมิ จากผลของการศึกษาของหน่วยงานอนุรักษ์ปลาผิวน้ำสถานวิจัยประมงทะเล กรมประมง ปรากฏว่า ในการทดลองผสมเทียมของปลาทู ไข่ปลาทูที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อของปลาตัวผู้แล้ว จะฟักออกมาเป็นตัวเร็วขึ้นโดยใช้เวลา ๒๓ ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำประมาณ ๒๗.๒ องศาเซลเซียส และจะต้องใช้เวลานานประมาณ ๒๗ ชั่วโมง หากอุณหภูมิลดลงมาเป็น ๒๔.๔ องศาเซลเซียส
            นักวิทยาศาสตร์ประมงพบว่า หากเราเอาอุณหภูมิเฉลี่ยของแต่ละวันคูณกับจำนวนวันที่ปลาใช้ในการฟักไข่ให้ออกมาเป็นตัวตั้งแต่ได้รับการผสม จะได้ค่าคงที่สำหรับปลาชนิดใดชนิดหนึ่งดังนั้น หากเราทราบอุณหภูมิของแต่ละวัน เราก็จะทำนายได้ว่า ปลาจะฟักออกจากไข่มาเป็นตัวได้เมื่อใด
            หลังจากที่ไข่ได้ฟักออกมาเป็นตัวแล้ว ตัวอ่อนของปลายังไม่หาอาหารทันที แต่จะใช้อาหารเดิมซึ่งสะสมไว้ในไข่แดงที่ติดกับตัวมันจนหมดก่อน แล้วจึงเริ่มหาอาหารตามธรรมชาติต่อไป ในระยะที่ลูกปลาเปลี่ยนวิธีการหาและกินอาหาร อัตราการตายของลูกปลาในระยะนี้จะสูงมาก หากมิได้รับอาหารที่เหมาะสม เช่น ในบางปีลูกปลาถูกกระแสน้ำพัดออกไปนอกฝั่งสู่บริเวณที่มีอาหารน้อย ดังนั้น ลูกปลาในปีนั้นจะเหลือน้อยมากและอาจทำให้ประชากรของปลาในปีต่อไปที่อยู่ในข่ายของการประมงลดลง
           ได้มีนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันทำการศึกษาอัตราการตายของปลาในสกุลใกล้เคียงกับปลา-ทู (Scomber spp.) ในมหาสมุทรแอตแลนติก ปรากฏว่าในระยะเป็นไข่และลูกปลาวัยอ่อน อัตราการตายตามธรรมชาติจะสูงถึง ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าหลังจากระยะนี้ผ่านพ้นไปแล้วจะเหลือลูกปลาเจริญเติบโตต่อไปเพียง ๒-๓ ตัวเท่านั้น จากไข่ประมาณ ๒๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ฟองที่แม่ปลาชนิดนี้วางไข่ในฤดูหนึ่ง

หลักการแบ่งจำพวกของปลา 
            เนื่องจากในโลกเรานี้มีปลาชนิดต่างๆ อยู่มากกว่า ๒๐,๐๐๐ ชนิด นักวิทยาศาสตร์จึงได้หาวิธีการจำแนกแยกชนิดของปลาออกเป็นจำพวกและเป็นชนิดต่างๆ เช่น

1. แบ่งออกตามถิ่นฐานที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจายของปลา
2. การแบ่งจำแนกแยกชนิดของปลาตามความสัมพันธ์ระหว่างหมวดหมู่ และตามหลักวิชา
1. แบ่งออกตามถิ่นฐานที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจายของปลา 
           ทางด้านนิเวศวิทยานี้เราอาจแบ่งปลาชนิดต่างๆ ออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
          (๑) ปลาทะเล เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีความเค็มสูงกว่าน้ำจืด ปลาทะเลอาจแบ่งออกไปได้อีกเป็น ๒ จำพวกคือ
          ก) ปลาผิวน้ำ (pelagic fishes) เป็นพวกที่อาศัยในทะเลตั้งแต่ระดับผิวน้ำลงไปถึงระดับกลางน้ำ เช่น ปลาจำพวกปลาทู ปลาอินทรี ปลาโอ เป็นต้น
          ข) ปลาหน้าดิน (demersal fishes) เป็นปลาที่อาศัยและหากินบนพื้นท้องทะเล หรืออาจจะอยู่เหนือพื้นท้องทะเลเล็กน้อย เช่น ปลากระเบน ปลาตาเดียว ปลาทรายแดง และปลาสีกุน เป็นต้น
           หรืออีกวิธีหนึ่งเรายังอาจแบ่งปลาทะเลออกเป็นจำพวกที่อยู่อาศัยในมหาสมุทรหรือทะเลหลวง (oceanic species) เช่น ปลานกกระจอก ปลาโอ ปลาทูนา พวกที่อาศัยและหากินใกล้ฝั่งเช่น ปลาทู ปลาตามหินปะการัง และปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลลึก (abyssal species) ซึ่งแสงแดดส่องลงไปไม่ถึง
           (๒) ปลาน้ำจืด เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดตลอดชีวิต อาจแบ่งออกเป็นสองจำพวกใหญ่ๆคือ ปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำนิ่ง เช่น ในบ่อบึง ได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพ และปลาที่อาศัยในลำธารหรือแม่น้ำ เช่น ปลาตะเพียน ปลาเทพา และปลาสร้อย เป็นต้น
       (๓) ปลาที่อพยพย้ายถิ่น เป็นปลาที่วางไข่ในน้ำจืด แต่เดินทางออกไปหาอาหารเพื่อการเจริญเติบโตในน้ำเค็ม เช่น ปลาตะลุมพุก ปลาแซลมอน หรือปลาที่วางไข่ในทะเลแต่กลับเข้ามาหากินในน้ำจืด เช่น ปลาตูหนา (Anguilla spp.) เป็นต้น
          (๔) ปลาที่อาศัยในน้ำกร่อย เป็นปลาที่ชอบอยู่อาศัยในน้ำที่ไม่ค่อยเค็มอยู่ตลอดชีวิต เช่นปลาในบริเวณป่าไม้แสม โกงกาง ชายเลนที่มีลำน้ำจืดไหลผ่าน เช่น ในบริเวณปากแม่น้ำ ปลาจำพวกนี้ ได้แก่ ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากะพงขาว (Lates calcarifer) ปลากระบอก (Mugil spp.)เป็นต้น

2. การแบ่งจำแนกแยกชนิดของปลาตามความสัมพันธ์ระหว่างหมวดหมู่ และตามหลักวิชา 
          นักวิทยาศาสตร์ได้อาศัยรากฐานเกี่ยวกับรูปซากดึกดำบรรพ์ของปลา ความรู้ทางด้านโครงสร้าง (structure) อวัยวะต่างๆ และการเจริญเติบโตของปลา รวมทั้งความรู้ทางด้านวิวัฒนาการและพันธวิทยา (genetic) สรีรวิทยา ในการจัดลำดับแสดงความสัมพันธ์ของปลากลุ่มต่างๆ ในปัจจุบัน ปลากลุ่มต่างๆ อาจจะแบ่งตามแผนผังกว้างๆ ได้ดังนี้
          ตามหลักฐานของ ดร.ฮิวจ์ เอ็ม สมิท (Hugh M.Smith) ผู้ซึ่งมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางการประมงของรัฐบาลไทย ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๗๘ ได้รายงานปลาน้ำจืดในประเทศไทยไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๔๙ ครอบครัวด้วยกัน เป็นปลาทั้งหมด ๕๖๐ ชนิด สำหรับปลาทะเล หน่วยงานอนุกรมวิธาน (Taxonomic Unit) ของสถานวิจัยประมงทะเล กรมประมง ได้รวบรวม และจำแนกชนิดปลาทะเลไว้ได้มากกว่า ๙๐๐ ชนิด ปลาทะเลที่ได้จำแนกชนิดไว้เหล่านี้ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำของสถานวิจัยประมงทะเล และพิพิธภัณฑ์สัตววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนปลาน้ำจืดส่วนใหญ่ได้เก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์สัตว์ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย

ความสำคัญของปลาต่อมนุษย์ 
         ปลาเป็นอาหารหลักสำคัญของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื้อปลาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งร่างกายของเราต้องการ ตามหลักฐานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ บริโภคปลาเป็นอาหารจำนวนถึง ๕๕.๒ เปอร์เซ็นต์ ของอาหารโปรตีนที่ได้จากสัตว์ทั้งหมดที่ใช้บริโภค ประชาชนในประเทศของเราใช้ปลาเป็นอาหารเป็นจำนวนประมาณ ๒๒ กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในประเทศอื่นๆโดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศในยุโรปหลายประเทศ ก็ใช้ปลาเป็นอาหารประจำวันกันอย่างแพร่หลาย ตามสถิติขององค์การอาหารและเกษตร ฯ ปริมาณปลาทะเลที่จับขึ้นมาใช้ประโยชน์ในโลกมีปริมาณทั้งสิ้นกว่า ๖๐ ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท นอกจากเราจะใช้ปลาเป็นอาหารแล้วยังใช้ในการอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ใช้ในการเลี้ยงไก่ เป็ด และสุกร เป็นต้น ทำให้บังเกิดผลประโยชน์ที่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศของเราเป็นอันมาก การประมงของประเทศมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ขยายตัวอย่างกว้างขวาง เช่น การทำเค็มตากแห้ง การทำน้ำปลา การผลิตน้ำมันตับปลา น้ำมันปลาสร้อย การผลิตปุ๋ยจากปลา การทำอวน ฯลฯ เป็นต้น
          ปลาสวยงามหากเลี้ยงไว้ดูเล่นในบ้านก็มีส่วนทำให้เราได้รับความสุขเพลิดเพลิน และความสงบทางจิตใจ ประเทศสิงคโปร์มีรายได้จากปลาประเภทปลาสวยงามต่างๆ เป็นอันมาก เพราะเป็นประเทศที่ผลิตปลาสวยงามส่งขายในต่างประเทศ จนเป็นอุตสาหกรรมใหญ่โตเป็นล่ำเป็นสันนักวิทยาศาสตร์ใช้ปลาเป็นสัตว์ทดลองเพื่อนำความรู้ใหม่ๆ มาทำให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์เช่น ใช้ปลาในการทดลองหาวงจรชีวิตของพยาธิบางจำพวกที่เป็นอันตรายแก่มนุษย์ ตลอดจนใช้ปลาในการทดลองประดิษฐ์รูปยานพาหนะที่เหมาะสม และวิ่งเร็ว ในระดับความต้านทานต่างๆกัน รวมทั้งการใช้ปลาในการศึกษาเสียงใต้น้ำ เป็นต้น
          นอกจากนี้ปลายังมีส่วนช่วยทำให้สวัสดิภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น เช่น ช่วยทำลายแมลง เช่น ยุงในแหล่งน้ำให้ลดน้อยลง เป็นการช่วยป้องกันโรคระบาดของมนุษย์ได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นวิธีการควบคุมทางชีวภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น