วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บทความ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๓ (ข้าว)


สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๓ (ข้าว)


แหล่งกำเนิดของข้าว 
          ข้าวที่เกิดมีขึ้นในท้องที่ต่างๆ ของโลกเรานี้แบ่งออกได้เป็น ๓ พวก  คือ  ออไรซา ซาไทวา (oryza  sativa) มีปลูกกันทั่วไป ออไรซา แกลเบอร์ริมา  (oryza glaberrima) มีปลูกเฉพาะในแอฟริกาเท่านั้น  และข้าวป่าซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศต่างๆ ที่ปลูกข้าว มีด้วยกันหลายชนิด (species) แต่ที่สำคัญและควรทราบ ได้แก่ ออไรซา สปอนทาเนีย  (oryza   spontanea) ออไรซา เพเรนนิส (oryza perennis) ออไรซา ออฟฟิซินาลิส  (oryza  officinalis)  และออไรซา  นิวารา (oryza nivara) และเป็นที่ยอมรับกันว่า ข้าวป่าพวก ออไรซา เพเรนนิส ได้เป็นตระกูลของข้าวที่เราปลูกบริโภคกันทุกวันนี้ 
จาปอนิคา เป็นข้าวที่ปลูกในประเทศจีนตอนเหนือและตะวันออก  ญี่ปุ่น  เกาหลี และประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในเขตอบอุ่น
อินดิคา เป็นข้าวที่ปลูกในประเทศต่างๆ ในเขตร้อน เช่น ศรีลังกา จีนตอนใต้และตอนกลาง อินเดีย  อินโดนีเซีย บังกลาเทศ  ไทย ฟิลิปปินส์
จาวานิคา เป็นข้าวที่พบในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น  อย่างไรก็ตามแหล่งที่ปลูกข้าวกันมากในโลกเรานี้จะอยู่ในระหว่างเส้นรุ้งที่  ๕๐ องศาเหนือ  และ ๓๕  องศาใต้

พันธุ์ข้าวที่ปลูกในประเทศไทย จึงเป็นพวกอินดิคา ยกเว้นข้าวไร่ทางภาคเหนือ ซึ่งมีลักษณะบางอย่างของข้าวจาปอนิคารวมอยู่ด้วย 

การเจริญเติบโต 

           ราก  เป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน  ใช้ยึดลำต้นกับดิน  เพื่อไม่ให้ต้นล้ม  แต่บางครั้งก็มีรากพิเศษเกิดขึ้นที่ข้อ ซึ่งอยู่เหนือพื้นดินด้วยต้นข้าวไม่มีรากแก้วแต่มีรากฝอยแตกแขนงกระจายอยู่ใต้ผิวดิน ด้วยเหตุนี้รากของข้าวจึงไม่ได้อยู่ลึกมากจากพื้นผิวดิน  แต่ละแขนงของรากฝอยจะมีรากขนอ่อน  รากของต้นข้าวนอกจากจะเกิดที่โคนต้นแล้ว รากอาจเกิดขึ้นที่ข้อซึ่งอยู่ใต้ดินและอยู่ใต้น้ำด้วย ต้นข้าวใช้รากสำหรับดูดเอาอาหารจากดิน อาหารของต้นข้าวประกอบด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ  และน้ำ อาหารเหล่านี้จะถูกส่งไปที่ใบ  เพื่อเปลี่ยนเป็นแป้งโดยวิธีการที่เรียกว่า สังเคราะห์แสง
          ลำต้น มีลักษณะเป็นโพรงตรงกลางและแบ่งออกเป็นปล้อง ๆ  โดยมีข้อกั้นระหว่างปล้อง  ความยาวของปล้องนั้นแตกต่างกัน จำนวนปล้องจะเท่ากับจำนวนใบของต้นข้าว ปกติมีประมาณ ๒๐-๒๕ ปล้อง ปล้องซึ่งอยู่ที่โคนต้น จะสั้นกว่าและหนากว่าปล้องซึ่งอยู่ที่ปลายของลำต้น นอกจากนี้ ปล้องซึ่งอยู่ที่โคนจะมีขนาดโตกว่าปล้องที่อยู่ตรงส่วนปลาย ยกเว้นข้าวขึ้นน้ำที่ต้องยืดต้นให้สูงเมื่อมีน้ำลึก  ปล้องของข้าวขึ้นน้ำยาวมาก  และปล้องที่อยู่ใกล้ผิวน้ำจะโตกว่าที่อยู่ลึกลงไปในน้ำที่ข้อ  ซึ่งเป็นส่วนที่แบ่งลำต้นออกเป็นปล้อง    นั้น มีตาสำหรับเจริญเติบโตออกมาเป็นหน่อข้อละหนึ่งตา และอยู่สลับกันไปจากข้อหนึ่งไปอีกข้อหนึ่ง  สีของข้อก็แตกต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์ข้าว  ซึ่งอาจจะเป็นสีเหลือง  หรือสีม่วงก็ได้ ส่วนความยาวของปล้องนั้นก็แตกต่างไปตามชนิดของพันธุ์ พันธุ์ต้นสูงจะมีปล้องยาวกว่าพันธุ์ต้นเตี้ย ต้นข้าวถูกห่อด้วยกาบใบ  จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นลำต้นหรือปล้องของต้นข้าวในระยะแตกกอ  แต่ต้นข้าวมีการยืดลำต้นสูงในระยะออกรวงจนสามารถมองเห็นลำต้นได้
          ใบ  ต้นข้าวมีใบไว้สำหรับทำการสังเคราะห์แสง  เพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุ  อาหาร  น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์  ให้เป็นแป้ง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างเมล็ดของต้นข้าว  ใบประกอบด้วย กาบใบและแผ่นใบ กาบใบ  และแผ่นใบเชื่อมติดกันด้วยข้อต่อของใบ  กาบใบ คือ ส่วนที่ติดอยู่กับข้อของลำต้น และห่อหุ้มต้นข้าวไว้ แต่ละข้อมีเพียงหนึ่งกาบใบเท่านั้น แผ่นใบ คือ ส่วนที่อยู่เหนือข้อต่อของใบ  มีลักษณะเป็นแผ่นแบนบาง ๆ  พันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์จะมีความยาว ความกว้าง รูปร่าง สีของใบ  ตลอดถึงการทำมุมของใบกับลำต้นไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ที่แผ่นใบของข้าวบางพันธุ์ก็มีขนหรือไม่มีขนด้วย  เมื่อใช้มือจับแผ่นใบที่มีขนจะรู้สึกว่าใบนั้นไม่เรียบ  แต่แผ่นใบที่ไม่มีขนจะรู้สึกเรียบ ๆ ใบข้าวมีขนาดรูปร่างแตกต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์ข้าว  และบางพันธุ์มีแผ่นใบทำมุมกว้างหรือทำมุมแคบกับลำต้น เส้นใบของข้าวมองเห็นได้ชัดจากด้านบนของแผ่นใบ  เส้นใบจะขนานกันเพราะข้าวเป็นพืชพวกใบเลี้ยงเดี่ยว ใบข้าวใบสุดท้าย ซึ่งหมายถึงใบที่อยู่ติดกับรวงข้าว เรียกว่า  ใบธง ปกติใบธงจะมีลักษณะสั้น และทำมุมกับลำต้นแตกต่างจากใบอื่น ๆ ที่อยู่ข้างล่างที่ข้อต่อของใบ  ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างกาบใบและแผ่นใบ  มีลักษณะคล้าย ๆ กับข้อที่กั้นแบ่งต้นข้าวออกเป็นปล้อง ๆ และที่ข้อต่อของใบนี้มีเยื่อกันน้ำฝน และเขี้ยวกันแมลงติดอยู่ด้วย เขี้ยวกันแมลงมีสองอัน ลักษณะเป็นพู่คล้ายหางกระรอก ติดอยู่ข้างละอันของข้อต่อของใบ ส่วนเยื่อกันน้ำฝนนั้นมีอันเดียว  มีลักษณะเป็นแผ่นบาง  ๆ อยู่ด้านในของข้อต่อของใบ  และประกบติดอยู่กับลำต้น  เยื่อกันน้ำฝนมีขนาดและสีแตกต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์ข้าว  อย่างไรก็ตาม  ใบแก่ ๆ  อาจไม่มีเขี้ยวกันแมลงเหลือติดอยู่เลย เพราะได้ร่วงหล่นไปเสียแล้ว ต้นข้าวต้นเดียวอาจแตกออกเป็นหน่อใหม่ประมาณ  ๕-๑๕ หน่อ หน่อใหม่ที่แตกออกมาจะมีจำนวนใบน้อยกว่าต้นแรกของมัน และบางหน่ออาจไม่มีรวง 

วิธีการปลูกข้าว 


การปลูกข้าวในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น ๓ วิธีด้วยกัน

การปลูกข้าวไร่ 
          การปลูกข้าวบนที่ดอนและไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก ชนิดของข้าวที่ปลูก  เรียกว่า ข้าวไร่ พื้นที่ดอนส่วนมาก เช่น เชิงภูเขามักจะไม่มีระดับ คือ สูง ๆ ต่ำ ๆ จึงไม่สามารถไถเตรียมดินและปรับระดับได้ง่าย ๆ  เหมือนกับพื้นที่ราบ เพราะฉะนั้น ชาวนามักจะปลูกแบบหยอด  โดยขั้นแรกทำการตัดหญ้าและต้นไม้เล็กออก ทำความสะอาดพื้นที่ที่จะปลูก แล้วใช้หลักไม้ปลายแหลมเจาะดินเป็นหลุมเล็กๆ ลึกประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร ปากหลุมมีขนาดกว้างพอที่จะหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปได้ ๕-๑๐ เมล็ด หลุมนี้มีระยะห่างกันประมาณ  ๒๕  เซนติเมตร  จะต้องหยอดเมล็ดพันธุ์ทันทีหลังจากที่ได้เจาะหลุม หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์แล้วจะใช้เท้ากลบดินปากหลุม เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดได้รับความชื้นก็จะงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นข้าว เนื่องจากที่ดอนไม่มีน้ำขังและไม่มีการชลประทาน การปลูกข้าวไร่จึงต้องใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว พื้นดินที่ปลูกข้าวไร่จะแห้งและขาดน้ำทันทีเมื่อสิ้นฤดูฝน ดังนั้น การปลูกข้าวไร่จะต้องใช้พันธุ์ที่มีอายุเบา  โดยปลูกในต้นฤดูฝน  และแก่เก็บเกี่ยวได้ในปลายฤดูฝน การปลูกข้าวไร่ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืช เพราะที่ดอนมักจะมีวัชพืชมากกว่าที่ลุ่ม เนื้อที่ที่ใช้ปลูกข้าวไร่ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยและมีปลูกมากในภาคเหนือ  ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคกลางปลูกข้าวไร่น้อยมาก 
การปลูกข้าวนาดำ 
          การปลูกข้าวในนาดำ เรียกว่า การปักดำ ซึ่งวิธีการปลูกแบ่งออกได้เป็นสองตอน  ตอนแรก  ได้แก่  การตกกล้าในแปลงขนาดเล็ก  และตอนที่สอง ได้แก่ การถอนต้นกล้าเอาไปปักดำในนาผืนใหญ่
๑)  การเตรียมดิน ต้องทำการเตรียมดินให้ดีกว่าการปลูกข้าวไร่ โดยมีการไถดะ การไถแปร และการคราด ปกติการไถและคราดในนาดำมักจะใช้แรงวัว ควายหรือแทรกเตอร์ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า ควายเหล็กหรือไถยนต์เดินตาม ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่นาดำนั้นได้มีคันนาแบ่งกั้นออกเป็นแปลงเล็ก ๆ ขนาด ๑-๒ ไร่  คันนามีไว้สำหรับกักเก็บน้ำหรือปล่อยน้ำทิ้งจากแปลงนา 
๒) การตกกล้า การเอาเมล็ดไปหว่านให้งอกและเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้าเพื่อเอาไปปักดำ การตกกล้าสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน  เช่น  การตกกล้าในดินเปียก การตกกล้าในดินแห้งและการตกกล้าแบบดาปก
๓) การปักดำ  เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ ๒๕ -๓๐ วัน จากการตกกล้าในดินเปียกหรือการตกกล้าในดินแห้ง  ก็จะโตพอที่จะถอนเอาไปปักดำได้  สำหรับต้นกล้าที่ได้มาจากการตกกล้าแบบดาปกนั้น  ในเมืองไทยยังไม่เคยปฏิบัติ   ควรจะต้องเอาไปซิมแบบชาวนาในจังหวัดเชียงรายเสียก่อนจึงเอาไปปักดำได้ เพราะต้นกล้าขนาด ๑๐-๑๔ วันนั้น อาจมีขนาดเล็กเกินไปที่จะใช้ปักดำในพื้นที่นาของเรา ซึ่งมีน้ำขังมาก ขั้นแรกให้ถอนต้นกล้าขึ้นมาจากแปลงแล้วมัดรวมกันเป็นมัดๆ   ตัดปลายใบทิ้ง ถ้าต้นกล้าเล็กมากไม่ต้องตัดปลายใบทิ้ง  สำหรับต้นกล้าที่ได้มาจากการตกกล้าในดินเปียก  จะต้องล้างเอาดินที่รากออกเสียด้วยแล้วเอาไปปักดำในพื้นที่นาได้เตรียมไว้ พื้นที่นาที่ใช้ปักดำควรมีน้ำขังอยู่ประมาณ  ๕-๑๐ เซนติเมตร เพราะต้นข้าวอาจจะถูกลมพัดจนพับลงได้ในเมื่อนานั้นไม่มีน้ำอยู่เลย ถ้าระดับน้ำในนานั้นลึกมาก ต้นข้าวที่ปักดำอาจจมน้ำในระยะแรก และทำให้ต้นข้าวต้องยืดต้นมากกว่าปกติจนมีผลให้แตกกอน้อยการปักดำที่จะให้ได้ผลิตผลสูง จะต้องปักดำให้เป็นแถวเป็นแนว และมีระยะห่างระหว่างกอมากพอสมควร การปักดำโดยทั่วไปมักใช้ต้นกล้าจำนวน ๓-๕ ต้นต่อกอ ระยะปลูกหรือปักดำจะต้องมีระยะห่างระหว่างกอและระหว่างแถวประมาณ  ๒๕ เซนติเมตร 
การปลูกข้าวนาหว่าน 
          เป็นการปลูกข้าวโดยเอาเมล็ดพันธุ์หว่านลงไปในพื้นที่นาที่ได้ไถเตรียมดินไว้  การเตรียมดินก็มีการไถดะและไถแปรปกติชาวนาจะเริ่มไถนา เพื่อปลูกข้าวนาหว่านตั้งแต่เดือนเมษายน  เนื่องจากพื้นที่นาสำหรับปลูกข้าวนาหว่านไม่มีคันนากั้นแบ่งออกเป็นผืนเล็กๆ จึงสะดวกแก่การไถด้วยรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่  อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวนาอีกจำนวนมากที่ใช้แรงวัวและควายไถนา  การปลูกข้าวนาหว่านมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การหว่านสำรวย  การหว่านคราดกลบหรือไถกลบ การหว่านหลังขี้ไถ และการหว่านน้ำตม

การดูแลรักษาต้นข้าว นาข้าว 

           ในระหว่างการเจริญเติบโตของต้นข้าวตั้งแต่การหยอดเมล็ดเพื่อปลูกข้าวไร่  การหว่านเมล็ดเพื่อให้ได้ต้นกล้า  การปักดำเพื่อให้ได้รวงข้าว และการหว่านเมล็ดในการปลูกข้าวนาหว่าน ต้นข้าวต้องการน้ำและปุ๋ย สำหรับการเจริญเติบโต ในระยะนี้ต้นข้าวอาจถูกโรคและแมลงศัตรูข้าวหลายชนิดเข้ามาทำลายต้นข้าว  โดยทำให้ต้นข้าวแห้งตาย หรือผลิตผลต่ำและคุณภาพเมล็ดไม่ได้มาตรฐาน  เพราะฉะนั้น นอกจากจะมีวิธีการปลูกที่ดีแล้ว จะต้องมีวิธีการดูแลรักษาที่ดีอีกด้วย ผู้ปลูกจะต้องหมั่นออกไปตรวจดูต้นข้าวที่ปลูกไว้เสมอๆ ในแปลงที่ปลูกข้าวไร่ จะต้องมีการกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย  และพ่นยาเคมี เพื่อป้องกัน  และกำจัดโรคแมลงศัตรูที่อาจเกิดระบาดขึ้นได้ ในแปลงกล้าและแปลงปักดำจะต้องมีการใส่ปุ๋ย มีน้ำเพียงพอกับความต้องการของต้นข้าว และพ่นยาเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูข้าว นอกจากนี้ ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปักดำอีกด้วย  เพราะวัชพืชเป็นตัวที่แย่งปุ๋ยไปจากต้นข้าว  ในพื้นที่นาหว่านชาวนาจะต้องกำจัดวัชพืชโดยใช้สารเคมี หรือจะใช้แรงคนถอนทิ้งไปก็ได้ นอกจากนี้จะต้องพ่นสารเคมี  เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงอีกด้วย  เนื่องจากพื้นที่นาหว่านมักจะมีระดับน้ำลึกกว่านาดำ ฉะนั้น ชาวนาควรใส่ปุ๋ยก่อนที่น้ำจะลึก ยกเว้นในพื้นที่ที่น้ำไม่ลึกมากก็ให้ใส่ปุ๋ยแบบนาดำทั่วๆ ไป

โรคข้าว 


          โรคข้าวที่ระบาดทำลายต้นข้าวจนเสียหายนั้น  เกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด  เช่น เชื้อรา เชื้อบัคเตรี  และเชื้อไวรัส นอกจากนี้ไส้เดือนฝอย ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ก็สามารถทำให้ต้นข้าวเกิดเป็นโรคได้ด้วย เพราะฉะนั้น โรคข้าวที่สำคัญ ๆ  จะแบ่งออกได้เป็นพวก ๆ  ดังนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น